หลังจากเอไอเอสประกาศวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่ Digital Service Provider ตั้งแต่ปีก่อนหน้านี้ ก็ได้เดินเครื่องในการเพิ่มบริการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์โดยเน้นการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ
โดยธุรกิจ Digital Service เอไอเอสได้นำร่องแตกบริการกลุ่ม Digital Service ไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กรมากขึ้น เริ่มจับกลุ่มธุรกิจอาหารปั้นบริการ Food Solution ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย และ 2 เทคสตาร์ทอัพ FoodStory ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขัน SME ตีแตก THE FINAL ปี 2016 และ FlowAccount ผู้ชนะเลิศโครงการ AIS The Startup ปี 2015
Food Solution เป็นระบบช่วยบริหารจัดการร้านอาหารครบวงจรโดยได้ FoodStory ดูแลเรื่องบริการหน้าร้าน สั่งอาหาร ชำระเงิน ไปจนถึงบริการหลังบ้านเรื่องการจัดการบัญชีจาก FlowAccount ได้ระบบการชำระเงิน เชื่อมต่อระบบบัญชีของ K Plus หรือชำระเงินด้วยเครื่อง mPOS (รูดบัตรเครดิต/เดบิต) จากธนาคารกสิกรไทย และใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากเอไอเอส
เหตุผลที่เลือกธุรกิจอาหารก่อนนั้น เพราะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตขึ้นทุกปี มีผู้ประกอบการหน้าใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ มีการคาดการณ์ว่าในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารในไทยมีมูลค่าตลาดถึง 397,000 ล้านบาท เติบโต 2-4% และส่วนใหญ่ 69% เป็นร้านขนาดกลางหรือขนาดเล็กราว 275,000 ล้านบาท
นั่นแสดงว่ากลุ่มลูกค้า SME ในตลาดร้านอาหารยังมีอยู่มาก และกลุ่มนี้ยังมีปัญหาในการทำธุรกิจเรื่องการบริหารการจัดการต่างๆ ซึ่งในไทยยังไม่มีโซลูชั่นที่มาตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบครบวงจร
ปรัธนา ลีลพนัง รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตอนนี้รายได้จากการใช้ดาต้าอินเทอร์เน็ตของเอไอเอสแซงหน้ารายได้จากวอยซ์หรือการโทรไปแล้ว ซึ่งเอไอเอสต้องการประยุกต์ดาต้าไปพร้อมกับธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น มองเห็นโอกาสจากธุรกิจ SME ที่เป็นตลาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาในด้านการจัดการ ได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการทำอีโคซิสเท็มให้แข็งแรงมากขึ้น“
จากจำนวนร้านอาหาร SME กว่าสองแสนร้านค้า เอไอเอสมองว่ามีอยู่ราว 40,000-50,000 ร้านค้าที่มีความพร้อมที่จะใช้ระบบ Food Solution ได้ ในปีนี้มีการตั้งเป้าร้านค้าสมัครบริการ 1,000-2,000 ร้านค้า เริ่มต้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน
ค่าบริการจะคิดเป็นแพ็กเกจ แบ่งเป็น 3 แพ็กเกจ ราคา 1,779 บาท/เดือน สำหรับร้านขนาดเล็ก ราคา 2,870 บาท/เดือน สำหรับร้านขนาดกลาง และราคา 3,670 บาท/เดือน สำหรับร้านขนาดใหญ่ จะมีการแบ่งรายได้กับพาร์ตเนอร์แบบ Revenue Sharing
บริการ Food Solution นอกจากจะช่วยขยายฐานการใช้เอไอเอสไฟเบอร์ให้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นบริการตัวแรกที่เป็นบริการแบบครบวงจรที่ทางเอไอเอสเบิกทางในการสร้างรายได้จากกลุ่มองค์กรมากขึ้น ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากองค์กรราว10% ซึ่งปรัธนามองว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะโอเปอเรเตอร์ในต่างประเทศมีรายได้จากองค์กรราว 15-20% กันแล้ว