ตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคงหนีไม่พ้น ‘สายการบิน’ เนื่องจากคนทั่วโลกไม่สามารถเดินทางได้เหมือนเดิม ส่งผลให้มีหลายสายการบินที่ต้องโบกมือลาเพราะไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้ แต่ ‘สกู๊ต’ (Scoot) สายการบินราคาประหยัดภายใต้การบริหารของกลุ่มสิงคโปร์แอร์ไลน์ก็ยังมั่นใจว่าธุรกิจการบินจะฟื้นตัวได้ภายในปี 2566 โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ที่จะฟื้นได้เร็วกว่า
มั่นใจตลาดการบินฟื้นปี 66
แม้ แคมป์เบล วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินสกู๊ต จะยอมรับว่าตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของ COVID-19 ในช่วง 16 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ตนเรียนรู้ว่า “การคาดการณ์อนาคต” เป็นอะไรที่ทำได้ยากมาก เพราะไม่มีอะไรแน่นอนเลย แต่ก็ยังเชื่อว่าตลาดการบินจะกลับมาได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง เพราะตลาดนี้ในอดีตถือเป็นตลาดที่ยังมีการเติบโต
ขณะที่แนวโน้มของการฟื้นตัวในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และออสเตรเลียที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง ส่งผลให้ดีมานด์กลับมาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเชื่อว่าในเอเชียจะมีผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน รวมถึงประเทศไทยที่ถือเป็นปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยว แต่ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะสามารถเปิดประเทศได้เร็วแค่ไหน
“สกู๊ตและสายการบินชั้นประหยัดตอนนี้ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพราะหากการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวกลับมาจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ขณะที่ต้นทุนค่อนข้างต่ำ ทำให้ยังสามารถประคองตัวได้ และสามารถฟื้นได้เร็ว”
ไม่ร่วมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่พร้อมเปิดเส้นทางเพิ่มหากเปิดประเทศ
ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 สายการบินสกู๊ตให้บริการอยู่ 68 เส้นทางครอบคลุม 15 ประเทศ แต่ปัจจุบันสามารถให้บริการได้เพียง 26 เส้นทางครอบคลุม 12 ประเทศเท่านั้น สำหรับประเทศไทยสกู๊ตมีเส้นทาง กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-สิงคโปร์ โดยให้บริการ 11 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จากอดีตไทยจะมี 6 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สนามบินดอนเมือง), เชียงใหม่, หาดใหญ่, กระบี่ และภูเก็ต ซึ่งสกู๊ตย้ำว่าพร้อมจะกลับมาให้บริการในทุกเส้นทางอีกครั้งหาก ไทยเปิดประเทศ
โดยสกู๊ตกำลังศึกษาอยู่ว่าจะเปิดเส้นทางการบินอื่น ๆ โดยไม่จำกัดแค่จากสิงคโปร์แต่รวมถึงฮับอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดเมืองภูเก็ตต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วนั้น ทางสกู๊ตไม่ได้มีแผนที่จะเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากกลุ่มสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่เป็นบริษัทแม่ได้ร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว
“แผนของเราในช่วง 1-2 ปีคือ เปิดเส้นทางการบินให้ครบทุกเส้นทางที่เคยบิน แล้วค่อยเพิ่มความถี่เที่ยวบินให้เท่าเดิม รวมถึงเพิ่มเที่ยวจากสิงคโปร์มาไทยและไทยไปที่อื่น ๆ”
เน้นส่งของ พร้อมทรานส์ฟอร์มในตัว
ต้องยอมรับว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้อนุมัติงบช่วยเหลือธุรกิจการบินจากพิษ COVID-19 แม้จะไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่งบดังกล่าวพียงพอแค่ที่จะประคองไม่ให้ต้องเลิกจ้างพนักงาน ดังนั้น ที่ผ่านมาสกู๊ตจึงประคองตัวโดยการเน้นการ ขนส่งสินค้า เพราะการให้บริการในลักษณะกึ่งพาณิชย์ (semi commercial flight) คิดเป็นสัดส่วน 12-15% ของจำนวนที่นั่งเท่านั้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่การเดินทางยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ สกู๊ตจึงลงทุนด้านเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนจะให้บริการอีกครั้ง อาทิ การเช็กอินผ่านออนไลน์, อัพเกรดที่นั่ง หรือซื้อบริการต่าง ๆ ผ่านแชทบอท รวมถึงชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด
“เราไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขการลงทุนได้ แต่เรามั่นใจว่ามันคุ้มค่ากับผลลัพธ์ และที่เรายอมลงทุนในช่วงที่วิกฤตเช่นนี้เป็นเพราะเรามองว่ามันทำให้เราสามารถโฟกัส เรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่”
ลงทุนซื้อเครื่องแต่ไม่ลงทุนสายการบิน
ในปี 2557 สายการบินนกแอร์ และสกู๊ต ได้ร่วมทุนกันเปิดสายการบิน ‘นกสกู๊ต’ (NokScoot) โดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว หรือกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยที่ผ่านมาต้องเจอทั้งการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะเรื่องของ ‘ราคา’ การขยายเส้นทาง จนกระทั่งเจอพิษ COVID-19 ทำให้ในวันที่ 26 มิ.ย. 63 คณะกรรมการของสายการบินนกสกู๊ต ได้มีมติยุติการดำเนินกิจการ ซึ่งตลอดเส้นทางการดำเนินธุรกิจนกสกู๊ตยังไม่สามารถทำ ‘กำไร’ ได้เลย
ซึ่งทาง แคมป์เบล ก็ยืนยันว่าตอนนี้บริษัท ไม่มีแผนที่จะลงทุนในสายการบินในประเทศไทย โดยล่าสุด ทางสายการบินได้ลงทุนซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ ‘แอร์บัส A321neo’ จำนวน 6 ลำ และเช่าอีก 10 ลำ โดยจะให้บริการในเส้นทาง ‘สิงคโปร์-กรุงเทพฯ’ เป็นเส้นทางแรก เริ่มบินในวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา และจะขยายการใช้เครื่องบินรุ่นนี้ไปยังฟิลิปปินส์และเวียดนามในเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งนี้ แอร์บัส A321neo มีพิสัยการบินสูงสุดถึง 2,620 ไมล์ทะเล ซึ่งมากกว่าเครื่องบินรุ่น A320neo ประมาณ 270 ไมล์ทะเล ทำให้สกู๊ตสามารถให้บริการในเส้นทางบินระยะสั้นถึงระยะกลางได้ ด้วยเวลาบินสูงสุดถึง 6 ชั่วโมง ซึ่งเทียบกับเครื่องบินรุ่นก่อนอย่าง A320 ที่มีรอบการบินอยู่ที่ 4-5 ชั่วโมง นอกจากนี้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 236 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากรุ่น A320neo ถึง 50 ที่นั่ง และยังประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า 12-20%
ดังนั้น แอร์บัส A321neo จะสามารถรองรับแผนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมได้ในอนาคต เนื่องจากสามารถบริหารความคุ้มทุนและควบคุมต้นทุนต่อหน่วยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้สายการบินสามารถบริหารจัดการเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและความต้องการได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย
คงต้องรอดูว่า ตลาดการบินคิดว่าจะกลับมาฟื้นฟูเท่ากับก่อนเกิดการระบาดได้มากน้อยแค่ไหน และการลงทุนต่าง ๆ ของ สกู๊ต จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้หรือไม่