ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทด้าน IT ที่ดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก Google เป็นเหมือนจุ
Business Insider ได้รวบรวมความคิดเห็นของพนักงานจาก Google บางส่วนที่ได้แสดงความรู้สึกรำคาญ จนถึงอัดอั้นตันใจ กับการทำงานในออฟฟิศที่คนทำงานสาย IT ใฝ่ฝันถึงกันมาตลอด
“คุณอาจจะได้ทุกอย่างจากที่นี่ แต่จะต้องสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดไป”
โจ แคนเนลลา อดีตผู้จัดการฝ่ายบัญชีอาวุโสของ Google บอกว่า “โดยพื้นฐานแล้วคุณจะลงเอยด้วยการใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่ Google, กินอาหารที่นี่, สวมเสื้อผ้าของ Google, พูดด้วยภาษาและคำย่อของ Google, ใช้เมลของ Google โดยส่งผ่านโทรศัพท์มือถือของ Google คุณจะเริ่มรู้สึกนึกไม่ออกว่าการเป็นอิสระจาก Google เป็นยังไง และจะเริ่มแอบคิดจนแทบคลั่งว่าอยากจะไปอยู่ที่อื่นซะที … คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าคุณเป็นเด็ก Google ซึ่งนั่นคือประเด็นเลย คุณอาจจะได้ทุกอย่างจากที่นี่ แต่จะต้องสูญเสียสิ่งที่สำคัญที่สุดไป”
“ยากเย็นเหลือเกิน ที่จะสามารถจริงใจกับเพื่อนร่วมงาน”
“มักยากมากที่จะได้ปรึกษาเรื่องต่างๆ กับเพื่อนร่วมงานที่นี่ นอกจากเขาคนนั้นจะเป็นเพื่อนของคุณจริงๆ การคุยกันอย่างจริงจังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะทุกคนเหมือนมีดินแดนเป็นของตัวเอง และไม่แคร์ความเห็นของคนอื่น นอกจากคนคนนั้นจะสำคัญสุดๆ ราวกับพระเจ้า” วลาด แพททรีเชฟ อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์
“ห้ามพูดเด็ดขาด ว่าที่นี่มีอะไรไม่สมบูรณ์แบบ”
“ถ้าไปขอลาออก เขาจะถามคุณแบบเป็นจริงเป็นจังเลย หรือถ้ายังทำงานอยู่ก็ต้องก็ต้องบอกให้ชัดว่าทุกอย่างที่นี่สมบูรณ์แบบ เวลาเขามาทำงานพวกเขาก็คาดหวังอย่างเดียว ว่าคุณต้องรู้สึกเหมือนเป็นโชคดีของตัวเองอย่างมหาศาลที่ได้มาทำงานที่ Google ถ้าคุณจะออก หรือจะพูดอะไรทำนอง “โลกไม่สวย” เกี่ยวกับ Google ทุกคนจะคะยั้นคะยอ เพื่อให้อธิบายให้ได้ ว่าคุณตื่นเต้นแค่ไหนที่ได้เคยทำงานกับ Google”
“ที่นี่มีแต่คนระดับสุดยอด ทุกคนมีโปรไฟล์ล้นเกินตำแหน่ง”
“จะมีนักเรียนจากมหาวิทยาลัยระดับ TOP 10 ที่ต้องมาทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาสินค้า หรือคอยมาคัดกรองเนื้อหาไม่เหมาะสมใน Youtube หรือเขียนโค้ดระดับโคตรเบสิก”
“งานบริหารระดับกลางเต็มไปด้วยเกมการเมืองสุดอันตราย”
