นักท่องเที่ยวชาวจีนกลายเป็นหนึ่งขุมทรัพย์ที่โกยเงินเข้าประเทศไทย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทย 8.7 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่ายรวมถึง 3.57 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่นักการตลาดไม่ควรมองข้าม
คนจีนชอปปิ้งในไทย 1.46 ล้าน ขนม–อาหารเฟื่องสุด
เมื่อเจาะอินไซต์ถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยข้อมูลของ “เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย)” พบว่า จากมูลค่าการใช้จ่ายรวมกว่า 3.57 แสนล้านบาทนั้น นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับการชอปปิ้ง 41% หรือคิดเป็น 1.46 แสนล้านบาท เมื่อเจาะตามเซ็กเมนต์ที่ชอปปิ้งก็พบว่า 63% ซื้ออาหาร/ขนม 62% ซื้อของที่ระลึก 51% ซื้อเสื้อผ้า และ 49% ซื้อเครื่องสำอาง หรือของใช้ส่วนตัว
ใช้จ่าย 2.5-5หมื่นบาท/หัว/คน
นักท่องเที่ยวจะมีการใช้จ่ายเฉลี่ย 25,000-50,000 บาท/คน/ทริป มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 38% รองลงมามีการใช้จ่าย 50,000-100,000 บาท/คน/ทริป คิดเป็นสัดส่วน 35% และ 100,000-250,000 บาท/คน/ทริป คิดเป็นสัดส่วน 12% ส่วนการใช้จ่าย 25,000 บาท/คน/ทริป มีสัดส่วน 10% และใช้จ่าย 250,000 บาท/คน/ทริป เพียง 5
ไทยเป็นเดสติเนชั่นแรกที่คนจีนเลือกมา
จากผลสำรวจพบว่าคนจีนเลือกประเทศไทยเป็นจุดมุ่งหมายแรกในการมาท่องเที่ยว (นอกเหนือจากขอบเขตของประเทศจีนอย่างฮ่องกง และมาเก๊า) รองลงมาเป็นประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ และเยอรมนี
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนจีนเลือกประเทศไทยคือเดินทางง่ายและใช้เวลาแค่ 4 ชั่วโมงจากเซี่ยงไฮ้เท่านั้น ในขณะที่ไปเที่ยวโซนยุโรปใช้เวลามากกว่า 10 ชั่วโมง
ในการหาข้อมูลการท่องเที่ยวพบว่าคนจีนนิยมใช้ “โซเชียลมีเดีย” ในการหาข้อมูล มีสัดส่วน 81% เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงมาก รองลงมาเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้น 74% สื่อออฟไลน์ต่างๆ 66% เว็บไซต์ท่องเที่ยว 58% เว็บพอร์ทัล 54% และอีคอมเมิร์ซ 47%
คนใช้อินเทอร์เน็ตในจีนคือใคร
ด้วยประชากรในประเทศจีนที่มีมากกว่า 1,350 ล้านคน แต่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนจีนถือว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมาก
ในปี 2559 จีนมีคนใช้อินเทอร์เน็ตรวม 731 ล้านคน มีการเติบโต 6% ครอบคลุม 53% ของประชากรทั้งหมดในจีน แต่ที่น่าสนใจคือประเทศจีนก้าวเข้าสู่ยุคโมบายเต็มรูปแบบ มีคนเข้าอินเทอร์เน็ตผ่านทางมือถือ 695 ล้านคน หรือคิดเป็น 95% ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด มีเพียงแต่ 5% เท่านั้นที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ
เมื่อลงรายละเอียดถึงประชากรศาสตร์ คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตแบ่งเป็น ชาย 52% และหญิง 48% ช่วงอายุที่มีการใช้เน็ตเยอะสุดคืออายุ 20-29 ปี สัดส่วน 30% รองลงมา 23% อายุ 30-39 ปี และ 20% อายุ 10-19 ปี
คนจีนมีการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 26 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็น 3.8 ชั่วโมง/วัน 5 กิจกรรมที่คนจีนใช้เวลาบนมือถือมากที่สุด 91% ไปกับโปรแกรม Instant Messaging รองลงมาเป็น 82% เสิร์ชเอ็นจิ้น 84% อ่านข่าว 75% ดูวิดีโอ และ 69% ฟังเพลง
“เทนเซ็นต์” ดันวีแชท จับตลาดคนจีนในไทย
เทนเซ็นต์เป็นหนึ่งในผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตในประเทศจีน ที่มีแพลตฟอร์มพอร์ทัลอย่าง “วีแชท” เป็นหัวหอกหลักมีการพัฒนาบริการให้เข้ากับไลฟ์สไตล์อย่างต่อเนื่อง
แต่ในประเทศไทยเทนเซ็นต์ไม่สามารถเข็นวีแชทเพื่อสู้กับเจ้าตลาดอย่าง “ไลน์” ได้ แม้จะมีเงินทุนหนาในการลงทุนปั้นบริการขนาดไหน แต่คนไทยก็ยังติดใจใช้ไลน์อยู่
ทำให้เทนเซ็นต์ในประเทศไทยเบนเข็มไม่ทำตลาดในส่วนผู้ใช้มากนัก แต่มุ่งไปทางธุรกิจ B2B คือใช้แพลตฟอร์มเป็นสื่อโฆษณาให้แบรนด์ ได้เริ่มโปรเจกต์ Tencent Social Ads สำหรับทำตลาดให้แบรนด์ที่ต้องการจับตลาดนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ
มองเห็นตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนมาก และส่วนใหญ่ติดใจแบรนด์ไทยอย่างพวกขนม อาหารต่างๆ แต่ยังไม่มีแพลตฟอร์มให้แบรนด์ทำการตลาดกับคนจีนได้โดยตรง แต่เดิมจะมีเพียงแค่การตลาดผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ยังไม่สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน จึงอาศัยช่องว่างตรงนี้ในการบุกตลาด
กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า “โปรเจกต์นี้ได้เริ่มทำมาได้ปีกว่าแล้ว แต่เพิ่งมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ การทำงานของ Tencent Social Ads คือให้แบรนด์ไทยที่ต้องการทำตลาดกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาไทย ลงโฆษณาในแพลตฟอร์มของเทนเซ็นต์ ได้แก่ WeChat, QQ และ Q Zone โฆษณาจะส่งตรงไปกับกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ รูปแบบโฆษณาจะมีทั้งแบนเนอร์ คอนเทนต์ และโปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ คล้ายกับ LINE Official Account ที่เป็นช่องทางการสื่อสารของแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยดี
ปัจจุบันได้พูดคุยกับแบรนด์ต่างๆ ร่วม 10 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร รีเทล ยกตัวอย่างแบรนด์เนสท์เล่ที่มีสินค้าชามะนาวเนสท์ทีที่เป็นสินค้ายอดนิยมของคนจีนที่มาไทยแล้วต้องซื้อกลับไป ก็ได้ติดต่อลงโฆษณาในแพลตฟอร์มนี้ของเทนเซ็นต์
Tencent Social Ads จะเป็นหนึ่งในธุรกิจส่วนของการให้บริการ ที่หวังว่าจะทำรายได้ให้เทนเซ็นต์ประเทศไทยเพิ่ม จากปัจจุบันที่มีรายได้ส่วนใหญ่จาก Media หรือเว็บไซต์ sanook.com
อีกทั้งการขยายช่องทางของเทนเซ็นต์ครั้งนี้ก็เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ เพราะจากตลาดเดิมไม่สามารถแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่างไลน์ได้ จึงเลือกจับตลาดคนจีนที่เป็นจุดแข็งของบริษัท