ซัมเมอร์ไม่ฮอต ! เม็ดโฆษณา เม.ย. 60 ใช้ไป 8.6 พันล้านบาท ติดลบเกือบ 10%

ตามปกติแล้วช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ถือเป็นฤดูการขายสินค้า แบรนด์สินค้าต่างๆ  มักทุ่มเม็ดเงินโฆษณาเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงฤดูร้อน แต่ปรากฏว่าเดือนเมษายน ปี 2560 กลับใช้ลดลงถึง 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

นีลเส็น ประเทศไทย เปิดเผยถึงการใช้เม็ดเงินใช้ในการลงสื่อโฆษณาของเดือนเมษายน 2560 มีมูลค่ารวม 8,677 ล้านบาท ลดลง 9.94% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2559 ที่ใช้ไป 9,635 ล้านบาท ยังน้อยกว่า เดือนมีนาคม 2560 ใช้ไป 9,874 ล้านบาท

เม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ ยังใช้ไปกับทีวีอนาล็อก (ช่อง3,7) 3,794 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.81% แต่การใช้ลดลงไปถึง 15.88% เมื่อเทียบกับเมษายน ปี 2559

ส่วนทีวีดิจิทัล ใช้ไป 1,919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.29% หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.10% เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 59 ใช้ไป 1,955 ล้านบาท

สื่อโฆษณาใช้งบเพิ่มขึ้น คือ สื่อในโรงภาพยนตร์ 555 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.45% *สื่อกลางแจ้ง (outdoor) 504 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.14% **สื่อในห้าง (IN STORE) 69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38%

ส่วนสื่อโฆษณาที่ใช้งบลดลง คือ เคเบิลทีวี/ทีวีดาวเทียม ลดลงต่อเนื่อง 315 ล้านบาท ลดลง 1.94% สื่อวิทยุ 348 ล้านบาท ลดลง 23.35% หนังสือพิมพ์ 603 ล้านบาท ลดลง 22.29% นิตยสาร 150 ล้านบาท ลดลง 44.65%  สื่อรถประจำทาง (TRANSIT) 305 ล้านบาท ลดลง 21.39%  และ***สื่ออินเทอร์เน็ต 114 ล้านบาท ลดลง 14.93%

หมายเหตุ

  • *ตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง (outdoor) สื่อเคลื่อนที่ (transit) และสื่อในสนามบิน จะไม่ได้รวมข้อมูลจาก JCDecaux นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit), ป้ายบิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 เป็นต้นมา
  • ** สื่อในห้าง นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูล สื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้าง Tesco Lotusและ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น
  • ตั้งแต่เดือน มิถุนายน2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้ง, สื่อเคลื่อนที่ และสื่อในห้าง

     

10 แบรนด์ใช้งบสูงสุดเดือน เมษายน 60 กระทะโคเรียคิง ยังอัดงบแรงสุด แซงหน้าแบรนด์ดังเท่าตัว

ถึงแม้จะเป็นเดือนที่แบรนด์สินค้าต่างๆ จะลดงบโฆษณาลดลงกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ กระทะโคเรียคิง ยังคงอัดฉีดงบโฆษณาแบบไม่ถอย ด้วยตัวเลข 198 ล้านบาท แซงหน้าแบรนด์ข้ามชาติ โตโยต้า โค้ก เท่าตัว

สำหรับแบรนด์ที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในเดือนเมษายน อันดับ 1 ยังเป็นของกระทะโคเรียคิง ด้วยงบโฆษณา 198 ล้านบาท อันดับ 2 รถยนต์นั่งโตโยต้า 73 ล้านบาท ลดลง จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (เม.ย. 59 ใช้ 87 ล้านบาท)

อันดับ 3 เครื่องดื่มโค้ก ที่ซัมเมอร์นี้ใช้งบไปเพียง 73 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (เมษายน 59 ใช้ 101 ล้านบาท) อันดับ 4. ช้าง คอร์ปอเรท 69 ล้านบาท ลดลงจาก เมษายน 59 ใช้ไป 101 ล้านบาท

อันดับ 5 โตโยต้า ปิกอัพ ใช้โฆษณา 67 ล้านบาท ลดลง เมษายน 59 ใช้ไป 70 ล้านบาท

อันดับ 6 นมผง ENFA 60 ล้านบาท ใช้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก (เมษายน59 ใช้ไป 26 ล้านบาท) อันดับ 7 เซเว่น อีเลฟเว่น 59 ล้านบาท ใช้งบเพิ่มเกือบเท่าตัว (เมษายน 59 ใช้ไป 39 ล้านบาท)

อันดับ 8 เอสซีจี (ปูนซีเมนต์ไทย) ใช้งบเพิ่มขึ้น 58 ล้านบาท เนื่องจากมีงานสถาปนิกสยาม (เมษายน 59 ใช้ไป 38 ล้านบาท) อันดับ 9 โทรศัพท์มือถือ VIVO ที่ใช้นางเอกดังอย่าง อั้ม พัชราภา เป็นพรีเซ็นเตอร์ อัดฉีดงบไปถึง 53 ล้านบาท กับการเปิดตัวรุ่นใหม่ Vivo V5 Plus ใช้เพิ่มขึ้นถึง 50 กว่าล้านบาท (เมษายน 59 ใช้ไปแค่ 1 ล้านบาท)

อันดับ 10 ธนาคารออมสิน 52 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก (เมาษายน 59 ใช้ไป 35 ล้านบาท)

หมายเหตุ : ไม่รวม Classified, CD/DVD (Musical & Film Products), Government & Community Announce, Leisure, House ad

Top 10 Advertisers ยูนิลีเวอร์ อันดับ 1 แต่ลดงบโฆษณาต่อเนื่อง

สำหรับองค์กร หรือธุรกิจที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดในเดือนเมษายน 2560  อันดับ 1 เป็นของ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) 392 ล้านบาท ใช้งบโฆษณาลดลงต่อเนื่อง (เมษายน 59 ใช้ 454 ล้านบาท)

อันดับ 2 เป็นของบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น (ผู้จำหน่ายกระทะโคเรียคิง) 238 ล้านบาท เพิ่มขึ้น (เมษษยน 59 ใช้ไป 142 ล้านบาท) อันดับ 3 บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย 193 ล้านบาท ลดลง (เมษษยน 59 ใช้ 228 ล้านบาท)

อันดับ 4 บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) 169 ล้านบาท ใช้เพิ่ม (เมษายน 59 ใช้ 159 ล้านบาท) อันดับ 5 สำนักนายกรัฐมนตรี 123 ล้านบาท (เมษายน 59 ใช้ 80 ล้านบาท)

อันดับ 6 บริษัท ตรีเพ็ชร อีซูซุ 123 ล้านบาท ใช้เพิ่มขึ้น (เมษายน 59 ใช้ 118 ล้านบาท) อันดับ 7 บริษัท คาโอ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้น (เมษายน 59 ใช้ไป 105 ล้านบาท)

อันดับ 8 บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) 104 ล้านบาท ใช้ลดลง (เมษายน 59 ใช้ 148 ล้านบาท) อันดับ 9 บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) 104 ล้านบาท ลดลง (เมาษยน 59 ใช้ 147 ล้านบาท) อันดับ 10 บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ประเทศไทย) เทรดดิ้ง จำกัด 100 ล้านบาท ใช้เพิ่ม (เมษายน 59 ใช้ 90 ล้านบาท)