“ภาคส่วนที่แสดงออกถึงการเล่นการเมืองมากที่สุด ก็คงจะเป็นส่วนของการจัดการ และงานด้านสรรหาบุคลากร งานส่วนนี้จะเต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ และการยักย้าย ผู้จัดการจำเป็นต้องดูแลทีมในระบบแบบนี้ การจะเลื่อนตำแหน่งใครซักคน อาจจะต้องคิดและเตรียมการล่วงหน้ากันเป็นปี เพราะด้วยระบบงานของที่นี่ คุณเลยอาจจะให้เครดิตกับคนในทีมไม่ได้เลย” พนักงานที่ไม่ขอเปิดเผยตัวตนคนหนึ่งกล่าว
“คนโง่น้อยมาก”
“ที่นี่มีคนเก่งเยอะพออยู่แล้ว แต่การมีคนเก่งๆ อยู่มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คุณไปได้ถูกทาง เพราะมีคนที่ฉลาดสุดๆ เท่ากันต่อแถวรอตำแหน่งมากมาย และมีคนที่ฉลาดระดับนั้นอีกมากมายอีกเหมือนกัน ที่ไม่ได้ทำงานตามศักยภาพ ส่วนคนโง่ๆ มีแค่หยิบมือ ซึ่งคุณก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นหนึ่งในนั้น” อดีตวิศวกร
“คุณอาจจะทำงานที่นี่อยู่ 8 ปี โดยไม่ได้เลื่อนขั้นเลย”
“อยู่ๆ คุณอาจจะตกลงไปอยู่ในร่องอะไรบางอย่าง ตกแบบหนักๆ เลย ผมเคยรู้จักคนที่ทำงานมา 8 ปี ขึ้นโดยไม่ได้เลื่อนขั้นเลย” ไม่เปิดเผยตัวตน
“Google เป็นบริษัทใหญ่ ที่ใหญ่จนอาจจะมั่วจ้างคุณไปโดยไม่ตั้งใจ”
“ผมเคยทำงานด้านจัดการอยู่ที่นี่ ในเวลาเดียวกับที่ผมได้งาน มีคนอีกคนที่ชื่อเหมือนกันก็ได้งานที่นี่ด้วย แต่มันเกิดความผิดพลาดแบบสุดๆ ขึ้นตรงไหนซักตรงของฝ่ายบุคคล จนตอนผมเริ่มงานกลับไปอยู่ในตำแหน่งที่เล็กกว่าที่ควรจะเป็นมาก ซึ่งน่าจะเป็นตำแหน่งของอีกคนที่ชื่อเหมือนกัน การติดต่อกับฝ่ายจ้างงานก็ทำได้ยาก เจ้าหน้าที่บุคคลที่เกี่ยวข้องก็ปล่อยให้ทำงานอยู่ในส่วนอื่นนานมาก กว่าจะเคลียร์กันได้ …. ที่ยิ่งกว่าก็คือ Google
จ่ายค่าขนย้ายของของผมแบบแทบจะข้ามโลก แต่สุดท้ายกลับส่งของทั้งหมดกลับไปที่เก่า โดยไม่สามารถตอบอะไรได้เลย นอกจากว่า เออเรอร์, เออเรอร์, เออเรอร์ เท่านั้น” บุคคลไร้นามอีกคน
“บริษัทจะแคร์ต่อความก้าวหน้าที่ประเมินได้เท่านั้น”
“ความก้าวหน้าใดๆ ที่ประเมินออกมาเป็นตัวเลขแบบชัดๆ ไม่ได้ จะไร้ความหมาย! การใช้งานหรือ? บั๊กเหรอ? ไม่มีใครสนหรอก ถ้าคุณวัดออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ จะไม่มีใครสนใจเลย” เคที เลวินสัน
“มีสตาร์ทอัพมากมายที่หากินกับ Google เพราะช่องว่างของกฎหมาย”
“Google ต้องระวังมากเพื่อหลีกเลี่ยงอะไรที่ละเมิดกฎหมาย เช่นการต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์อะไรแบบนั้น แต่พวกสตาร์ทอัพกลับทำอะไรหลายอย่างที่ Google ทำไม่ได้ เพราะพวกเขาสามารถละเมิดกฎหมายได้แบบไม่มีใครรู้” ฌอน เกอร์ริช อดีตวิศวกรซอฟแวร์
