8 เรื่อง รู้จักแนวทางการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์โฆษณาแผนใหม่ ปี 2560

นับตั้งแต่มีการยกเลิกการเซ็นเซอร์โฆษณาก่อนออกอากาศโดยหน่วยงานภาครัฐเมื่อ พ.ศ. 2537 นั่นก็คือบริษัทโฆษณาไม่จำเป็นจะต้องส่งภาพยนตร์โฆษณาให้กับคณะกรรมการของรัฐตรวจเซ็นเซอร์อีกต่อไป จากนั้นจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานเอกชน คือตัวแทนจากสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 5 7 และ 9 ร่วมกับตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ร่วมกันเป็น “คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์” ขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบโฆษณาทั้งหมดร่วมกันตั้งแต่ปีนั้น

แต่ด้วยยุคปัจจุบันที่มีจำนวนโฆษณาเพิ่มมากขึ้น และมีสถานีโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้นจากทีวีดิจิทัล ทำให้ได้มีการหาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการในการเซ็นเซอร์โฆษณาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงได้เกิดการรวมตัว และมีการร่วมลงนามความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ขององค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับโฆษณา 10 องค์กร ประกอบด้วยสมาพันธ์สมาคมวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและการกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) และสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อการรวมกลุ่มเป็นองค์กรในการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์โฆษณาแผนใหม่ในยุคดิจิทัล มีเรื่องน่าสนใจ 10 ข้อด้วยกัน

1. คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านการตรวจพิจารณาโฆษณาทางโทรทัศน์ ประกอบด้วย ตัวแทนจากสถานีหลักเดิมได้แก่ ช่อง 3, 5, 7, MCOT, TPBS, NBT, ตัวแทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล 2 ช่อง (สลับหมุนเวียนกัน), ตัวแทนจากโทรทัศน์ดิจิทัลที่แต่งตั้งโดยสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ฯ  2 ช่อง (สลับหมุนเวียนกันและตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย รวม 11 คน

2. แนวทางใหม่ที่กำหนดจะสร้างมาตรฐานเดียวกันในเรื่องกฎเกณฑ์การพิจารณา แต่เดิมจะมีโฆษณาบางชิ้นงานที่เป็น Unbranded ทำให้เกิดการสับสนว่าจะผ่านหรือไม่ และในแต่ละช่องจะมีการแต่งตั้งผู้ใหญ่ในการกำกับนโยบายให้ชัดเจนว่าโฆษณาแบบไหนทำได้ หรือแบบไหนทำไม่ได้

3. แนวทางใหม่จะทำงานเป็นกระบวนการมากขึ้น มีการกำหนดวัน กำหนดเอกสารชัดเจน จากแต่เดิมจะมีความฟรีสไตล์ ส่งผลงานตอนกี่โมงก็ได้ แต่แนวทางใหม่จะกำหนดระยะเวลาชัดเจนว่าส่งโฆษณาวันจันทร์ เรื่องจะเข้าพิจารณาวันพุธ ทำให้สมาคมมีเวลาในการจัดการมากขึ้น

4. กรณีการโฆษณาของกระทะโคเรียคิง เป็นบทเรียนที่ทำให้ในอนาคตผู้ประกอบการสินค้าอาจจะต้องเตรียมเอกสารว่าสินค้ามีการยืนยันเรื่องวัสดุตรงตามโฆษณาหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5. มีการจัดทำโครงการฝึกอบรมผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลช่องต่าง ๆ ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการเซ็นเซอร์ ทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกภาคปฏิบัติ คณะกรรมการคนใหม่จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากทางสมาคมก่อน ถึงจะมีสิทธิออกเสียงได้

6. ในแต่ละปีมีภาพยนตร์โฆษณาที่ผ่านการเซ็นเซอร์เฉลี่ย 9,000-18,000 ชิ้น และมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะยุคนี้โปรดักชั่นในการผลิตโฆษณาถูกลง จากแต่ก่อนค่าผลิตอยู่ที่ 5 ล้านบาท/ผลงาน ปัจจุบันค่าผลิตอยู่ที่หลักหมื่นหลักแสนก็สามารถทำโฆษณาได้แล้ว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบ SME ได้ทำโฆษณาได้

7. โฆษณาที่เยอะขึ้นมาจากช่องทีวีดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น บางช่องมีค่าโฆษณาที่ถูก ทำให้มีการผลิตโฆษณามาลงมากขึ้น

8. การเซ็นเซอร์โฆษณาของทางสมาคมจะครอบคลุมแค่ช่องทีวีดิจิทัล และอนาล็อกเท่านั้น ไม่รวมโฆษณาในช่องทีวีดาวเทียม และช่องทางออนไลน์ ใช้วิธีเป็นกลไกการควบคุมตนเอง หรือใช้การบอยคอตจากสังคม เมื่อมีโฆษณาที่ไม่เหมาะสมจะเกิดการโจมตีบนโลกออนไลน์ไปเอง