จากกรณีที่ คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ OTT มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. เป็นประธานอนุกรรมการ ได้กำหนดให้ YouTube และ Facebook ต้องมาลงทะเบียนภายใน วันที่ 22 กรกฎาคม หากไม่มาลงทะเบียนภายในกำหนด ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มเถื่อน ผิดกฎหมาย หากใครยังคงซื้อโฆษณา จะถือว่าเป็นผู้สนับสนุนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิด พ.ร.บ.คลื่นความถี่ และผิดกฎหมายอาญา
ล่าสุด ทางด้าน ตัวแทนจาก Google ประเทศไทย ได้ระบุว่า กำลังศึกษาในประเด็นนี้อยู่ เพราะตั้งแต่ที่มีประกาศออกมายังไม่มีกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรออกมาว่า ข้อกฎหมายคืออะไร ระเบียบมีอะไรบ้าง ถ้าเซ็นลงทะเบียนไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างยังไม่ชัดเจน ทางกูเกิลประเทศไทยได้ให้ทีมกฎหมายที่สิงคโปร์ศึกษาเพิ่มเติมอยู่ พร้อมกับมอบหมาย AIC เป็นตัวแทนเข้าไปกับ กสทช. จะได้เป็นเสียงเดียวกันกับแพลตฟอร์มอื่นด้วย จึงยังบอกในเวลานี้ไม่ได้ว่าจะไปลงทะเบียนในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้หรือไม่
ส่วนผู้ที่ลงโฆษณากับทางยูทูบก็มีความกังวลอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการหยุดลงโฆษณา แจ้งไปว่ากำลังศึกษาอยู่ แต่ถ้ายังขาดความชัดเจน และเกิดอะไรขึ้นจริง ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่สุดก็คือ Content Creator เพราะหารายได้โดยตรงจากยูทูบ
แต่อย่างไรก็ตาม ยูทูบ และกูเกิล เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ เรื่องรายได้ไม่กระทบมาก และถ้าจะลงโฆษณาก็สามารถซื้อได้จากต่างประเทศได้อยู่ดี อย่างเอเยนซีที่เป็นบริษัทข้ามชาติ สามารถสั่งซื้อโฆษณาผ่านเครือข่ายในต่างประเทศได้ ผลกระทบจะเกิดกับเอเยนซีรายเล็ก ที่ไม่มีเครือข่ายต่างประเทศ อาจได้รับผลกระทบ เพราะซื้อโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้
ส่วนทางด้านเอเยนซีโฆษณา และองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จะมีท่าทีอย่างไรนั้น ส่วนใหญ่ขอรอดูวันที่ 22 กรกฎาคม และหากทั้งสองแพลตฟอร์มไม่ลงทะเบียน คงต้องโดยหยุดลงโฆษณา และหันไปหามีเดียอื่นๆ แทน แต่ก็หวั่นว่าจะไม่สามารถหาสื่อที่เข้าถึงคนจำนวนมาก มาทดแทน 2 แพลตฟอร์มนี้ได้