อาลีบาบา กรุ๊ป ปี 60 โกยรายได้ 22,994 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 56% ชี้ซื้อของผ่านมือถือมาแรงกินสัดส่วน 79%

อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (NYSE: BABA) ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2017  ซึ่งสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา 

“ผลประกอบการ ทั้งในไตรมาสสุดท้ายและตลอดปีงบประมาณ (เมษายน 2016 – มีนาคม 2017) ที่ผ่านมา เป็นเครื่องสะท้อนถึงการเข้าถึงและสร้างรายได้จากผู้บริโภคกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของเรา” มร.แดเนียล จาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าว

โดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่งเช่นเคย จึงทำให้สามารถลงทุนเพื่อขยายธุรกิจคลาวด์ และธุรกิจสื่อดิจิทัลและความบันเทิงได้อย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การพลิกโฉมเศรษฐกิจสู่ยุคดิจิทัล และการยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภคทั่วทั้งประเทศจีน

สำหรับในไตรมาสสุดท้าย อาลีบาบา มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงถึง 60% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุด นับตั้งแต่เราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่รายได้ตลอดปีงบประมาณนี้เติบโตขึ้น 56 % และมีกระแสเงินสดที่ไม่ได้คำนวณตามหลักการบัญชีทั่วไปอยู่ราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐแมกกี้ วู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าว

ผลประกอบการประจำปีงบประมาณ สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560

  • รายได้รวม 158,273 ล้านหยวน (22,994 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้น 56% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน
  • รายได้หลักจากธุรกิจการค้าปลีก–ค้าส่งเติบโตขึ้น 45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 133,880 ล้านหยวน (19,450 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  • รายได้จากธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มขึ้น 121% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 6,663 ล้านหยวน (968 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  • รายได้จากธุรกิจสื่อดิจิทัลและบันเทิงเติบโตขึ้น 271% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 14,733 ล้านหยวน (2,141 ล้านเหรียญสหรัฐ)
  • รายได้จากกลุ่มธุรกิจเชิงนวัตกรรมเพิ่มขึ้น 65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 2,997 ล้านหยวน (435 ล้านเหรียญสหรัฐ)

• ช่องทางค้าปลีกของอาลีบาบาในประเทศจีน มีลูกค้าที่ซื้อสินค้าอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปีรวมกว่า 454 ล้านราย เพิ่มขึ้น 31 ล้านรายเมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า (สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2559) โดยในจำนวนนี้ มาจากช่องทางอาลีเอ็กซ์เพรสและลาซาด้ารวม 83 ล้านราย

• ยอดผู้ใช้งานในประเทศจีนที่เข้าถึงช่องทางค้าปลีกในแต่ละเดือนผ่านโทรศัพท์มือถือ สูงถึง 507 ล้านคนในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 97 ล้านคน

• ยอดขายรวมผ่านทางช่องทางค้าปลีกในประเทศจีนตลอดปีงบประมาณ 2017 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.767ล้านล้านหยวน (547,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเติบโตขึ้น 22% เมื่อเทียบกับยอดขายรวมทั้งหมด 3.092 ล้านล้านหยวนในปีการเงินสิ้นสุด 2560

อาลีบาบาได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันมาใช้บริการอีคอมเมิร์ซผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุนี้เอง ยอดขายรวมผ่านโทรศัพท์มือถือของช่องทางค้าปลีกในประเทศจีนในปีงบประมาณนี้จึงสูงถึง 2.981ล้านล้านหยวน (433,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็น 79% ของยอดขายรวมทั้งหมดโดยเพิ่มขึ้น 49% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนส่วนรายได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือจากธุรกิจค้าปลีกในประเทศจีน สูงกว่า 90,731 ล้านหยวน (13,182 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเพิ่มขึ้น 80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปีงบประมาณล่าสุดนี้ รายได้จากแพลตฟอร์มซื้อขายบนโทรศัพท์มือถือได้เติบโตแซงหน้ารายได้ผ่านทางช่องทางคอมพิวเตอร์ไปแล้ว

 จำนวนลูกค้าบริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง ที่จ่ายค่าบริการ เพิ่มขึ้นจาก 513,000 คนในปีก่อนหน้า เป็น 874,000 คนในปีนี้ แต่จากรายงานผลประกอบการปี 2560 บริษัทขาดทุนจากธุรกิจดังกล่าวเป็นเงิน 1,681 ล้านหยวน (244 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 476 ล้านหยวน (69 ล้านเหรียญสหรัฐ) หากไม่นับรวมค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย ภาษี และการชำระหนี้

 รายได้สุทธิอยู่ที่ 41,226 ล้านหยวน (5,989 ล้านเหรียญสหรัฐ) ส่วนรายได้จากการดำเนินการ 48,055 ล้านหยวน (6,981 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่รายได้ก่อนคำนวณดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และการชำระหนี้ อยู่ที่ 74,456 ล้านหยวน (10,817 ล้านเหรียญสหรัฐ) มีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 30% หรือคิดเป็น 47% หากไม่รวมดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และการชำระหนี้ ทั้งนี้ อัตรากำไรของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ก่อนคำนวณดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และการชำระหนี้ อยู่ที่ 62%

• กำไรต่อหุ้นปรับลด อยู่ที่ 16.97 หยวน (2.47 เหรียญสหรัฐ) ส่วนกำไรต่อหุ้นปรับลดที่ไม่ได้คำนวณตามหลักการบัญชีทั่วไป อยู่ที่ 23.44 หยวน (3.41 เหรียญสหรัฐ)

• เงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน อยู่ที่ 80,326 ล้านหยวน (11,670 ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่กระแสเงินสดที่ไม่ได้คำนวณตามหลักการบัญชีทั่วไป อยู่ที่ 68,790 ล้านหยวน (9,994 ล้านเหรียญสหรัฐ)