“โปรเจกต์พร้อมถูกยกเลิกเสมอ”
“เรื่องแย่ที่สุดสำหรับผมก็คือการมายกเลิกโปรเจกต์กันโดยพลการ คนที่ทำงานกับโปรเจกต์ที่ถูกเลิก ก็จะหมดสิทธิ์เลื่อนงาน เพราะทำงานไม่ได้ผลไปด้วย”
“ค่าใช้จ่ายที่นี่สูงแบบแทบบ้า”
“ค่าครองชีพในแถบเบย์เอเรียมันสูงมาก คุณแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากอยู่กับเพื่อนร่วมงานกันไปวันๆ ห่วยมาก อาจจะมีข้าวให้กินฟรีตลอดเวลา มีกาแฟ, ยิม, ห้องซักผ้า ฯลฯ แต่นอกจากนั้นคุณแทบจะอยู่แต่ในออฟฟิศ เริ่มใส่เสื้อเหมือนๆ เดิมทุกวัน ใช้ชีวิตอยู่กับคนกลุ่มเดียวกันทุกวัน” เอเดรียน คาร์เบลโล อดีตวิศวกรซอฟแวร์
“เต็มไปด้วยคนฉลาด ที่จัดการไม่ได้ และไร้ภาวะผู้นำ”
“บางคนจะได้เลื่อนขั้นไปอยู่ในส่วนบริหาร เพราะพวกเขาฉลาดมาก แต่จริงๆ ทำงานบริหารไม่เป็นเลย แต่เพราะไม่รู้จะเลื่อนขั้นไปอยู่ตรงไหนแล้ว ที่นี่จะมีพวกนี้อยู่ คนที่สมองดีสุดๆ แต่ไร้ความเป็นผู้นำ และจัดการอะไรได้ห่วยแตกมาก”
“เพื่อนขี้อิจฉา ที่เกลียดงานของคุณ เพราะเขาไม่เข้าใจมัน”
“ความเด่นดัง, คำถามปลีกย่อย, เพื่อนขี้อิจฉา ที่เกลียดงานของคุณเพราะมันไม่เข้าใจ, บทความของสื่อที่พยายามบอกว่าบริษัททำทุกอย่างตามแผนงานโฆษณา และอีกมากมาย เป็นเรื่องน่าเบื่อมาก ไม่มีใครให้เครดิตกับงานของคุณอย่างที่ควรจะเป็นเลย”
“ทุกคนคล้ายๆ กันไปหมด”
“ที่นี่จะจ้างคนแบบเดียวกันเอาไว้มากมาย พื้นฐานคล้ายๆ กัน มีจบมาจากไม่กี่สถาบันการศึกษา, มุมมองแบบเดียวกัน, สนใจอะไรเหมือนกัน ผมทำงานมา 3 ปี แทบจะเจอนักไตรกีฬาเป็นร้อยคนได้ สุดท้ายมีคนแค่หยิบมือที่น่าสนใจจริง”
“คุณจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า”
“สำหรับผมส่วนที่แย่ที่สุดของการทำงานที่นี่ ก็คือผมและอีกหลายๆ คนจะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า คนที่ทำงานโปรแกรมมิ่ง, งานจัดการ หรือสถาปัตย์มาร่วม 25 ปี กลับพบว่าตัวเองไม่ได้เหนือกว่าเด็กจบใหม่ 2 ปีเลย ซึ่งสำหรับผมมันโคตรเศร้าเลย” จอห์น ลี มิลเลอร์ อดีตวิศวกรซอฟแวร์
“ทุกอย่างต้องมีลายลักษณ์อักษร”
“ถ้าคุณเริ่มเข้ามาในขั้นตอนการจ้างงานของ Google ต่อรองให้หนัก, เรียกร้องเข้าไว้ และต้องเขียนทุกอย่างออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร Google อาจจะมีข้อเสนอที่สวยหรู แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ให้แบบนั้นจริงๆ”
“อย่าเชื่อในคำอวย”
