คาราบาวแตกไลน์ไม่ขายแค่เพลง

ไหนๆ วงคาราบาวยืนหยัดบนถนนสายดนตรีมายาวนาน 25 ปี สร้างชื่อเสียงจนรู้จักไปทั่ว ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ด้วยเหตุนี้เองแบรนด์ “คาราบาว ได้ถูกนำมาต่อยอดแตกไลน์เป็นธุรกิจผลิตเครื่องดนตรี โดยใช้แบรนด์และโลโก้ “หัวควาย” เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ

“ทุกวันนี้กล้าพูดได้ว่า “คาราบาว” เป็นวงดนตรีเดียวที่มีงานทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ 300 วันต่อปี” ทัศพล แบเลเว็ลด์ ผู้บริหารระดับสูง บริษัท เครื่องดนตรีคาราบาว จำกัด บอกถึงจุดแข็งของแบรนด์ “คาราบาว”

การขยายสู่ธุรกิจขายเครื่องดนตรีเริ่มขึ้นเมื่อ 4 ปีแล้ว โดยทัศพล แบเลเว็ลด์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ลงขันทำธุรกิจร่วมกับวงคาราบาวอีก 3 คน สุทธิยง เมฆวัฒนา, ปรีชา ชนะภัย และพรชัย หวังวิศาล

กลุ่มเป้าหมายเริ่มแรกเป็นผู้เริ่มหัดเล่นดนตรี และกลุ่มแฟนคลับของคาราบาว ต่อมาได้ขยายสู่กลุ่มนักดนตรีมืออาชีพตามผับ บาร์ โดยให้เพื่อนร่วมเส้นทางดนตรีเพื่อชีวิต ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ นำไปเป็นพรีเซ็นเตอร์สร้างแบรนด์ จนมีสินค้าหลากหลายวางขายกว่า 80 ชิ้น จากในอดีตมีเพียงกีตาร์โปร่งไม่กี่รุ่น โดยสินค้าทั้งหมดได้จ้างโรงงานในต่างประเทศผลิต เช่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ทั้งกีตาร์โปร่ง-ไฟฟ้า-คลาสสิก-เบส แอมพลิไฟเออร์ กลองชุด และจูนเนอร์ ราคาตั้งแต่ 2,000-30,000 บาท ประกอบกับราคาถูกกว่าเครื่องดนตรีที่มีชื่อของญี่ปุ่นหลายแบรนด์

ทัศพล และผู้ถือหุ้น เริ่มเห็นโอกาสในการขยายตลาดมากขึ้น โดยเพิ่มช่องทางขายผ่านตัวแทนจำหน่าย บริษัทแลนด์โก้ สปอร์ต แอนด์ มิวสิค ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มากกว่า 30 ปี มีดีลเลอร์ทั่วประเทศกว่า 500 ราย และยังขายผ่านโรงเรียนสอนดนตรี หน่วยงานและองค์กรของราชการ ซึ่งเดิมบริษัทก็มีช่องทางเหล่านี้อยู่แล้ว

ส่วนวงคาราบาวจะออกแรงทำตลาดมากขึ้น โดยทุกครั้งที่ออกทัวร์คอนเสิร์ต จะออกเยี่ยมเยียนร้านขายเครื่องดนตรีแบรนด์ “คาราบาว” เพื่อทำความรู้จักกลุ่มลูกค้า แฟนคลับและดีลเลอร์ให้มากขึ้น ทำให้บริษัทเครื่องดนตรีคาราบาว เชื่อมั่นว่า จะครอบส่วนแบ่งตลาด 10-15% ในแต่ละกลุ่มสินค้า

การแตกไลน์ธุรกิจของวงดนตรีดัง เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อดีของวงดนตรีเหล่านี้ คือ เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่แล้วไม่ต้องสร้างแบรนด์ขึ้นใหม่ มีแฟนประจำที่พร้อมควักเงินจ่าย นอกจากคาราบาวแล้ว วงไทเทเนียมก็แตกไลน์ทำธุรกิจเสื้อผ้าไปพร้อมๆ กับการออกอัลบั้มเพลง

ส่วนวงคาราบาวนั้น ได้แตกไลน์ทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง เปิดตัวครั้งแรกในปี 2545 โดยเป็นการร่วมทุนระหว่างยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว และเจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สัดส่วน 70:30 ในชื่อของ บริษัทคาราบาวแดง โดยใช้งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท และการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อ “คาราบาว” อย่างรวดเร็วทำให้มีส่วนแบ่งตลาดในปีแรกถึง 10%

ผลงานที่ผ่านมาของคาราบาวตลอดระยะเวลา 25 ปี
ผลงานรวม 25 อัลบั้ม
ผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ 16 เรื่อง
ผลงานเพลงประกอบละครโทรทัศน์ 6 เรื่อง
ผลงานหนังสือคาราบาวและศิลปินคาราบาว 9 เล่ม
คอนเสิร์ตครั้งสำคัญ 12 ครั้ง

Did you know?

วงคาราบาวเกิดจากการก่อตั้งโดยนักเรียนไทยที่ฟิลิปปินส์ 3 คน คือ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) กับ กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) และ สานิตย์ ลิ่มศิลา (ไข่) ขึ้นในปี พ.ศ. 2520 โดยคำว่า “คาราบาว” เป็นภาษาตากาล็อก ภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ แปลว่า ควาย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการทำงานหนัก และชนชั้นเกษตร โดยหมายจะเป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต