บริติช เคานซิล ประเทศไทย ถอดประสบการณ์การทำงานร่วมกับศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ทั่วโลก เปิดตัว “Creative Hubkit คู่มือสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์” ฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรก ตอบรับแนวคิดธุรกิจ Co-working space โมเดลธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เติบเติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย พร้อมเป็นแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและยั่งยืน สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงการ “Creative Cities” เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ในอนาคต
แนวคิดธุรกิจ Co-working space หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศไทย แต่ยังคงมีคำถาม และข้อสงสัยว่าจะสามารถสร้างโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนจากธุรกิจนี้ได้อย่างไร นอกเหนือจากการแชร์พื้นที่ส่วนกลางและส่วนตัว ให้ผู้คนที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน มารวมตัวกันจนกลายเป็นชุมชน และนอกจาก Co-working space ที่เป็นที่รู้จักในวงการสตาร์ทอัพในประเทศไทยแล้ว ยังมีรูปแบบอื่นๆ ในการสร้างธุรกิจที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
มร. แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทยกล่าวว่า เราตระหนักถึงความสำคัญศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ จึงได้จัดทำ “คู่มือสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ (Creative HubKit)”ฉบับภาษาไทยเป็นครั้งแรก เพื่อสนับสนุนแนวทางของธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของบริติช เคานซิล ในงานด้านศิลปะและเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ Creative Cities ที่ได้เริ่มตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี 2563 เพื่อส่งเสริมการผสมผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับการพัฒนาเมืองโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้จาก สหราชอาณาจักร มาปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยในเมืองให้ดีขึ้น
สำหรับ “คู่มือสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ (Creative HubKit)” เป็นการถอดประสบการณ์จาก การทำงานร่วมกับ ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ทั่วโลก ของบริติช เคานซิล โดยนำเสนอแนวทางการสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างศูนย์รวมความคิด โดยมี “คนและชุมชน” เป็นศูนย์กลางในการใช้ศิลปะ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ นำมาการแก้ปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กับโมเดลธุรกิจ และการจัดการที่มากกว่า Co-working space โดยคู่มือเล่มนี้จะรวบรวมคำแนะนำ และเครื่องมือที่ใช้จริงสำหรับการสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์แบบมีชุมชนเข้มแข็งเป็นหัวใจหลัก ศูนย์ฯ จะทำหน้าที่เชื่อมต่อเครือข่ายผู้คนจากทุกสาขาอาชีพ และภาคส่วน เพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจที่ยั่งยืน
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มีความสนใจในโมเดลธุรกิจนี้แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากส่วนไหน หรือเป็นผู้บุกเบิก และผู้จัดการศูนย์ที่กำลังมองหาหรือต่อยอดโมเดลธุรกิจให้ยั่งยืน “คู่มือสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ (Creative HubKit)” จะเป็นเหมือนเครื่องมือในการช่วยวางรากฐานที่ดีของศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าการสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์จะไม่มีสูตรสำเร็จ แต่คู่มือเล่มนี้ได้รวบรวมความรู้พื้นฐาน และโครงสร้างที่จำเป็นในการสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ผ่านบทเรียนในแต่ละหัวข้อ อาทิ การสร้างวิสัยทัศน์ การเชื่อมโยงเครือข่าย แนวทางการบริหารจัดการ รวมถึงการโปรโมทศูนย์ผ่านจุดแข็ง และการสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้สังคม
นอกจากนี้ ใน “คู่มือสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ (Creative HubKit)” ยังมีการยกตัวอย่างโมเดลธุรกิจของแต่ละศูนย์ฯ ที่ประสบความสำเร็จให้เป็นแนวทางกับผู้อ่านอีกด้วย พร้อมย่อยส่วนประกอบสำคัญทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น หลักการทำงาน โครงสร้าง และการเงิน ของแต่ละศูนย์ฯ มาให้เป็นแนวทางแบบเข้าใจง่ายๆ อาทิ
- The Fusebox สตูดิโอใจกลางเมืองไบรตันที่ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทสตาร์ทอัพในภาคสร้างสรรค์และดิจิทัล ตลอดจนใช้พื้นที่ในการอบรมเชิงปฏิบัติการไปจนถึงงานแฮกกาธอน โดยมีโครงสร้างการดำเนินงานผสมระหว่างทุนจากรัฐบาล การลงทุนของภาคเอกชนและการหารายได้ด้วยตนเอง
- Impact Hub Birmingham ที่อยู่ในเครือข่ายระดับโลก Impact Hubs เป็นทั้งห้องปฏิบัติการนวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และศูนย์กลางชุมชนที่เกิดขึ้นจากการระดมทุนจากมวลชน (crowdfunding) เพื่อใช้ความสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงชุมชนในเมืองเบอร์มิงแฮม
- Residence กลุ่มศิลปินที่มารวมตัวกันในเมืองบริสตอลและเพื่อแบ่งปันพื้นที่ทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้และโอกาส โดยกลุ่มศิลปินจะมีการจัดงานศิลปะแสดงสด ใช้พื้นที่ซ้อมการแสดง และทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีความมั่นคงในการดำเนินงานและสามารถหารายได้เป็นของตนเอง
ด้านดร. พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บริติช เคานซิล กล่าวเพิ่มเติมว่า คู่มือสร้างศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์นี้ถือว่าเป็นคู่มือฉบับแรกเกี่ยวกับ Creative Hubs ภาษาไทย โดยนำประสบการณ์ และความรู้จาก สหราชอาณาจักร และประเทศแถบยุโรปมาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่มีความสนใจ และต้องการสร้างศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง การออกคู่มือนี้ถือเป็นกิจกรรมแรกด้านการส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย ของบริติช เคานซิล และจะมีกิจกรรมเพื่อการพัฒนา และการเชื่อมโยง hubs ในประเทศไทย และสหราชอาณาจักรในโอกาสต่อๆ ไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์
ปัจจุบัน บริติช เคานซิล กำลังทำวิจัย และศึกษาโอกาสเกี่ยวกับ creative hubs หรือ ศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในประเทศไทย และระดับภูมิภาค โดยได้ทำการวิจัยในประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีดำเนินการวิจัยในประเทศอื่น ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งจะนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง creative hubs ต่อสาธารณชนต่อไปในช่วงปลายปี 2560 นี้
สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ สามารถดาวน์โหลดคู่มือ Creative HubKit ได้ฟรีที่ http://bit.ly/2rtdKpQ