“สิ่งที่คุณได้ยินเกี่ยวกับ Google จากคนนอก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องมั่วนิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่อีกเหมือนกันที่คำอวยพวกนี้ จะมาจากคนใน Google เอง เพราะมันสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัท เวลาใครพูดอะไรดีเว่อร์เกี่ยวกับบริษัท ก็มักจะได้รับการยอมรับ จนเหมือนว่าที่นี่เป็นออฟฟิศที่สุดยอด ซึ่งความจริงแล้วข้อมูลส่วนใหญ่มันมั่วสิ้นดี”
“ชีวิตจบเห่ ถ้าไม่ได้ทำงานในศูนย์กองบัญชาการ”
“แน่นอนว่าบางคนอาจจะชอบเลือกทำงานในออฟฟิศที่ห่างไกลจากศูนย์กลาง แต่สำหรับอาชีพในระยะยาว นั่นแทบจะเป็นการฆ่าตัวตายเลย”
“พื้นที่รูหนูในออฟฟิศ”
“ถ้าคุณต้องทำงานในตึกหลัก คุณก็จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่คับแคบมาก ไม่ใช่เรื่องปกติเลยนะ ที่พนักงาน 3 – 4 คนที่ต้องมาเบียดกันอยู่ในซอกเดียวกัน หรือผู้จัดการหลายคนต้องมาแชร์ห้องด้วยกัน ที่นี่มีพื้นที่เปิดมากมาย ทั้งที่กินอาหาร, เล่นเกม, ดูทีวี, พูดคุย แต่กลายเป็นว่าแทบจะหาที่เงียบๆ ส่วนตัวเอาไว้คิดอะไรไม่ได้เลย” แอน เค. ฮัลซอล โปรดักดีไซน์
“Google ใหญ่โตมโหฬาร จนยากมากที่คุณจะสร้างแรงกระเพื่อมใดๆ”
“ผมทำงานที่ Google อยู่ 3 ปี และรู้สึกว่ายากเหมือนกันที่จะออกจากที่นี่ แต่มีปัจจัยสำคัญอยู่หนึ่งข้อ ที่ช่วยให้ผมตัดสินใจออกได้ คือผมคงไม่สามารถสร้างผลกระทบใดๆ กับธุรกิจนี้ด้วยตัวเองคนเดียว อย่างที่หลายๆ คนบอก Google เป็นเหมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ ถ้าคุณไม่ใช่สุดยอดวิศวกร ที่สร้างสามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ได้ด้วยตัวเอง คุณก็คงเป็นได้แค่คนธรรมดาๆ ที่ทำงานประเภทที่แทบจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย”
“ผู้บริหารระดับกลางที่ทำงานได้งั้นๆ แหละ”
“สิ่งที่แย่ก็คงเป็นผู้บริหารระดับกลาง ที่คิดอะไรได้พื้นๆ ชอบให้ความสำคัญกับตัวเลข โดยไม่ใส่ใจอะไรอย่างอื่นเลย พวกนี้ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่รู้จักการให้แรงบันดาลใจ หากินกับชื่อของ Google เกินไป”
“เรื่องปลีกย่อยที่สร้างปัญหาโดยไม่จำเป็น”
“ที่ออฟฟิศในซูริก จะมีห้องเงียบๆ ให้คนมาผ่อนคลาย หรือมางีบก็ได้ ซึ่งที่นั่นจะมีตู้ปลาที่ดูสวยสุดๆ อยู่ แต่กลายเป็นคนไปเสียเวลากับดูปลากันเยอะมาก ยังมีจดหมายร้องเรียนเป็นร้อยๆ ฉบับให้เปลี่ยนเก้าอี้นวด เพราะบางคนบอกว่ามันเสียงดัง จนทำให้นอนไม่หลับ”
“วัฒนธรรมที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ”
