Amazon เตรียมลุยตลาด “ยา”

Jeff Bezos ซีอีโอ Amazon (ภาพจากรอยเตอร์)

เป็นไปได้ว่า แอมะซอน (Amazon) เตรียมแผนบุกตลาดยาอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีรายงานข่าว CNBC ระบุว่า บริษัทมีการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูงคนใหม่เข้ามาสร้างทีม เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการบุกตลาดนี้อย่างเป็นทางการ

โดย CNBC รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า แอมะซอนได้คัดเลือกผู้จัดการทั่วไปคนใหม่เพื่อมาดูแลทีม และกำหนดกลยุทธ์ รวมถึงเจรจากับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมแล้ว โดยทีมดังกล่าวจะอยู่ในกลุ่ม Consumer business รวมถึงมีการประกาศรับสมัครพนักงานที่มีประสบการณ์จากธุรกิจยาจากแอมะซอน ปรากฏอยู่ทั่วไปด้วย

โดยก่อนหน้านี้ แอมะซอนได้เริ่มขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น รถเข็นสำหรับผู้ป่วย เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ ฯลฯ รวมถึงได้ว่าจ้าง Mark Lyons ผู้บริหารจาก Premera Clue Cross มาเมื่อสองเดือนก่อนด้วย และในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แอมะซอน ไพรม์ (Amazon Prime) ในญี่ปุ่น ก็ได้เริ่มมีบริการเดลิเวอรี่สินค้าประเภทยา และเครื่องสำอาง และได้รับหน้าเพจสำหรับประเทศญี่ปุ่น โดยเพิ่มหมวด Pharmaceuticals เพื่อจำหน่ายยาแก่ผู้ป่วยที่มีใบสั่งยาจากเภสัชกรด้วย

ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่น่าสังเกต เนื่องจากแอมะซอน มักชอบทดลองเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ในตลาดนอกประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนการเปิดตัวในประเทศตัวเอง โดยก่อนหน้านี้ แอมะซอนก็เคยทดสอบบริการส่งสินค้าด้วยโดรนในแคนาดามาก่อน เป็นต้น

เฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น ในแต่ละปีมีการออกใบสั่งยามากกว่า 4 พันล้านใบ (ข้อมูลในปี 2015) ซึ่งการใช้จ่ายของตลาดยานี้คิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่คนไข้ บริษัทประกัน และผู้เล่นรายอื่นๆ ในตลาดต้องร่วมกันจ่าย

สำหรับแอมะซอนแล้ว นี่คือ ตลาดล้ำค่าที่บริษัทสามารถบุกเข้าไปสร้างยอดขายได้อย่างงาม ขณะที่ผู้บริโภคก็หมายถึงเงินจำนวนไม่น้อยที่สามารถประหยัดลงได้ ดังนั้น สำหรับแอมะซอนแล้ว นี่คือ โอกาสที่ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว เพราะมันหมายถึงการสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคหันมาซื้อยาจากแอมะซอน เป็นทางเลือกอันดับต้นๆ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในตลาดสุขภาพอย่าง Stephen Buck และผู้ก่อตั้ง GoodRx ก็มองว่า การเข้ามาของแอมะซอน จะช่วยสร้างความโปร่งใสในราคายาได้เป็นอย่างดี และมองว่า ถ้าแอมะซอนไปได้ดี ตลาดนี้จะทำเงินให้แอมะซอน ถึง 25,000-50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เลยทีเดียว

โดยสิ่งที่ท้าทายที่แอมะซอน ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ก็คือ กฎระเบียบของตลาด อย่างกฎหมาย Prescribtion Transfer Laws และใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ (e-prescribing) นั่นเอง

ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000049745