AIS แทคทีม TCDC เปิด AIS D.C. เติมจิ๊กซอว์ลงทุนด้านสตาร์ทอัพ

ถ้าพูดถึง TCDC (Thailand Creative and Design Center) ที่เป็นศูนย์สร้างสรรค์สำหรับนักออกแบบ ถือเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ที่เป็นคอมมูนิตี้ รวมถึงพื้นที่ในการนั่งทำงาน เป็นโมเดลต้นแบบให้กับ Co-working Space ในเมืองไทย แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีการย้ายที่ตั้งใหม่ไปประจำการที่บางรัก ทำให้พื้นที่เดิมที่ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรี่ยม ชั้น 5 ถูกเปลี่ยนมือมายัง AIS พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น AIS D.C. เป็นการผสมกันระหว่าง AIS และ TCDC นั่นก็คือเป็นการบริหารร่วมกันของ AIS และ TCDC โดยที่เอไอเอสทำการเช่าพื้นที่โดยตรงกับทางห้างฯ แต่การจัดการส่วนใหญ่จะให้ TCDC เป็นผู้ดูแล เพราะมีความเชี่ยวชาญมากกว่า      

คอนเซ็ปต์หลักของ AIS D.C. ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก เพียงแต่มีการปรับแต่งดีไซน์ใหม่ราวๆ 30% เน้นในเรื่องของเทคโนโลยี ดีไซน์ และธุรกิจ รวมถึงเป็นพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้ต่อยอดไอเดีย ภายในมีพื้นที่ 2,300 ตารางเมตร ประกอบด้วย 6 โซนด้วยกัน ได้แก่ ห้องสมุด, ห้องประชุม, นิทรรศการ, สัมมนา/เวิร์คช้อป, ห้องสตูดิโอ และ Playground

Community Library
Playgroud

การที่เอไอเอสรุกธุรกิจนี้เพื่อเป็นการเติมจิ๊กซอว์ให้กับแนวคิด Digital for Thais เป็นวิชั่นที่ได้ประกาศถึงการเป็น Digital Service Provider ที่เน้น 4 ด้านด้วยกัน เกษตรกรรม, สุขภาพ, การศึกษา และสตาร์ทอัพ โดยที่ AIS D.C. ได้เข้ามาเติมเต็มส่วนของสตาร์ทอัพที่มีทิศทางในการเติบโตสูง ซึ่งเอไอเอสเองก็มีโครงการ AIS The StartUp ที่ทำต่อเนื่องมา 6 ปีแล้ว

ก่อนหน้านี้เอไอเอสได้มีโปรเจกต์ C.A.M.P. AIS ที่ห้างเมญ่า จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2557 เป็นคอนเซ็ปต์ Co-working Space และมีพื้นที่นั่งแฮงก์เอาต์ได้ แต่พื้นที่เล็กแค่ 300-400 ตารางเมตร หลังจากที่เปิดให้บริการมาก็พบว่าได้ผลตอบรับที่ดี จึงอยากเปิดโมเดลนี้ที่กรุงเทพฯ และทำขนาดให้ใหญ่ขึ้น จึงได้พูดคุยกับกับทาง TCDC ในการบริหารพื้นที่ที่เอ็มโพเรียมต่อ

ปรัธนา ลีลพนัง รักษาการหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด เอไอเอส กล่าวว่าการเปิด AIS D.C. จะทำให้ภาพของการลงทุนด้านสตาร์ทอัพชัดขึ้น รวมถึงสร้างเป็นคอมมูนิตี้สำหรับคนทั่วไปด้วย ต้องการทำให้เป็นห้องสมุดกึ่ง Co-working Space พูดคุยกันได้ มีคาเฟ่นำเครื่องดื่มขนมมาทานได้ และเป็นพื้นที่ต่อยอดในการทำธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพ

ไฮไลต์สำคัญของ AIS D.C. ก็คือโซน Playground ที่ให้นักพัฒนาโปรแกรม หรือสตาร์ทอัพได้ทดสอบระบบเชื่อมต่อ API บนผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เพื่อทดสอบการทำงานของแอปพลิเคชั่นแบบเสมือนจริงกับอุปกรณ์ให้ทดสอบกว่า 100 รุ่น เปิดให้ทดสอบฟรี แต่ต้องมาลงทะเบียนในเว็บไซต์

ส่วนโซนเวิร์คช้อปจะเป็นพื้นที่บ่มเพาะให้กับสตาร์ทอัพในเครือของเอไอเอส จะมี Speaker ที่มีชื่อเสียงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถ่ายทอดเทคนิคต่างๆ

จะเปิดให้บริการในวันที่ 13 .. 2560 มีอัตราค่าบริการ 150 บาท/คน/วัน หรือสมาชิกรายปี บุคลทั่วไป 1,200 บาท/คน นักเรียน/นักศึกษา 600 บาท/คน โดยที่สามารถใช้บริการ TCDC ได้ทุกที่