“ที่นี่เหมือนเป็นดินแดนของคนไม่ยอมโต ทุกคนไม่โตเป็นผู้ใหญ่ ดื่มกันตลอดเวลา, คุยกันอยู่เสมอ, เล่นเกม แทบจะไม่ทำงานเลย” ทอมสัน รอยเตอร์ส
“ทำงานจากที่อื่นไม่ได้”
“ที่ผมรับไม่ได้ก็คือ ที่นี่ให้ทำงานจากที่อื่นไม่ได้ ซึ่งผมเคยทำสำเร็จมาแล้ว มาตั้ง 5 – 6 ปี” ดิมิทาร์ โบจานต์เชฟ
“ใครคิดอะไรใหม่จะได้รับรางวัลเสมอ แม้สิ่งใหม่นั้นจะไม่จำเป็นเลยก็ตาม”
เคที เลวินสัน “แทบจะเป็นฝันร้ายของงานด้านการเก็บรักษาข้อมูลเลย เราต้องมีที่เก็บ JavaScript ถึง 4 เท่า ทำไมนะเหรอ? เพราะถ้าเขียน JavaScript ที่แปลกใหม่ออกมาได้ ก็จะได้เลื่อนขั้นไง”
“ทุกคนคิดว่าตัวเองเหนือชั้นกว่าชาวบ้าน”
“สัปดาห์แรกของผมมันน่ากลัวกว่าที่คิดซะอีก กับสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น “โรคขี้คุย” คนในทีมของผมเป็นพวกโคตรฉลาด และประสบความสำเร็จกันมาเพียบ ไม่ได้สำเร็จระดับ “ได้เกรด A” ตอนเรียนมหาวิทยาลัยอะไรทำนองนั้นนะ แต่เป็นประเภท “ฉันเป็นคนสร้าง Google Mars ขึ้นมา” หรือ “ฉันมีสิทธิบัตรเป็นสิบ ตั้งแต่ก่อนกินเหล้าได้แล้วซะอีก” อะไรทำนองนั้น” พอล บัตเทอรี ฝ่ายวิเคราะห์สินค้า
“ฝ่ายวิศวกรรมทำงานเป็นหุ่นยนต์”
“วิศวกรที่นี่จะถนัดงานในแบบพื้นฐาน เชี่ยวชาญงานด้านอัลกอริทึม, ดาต้าเบส, ระบบประมวลผลรายการ อะไรทำนองนั้น แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าเลย วัฒนธรรมของที่นี่ก็ชอบชื่นชมคนที่แก้ไขปัญหาด้านเทคนิคยากๆ ได้ ส่วนที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญก็คือคนที่ชอบงานด้านการพัฒนาสินค้า, ปรับสินค้าให้ใช้งานได้ดี หรือคอยแก้ไขสินค้าตามฟีดแบ็กของผู้ใช้อะไรทำนองนั้น” นาธาน ยอสป์ อดีตวิศวกร
“ผู้จัดการระดับห่วยๆ มีสิทธิ์ได้งานที่นี่”
“ตอนนั้นงานที่นั่น สิ่งที่กระตุ้นสติปัญญาได้จริงๆ ก็น่าจะแค่ตอนสัมภาษณ์งานเท่านั้น ที่นี่เต็มไปด้วยคนระดับกลางๆ ที่ประสบความสำเร็จให้การทำให้คนอื่นเชื่อว่าตัวเองสุดยอด ที่นี่เต็มไปด้วยการประจบประแจง ผมเคยทำงานกับหัวหน้าทีมที่ไม่เคย “แตะ” งานการเขียนโค้ดอะไรเลยร่วม 2 ปี ตอนทำงานเขียนโปรแกรมก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรเลย อาจจะโอเคเรื่องงานด้านประสบการณ์การใช้งาน (User Experience) แต่อย่างอื่นก็ไม่ค่อยเท่าไหร่” นาธาน ยอสป์
ที่มา : http://www.thisisinsider.com/google-employees-worst-things-about-working-at-google-2016-12?utm_content=buffer9a9ca&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer#bad-managers-can-make-a-career-there-31