TMA และกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเวทีพูดคุย เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันเปิดเวทีสัมมนาสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจและผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานแห่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดรับมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน  ในงาน Global Business Dialogue: Sustainable Development Goals

นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เปิดเผยว่า การทำธุรกิจหรือการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ประเด็นสำคัญที่ทุกๆ องค์กรจะต้องคำนึงถึง คือ จะพัฒนาธุรกิจอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งองค์กรธุรกิจสามารถใช้แนวทางของ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals : SDGs” ทั้ง 17 เป้าหมาย ในการดำเนินธุรกิจได้ และเป้าหมายเหล่านั้นยังเป็นแนวทางให้เราทุกคนได้ช่วยกัน สร้างโลกที่มีความยั่งยืนและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติในอนาคตอีกด้วย

โดยภายในงานสัมมนานี้ได้หยิบยกประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่สอดคล้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมาเผยแพร่ ทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่ การมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ ยั่งยืนทันสมัย (Affordable and Clean Energy)  การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure)   การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Life Below Water) การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) และการขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (Zero hunger)

ด้าน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนา Global Business Dialogue  : Sustainable  Development Goals ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 เป้าหมาย ตามแผนยุทธศาสตร์Sustainable development Goals(SDGs) โดยที่ผ่านมา  รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  เพื่อเตรียมแผนงานสำหรับขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะ  ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีบทบาทในฐานะ คณะจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการความยั่งยืนของสหประชาชาติ  อย่างไรก็ดี ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแม่แบบ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานแล้ว  นั่นก็คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ซึ่งรัฐบาลไทยได้น้อมนำหลักดังกล่าว มาช่วยในการบริหารงานของประเทศอยู่แล้ว  อีกทั้งยังนำไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือ กลุ่ม 77 ของยูเอ็นอีกด้วย ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก  เนื่องจากเป็นหลักการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  และสอดรับกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของยูเอ็นด้วย

นาย จิรายุ  อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา  ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Thailand ‘s Sufficiency Economy Philosophy and the SDGs ว่า  หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP)  ได้ถูกพิสูจน์มาแล้วกว่า 20 ปี สามารถช่วยสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับประชาชน เอกชน จนถึงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหลักบริหารความเสี่ยง ที่ภาคเอกชนใช้กันทุกวันนี้ ก็มีพื้นฐานมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้แต่ในเรื่องการจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ โครงการซีเอสอาร์ ล้วนแล้วแต่มีรากมาจากหลักปรัชญานี้เช่นเดียวกัน  โดยหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า นับตั้งแต่มีการนำหลักปรัชญานี้มาใช้ ประเทศไทยไม่เคยต้องประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอีกเลย

“เคยมีงานวิจัย จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการวัดผลการทำงานขององค์กรธุรกิจ ที่นำเอาหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ พบว่า มันช่วยสร้างชื่อเสียงให้บริษัท และทำให้มูลค่าแบรนด์สินค้าดียิ่งขึ้น เพราะการันตีว่า บริษัทนั้นมีหลักการบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีธรรมาภิบาล สะท้อนความเป็นธุรกิจที่ต้องการเติบโตแบบยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย” นายจิรายุ กล่าว

ดังนั้น องค์กรธุรกิจที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ จึงมีแต่ได้ประโยชน์ เพราะหลักนี้ช่วยดูแลบริหารจัดการ ตั้งแต่แนวคิดของพนักงาน ทั้งในแง่การเป็นคนพอเพียง มีวินัยทางการเงิน  และสอนคนให้เป็นผู้พัฒนาความรู้ของตัวเองสม่ำเสมอ  ซึ่งเมื่อบริษัทมีทรัพยากรมนุษย์ที่ดี กิจการของบริษัทก็จะเจริญก้าวหน้า  และเมื่อภาคธุรกิจแข็งแรง  ประเทศก็แข็งแรงตามไปด้วย

ในขณะที่ นายปรีชา ศิริ  ผู้ได้รับรางวัลวีรบุรุษผู้รักษาป่า (Forest Hero) ในการประชุมอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 10 ปี 2556 เปิดเผยว่า ชุมชนห้วยหินลาดใน ถูกยกให้เป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน คนอยู่ร่วมกับป่า  ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชุมชนจะให้ความสำคัญกับป่าไม้ และพื้นที่อยู่อาศัย โดยไม่เบียดเบียน หรือ หาประโยชน์จากป่าไม้  รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำรงชีพด้วยวิถีธรรมชาติ มีการจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสม ในการปลูกพืชผักสำหรับเป็นอาหารในชุมชน ไม่เคยคิดทำการเกษตรด้วยการทำลายธรรมชาติ  พร้อมกันนี้ชาวบ้านชุมชนห้วยหินลาดใน ยังตระหนักถึงการพัฒนาเยาวชน ให้รู้จักดูแลป่าไม้ที่อยู่อาศัย  ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงจะเน้นการทำอาชีพเกษตรแบบเลี้ยงดูตัวเอง ไม่ใช่ปลูกพืชเกษตรตามข้อเสนอของนายทุน

“ชุมชนของเราไม่ได้ยึดเงินเป็นที่ตั้ง แต่เราก็ไม่ได้ถึงกับปิดกั้นธุรกิจทุนนิยมซะทีเดียว เราก็แค่ไม่ได้ปลูกพืชตามข้อเสนอแนะของนายทุน เราปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เฉพาะที่เราต้องใช้บริโภค และเราก็มีการบริหารพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสม ไม่ทำลายทรัพยากรป่าไม้ ที่สำคัญเรายังช่วยสร้างจิตสำนักให้กับเยาวชนในการช่วยอนุรักษ์ป่าไม้อีกด้วย” นายปรีชากล่าวทิ้งท้าย