ธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ หากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ยอมลงทุนเพิ่ม ก็แสดงว่า มองไม่เห็นอนาคตของธุรกิจนั้นว่า จะดีขึ้นได้ จึงไม่อยากเสี่ยงเสียเงินเสียทองให้อีกต่อไป
การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่สละสิทธิไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ก็คงมีเหตุผลเช่นนั้น ซึ่งทำให้สัดส่วนการถือหุ้นหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ลดลงจาก 39.20% เหลือเพียง 20% กว่าๆ ไม่ถึง 1 ใน 4 ซึ่งเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่กำหนดทิศทางของกิจการได้
หากผู้ถือหุ้นใหญ่อีกสองรายคือ นายณัฐพล และ นายทวีฉัตร จุฬางกูร แห่งซัมมิท กรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นรวมกันประมาณ 22% ซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสิทธิก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งแทนการบินไทย
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง และเป็นกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า การบินไทยไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน นกแอร์ จำกัด เพราะไม่เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาได้ชัดเจน และการแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มทุนนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น
ตลอดระยะเวลา 13 ปี ที่นกแอร์ดำเนินกิจการมา การบินไทยแม้ว่าจะถือหุ้นใหญ่สุด แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดตัวผู้บริหาร ทิศทางของกิจการ นายพาที สารสิน ซึ่งถือหุ้นเพียง 2% ผูกขาดเป็นซีอีโอมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน
การเกิดขึ้นของนกแอร์เมื่อต้นปี 2547 มีเป้าหมายเพื่อให้เป็น Fighting Brand สู้กับแอร์เอเชีย ในตลาดโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ ที่เพิ่งเกิดในตอนนั้น แต่นกแอร์กลับทำตัวเป็นนกอิสระ เป็นอาณาจักรส่วนตัวของนายพาทีที่การบินไทยซึ่งให้ทั้งเงิน ให้ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ ยกสายการบินในประเทศให้ ไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของนกแอร์เลย
เป็นแม่นกที่หารังให้อยู่ หาเหยื่อมาป้อน แต่ว่ากล่าวตักเตือนลูกนกไม่ได้ แม้แต่น้อย
ว่ากันว่า นกแอร์นั้นถูก “ไฮแจ็ค” ไปจากอ้อมอกของการบินไทย เพราะว่าการบินไทย ตั้งใจจะบริหารนกแอร์ตั้งแต่แรก แต่แล้วโปรแจ็ค นกแอร์ ก็ถูกดึงออกไปเป็นบริษัท แยกจากการบินไทย ภายใต้การดูแลของนายพาที ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ในธุรกิจการบินมาก่อน
นายพาทีเป็นลูกชายของนายอาสา สารสิน ที่เป็นราชเลขาธิการในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ระหว่างปี 2543 ถึงปี 2555 ตระกูลสารสินนั้นถือว่าเป็นชนชั้นนำที่มีบารมีในวงการราชการ ธุรกิจ และสังคมมาช้านาน มีสายสัมพันธ์ที่หยั่งรากลึก และแผ่กระจายอย่างกว้างขวาง
ลำพังโดยชื่อ สารสินก็ทรงอิทธิพลอยู่แล้ว สารสินที่เป็นราชเลขาธิการ ก็ยิ่งเป็นที่เคารพนับถือ เกรงอกเกรงใจอีกหลายเท่าตัว
ผู้ถือหุ้นนกแอร์ในช่วงก่อตั้ง นอกจากการบินไทยแล้ว ก็มีบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงไทย ล้วนแต่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจการบิน แต่อยู่ในเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่ถูกบอกบุญให้มาทอดผ้าป่าลงขันกัน ให้นกแอร์โบยบินขึ้นสู่ท้องฟ้าได้
การบินไทยอยากจะกำหนดยุทธศาสตร์ว่า นกแอร์ควรจะบินอย่างไร เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ภาพใหญ่ในการแข่งขันในระดับภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากนกแอร์ ในที่สุด การบินไทย ในยุคที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็คิดจะตั้งโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ อีกสายหนึ่งขึ้นมาแข่งขันในตลาดโลว์คอสต์ โดยร่วมทุนกับไทเกอร์แอร์ ของสิงคโปร์ แต่ถูกพรรคภูมิใจไทยซึ่งกำกับดูแลการบินไทย ผ่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของพรรค ขัดขวางจนต้องล้มเลิกแผนไป
เมื่อนายปิยสวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การบินไทยก็ตั้งไทยสมายล์ เป็นสายการบินโลว์คอสต์ขึ้นมา ในขณะที่นกแอร์ที่มีสถานะเป็นบริษัทลูกของการบินไทย ก็กลับไปจับมือกับคู่แข่งของการบินไทย คือ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ เปิดสายการบิน นกสกู๊ต ให้บริการโลว์คอสต์ระดับภูมิภาคซึ่งเป็นตลาดเดียวกับไทยสมายล์
ภายใต้การบริหารงานของนายพาทีแต่เพียงผู้เดียวมานาน 13 ปี นกแอร์ไม่ประสบความสำเร็จ ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องจนต้องเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง
ขณะเดียวกัน ก็มีปัญหาการให้บริการ มีการยกเลิกเที่ยวบินอย่างกะทันหันบ่อยครั้ง จนเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในหมู่ผู้เคยใช้บริการ วันวาเลนไทน์ปีที่แล้ว นกแอร์ยกเลิกเที่ยวบินวันเดียวถึง 9 เที่ยวเพราะนักบินสไตรค์จนเกิดความวุ่นวายโกลาหล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ต้องเดินทางไปแก้สถานการณ์ด้วยตัวเอง โดยไร้วี่แววของนายพาที
วันรุ่งขึ้นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเรียกประชุมสายการบินโลว์คอสต์ทั้งหมด ทุกสายการบินส่งตัวแทนมาประชุม ยกเว้นนกแอร์ไม่มา ความไม่รับผิดชอบของนายพาที ถูกนำไปพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องเรียกนายพาทีไปตักเตือน คาดโทษว่า อย่าให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำสอง
ขณะที่ซีอีโอนกแอร์หันไปทะเลาะกับลูกน้อง สาวไส้ให้คนภายนอกเห็นว่า นักบิน เป็นต้นเหตุของปัญหา
หากเป็นบริษัทปกติทั่วไป ผู้บริหารถูกปลดพ้นตำแหน่งไปนานแล้ว แต่นี่คือนกแอร์ของลูกชายตระกูลสารสิน นายพาทีจึงยังคงเป็นซีอีโออยู่ได้
สองเดือนก่อน มีข่าวการบินไทยปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดยจะเอาการบินไทย ไทยสมายล์ และนกแอร์มาอยู่ใต้โครงสร้างการบริหารเดียวกัน เรียกว่า ไทยกรุ๊ป เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหาร พร้อมกันนั้น ก็มีข่าวว่าจะมีการขอให้นายพาทีลาออกไป เพื่อหาผู้บริหารนกแอร์มืออาชีพมากอบกู้สถานการณ์ของนกแอร์
การตัดสินใจไม่ลงทุนเพิ่มในนกแอร์ เป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า การบินไทยไม่อยากอุ้มนกแอร์อีกต่อไปแล้ว เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ สู้ผู้ถือหุ้นแค่ 2% ไม่ได้
นายอาสาพ้นจากตำแหน่งราชเลขาธิการมาได้เกือบ 5 ปีแล้ว ขณะที่อายุก็ย่างเข้า 81 ปี ความเกรงอกเกรงใจที่เคยได้รับย่อมถดถอยไปตามกาลเวลา และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย
การที่การบินไทยไม่ลงทุนเพิ่มในนกแอร์ ไม่ใช่ปัญหา การหาผู้ร่วมทุนใหม่มาซื้อหุ้นที่การบินไทยสละสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องยาก ปัญหาคือ ผู้ถือหุ้นใหม่จะยอมให้นายพาที บริหารนกแอร์ไปตามใจชอบเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่
ที่มา : https://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000054221