โอกาสของชีวิต

ตั้งแต่ความพยายามรีแบรนด์ชื่อบริษัทให้คนเลิกจำคำว่า ปูนใหญ่ มาเป็น SCG กรุ๊ป ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก แต่ภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ น่าจะมีส่วนช่วยให้เกิดแรงกระเพื่อมที่เพิ่มมากขึ้นไม่มากก็น้อย

นี่คือภาพยนตร์ที่เน้นหนักไปในเรื่องของการสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ชัดเจนนักว่าเป็นเนื้อหาในเรื่องของการสร้างกระแสเพื่อสังคม (CSR) หรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์ธรรมดากันแน่ แต่ก็พอจะอะลุ้มอล่วยกันได้บ้าง เพราะความหมายของคำว่า โอกาสนั้น ว่ากันตามจริงแล้ว มันก็เวิ้งว้าง และไม่ชัดเจนพอสมควร

ลองดูภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ดูก่อน

เริ่มต้นด้วยชายหนุ่มที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย กลับมาบ้านเก่า พบพ่อของตนกำลังง่วนกับการประดิษฐ์อะไรบางอย่างบนโต๊ะตัวเดิมอันคร่ำคร่า

จากนั้นภาพก็ตัดกลับ ย้อนเวลาไปที่เด็กชายตัวเล็กกับพ่อที่พยายามจะประดิษฐ์งานตามฝันของตัวเอง จากการแก้ปัญหาที่ทางนักวิชาการเรียกว่า Thought Experiments อันเป็นจุดเริ่มต้นทางด้านปัญญา ที่หากฝึกให้คุ้นเคยแล้ว จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ สำหรับการค้นคว้าต่อๆ ไป

ภาพตัดกลับมาที่ปัจจุบันอีกครั้ง ชายหนุ่มที่กลายมาเป็นอาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่กระตือรือร้น กับบรรดาลูกศิษย์ ได้กลับมาบ้าน เพื่อจะพบกับพ่อที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจแต่อดีต

พ่อซึ่งบัดนี้แก่ตัวลงไปแล้ว แต่ความใฝ่ฝันจะเป็นนักประดิษฐ์และแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น ยังคงมีไฟที่ไม่เคยดับมอด

พ่อลูกพบกันอีกครั้ง พร้อมกับภาพที่ตัดไปสู่ตอนจบอันน่าประทับใจ ด้วยถ้อยคำว่า “หากคนรุ่นใหม่ได้รับโอกาส”

อย่างที่เกริ่นเอาไว้ก่อน แม้สาระที่ภาพยนตร์เสนอมาจะคลุมเครือ เพราะคำว่า โอกาส มีความหมายคลุมเครือในตัวมันเอง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าวิตก เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ที่แสวงหาต้องถอดรหัสและทำให้กระจ่างกันออกมาเพื่อเดินหน้าสร้างชีวิตแห่งอนาคตให้สดใสกว่าเดิม

คำว่าโอกาส ในทางพจนานุกรมฝรั่งนั้น ยาวกว่าของไทย เพราะแยกแยะความหมายออกเป็น 5 ด้านด้วยกันคือ โอกาสทางกฎหมาย โอกาสทางสังคม โอกาสทางธุรกิจ โอกาสทางการเมือง และโอกาสทางการตลาด ซึ่งแต่ละด้านก็มีนิยามแตกต่างกันไปอย่างจำเพาะ แถมบางครั้งยังอาจจะขัดแย้งกันเองอีก

คำว่าโอกาสทางการเมือง มีคนนิยามว่า การลดข้อจำกัดในการเข้ามีส่วนร่วมเชิงอำนาจ ซึ่งประกอบด้วย การเคลื่อนตัวอย่างเป็นอิสระ การรุกคืบเพื่อสร้างความก้าวหน้าเหนือผู้อื่น การใช้ประโยชน์จากเป็นพันธมิตรกับผู้อื่น การมีส่วนใช้กลยุทธ์และเพทุบายเหนือผู้อื่น และการเข้าร่วมในสถาบันหลักของสังคมอย่างเต็มที่เท่าที่จะเป็นได้

ในขณะที่คำว่า โอกาสที่ธุรกิจ (เรียกแบบดัดจริตว่า Bizopp) หมายถึงความสามารถที่จะฉวยโอกาสในการเริ่มใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งของสังคมมาเป็นของตนเองได้ เท่าที่องค์ประกอบจะเอื้อให้

ในทางกฎหมาย หมายถึงความสามารถที่จะป้องกันตัวเอง และการกล่าวโทษผู้อื่นตราบใดที่กติกาเปิดช่องให้

ภายใต้ความแตกต่างของนิยามของสาขาความรู้ต่างๆ เหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่มีใครสรุปนิยามได้แสบสันกว่าใครๆ ก็คือ แม่ชีเทเรซ่า นักบุญผู้ล่วงลับที่แสนจะยิ่งใหญ่ ผู้ซึ่งพูดเอาไว้สั้นๆ ว่า Life is an opportunity, benefit from it.

ไพเราะและลึกซึ้งยิ่งนัก

แค่การมีชีวิต ก็คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ไม่ต้องไขว่คว้า แต่หาประโยชน์จากมันให้ได้ก็เพียงพอแล้ว

เพียงแต่ว่าสำหรับมนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ ที่มิใช่นักบุญระดับแม่ชีเทเรซ่า การไขว่คว้าหาโอกาสเพื่อจะได้มีที่ยืนในสังคมอันกว้างใหญ่ และเต็มไปด้วยการแข่งขัน ยังคงเป็นยอดปรารถนาของคนหนุ่มสาวผู้กระตือรือร้น เนื่องจากความฝันนั้น มักจะใหญ่โตกว่าที่จะเป็นจริงได้เสมอ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ต้องเข้าใจว่า การแสวงหาโอกาสของเรานั้น จะต้องไม่ใช่แค่อาศัยแค่ความฝัน หากจะต้องเกิดจากความมุ่นมั่นและฝึกฝนอย่างเอาจริงเอาจริงที่เป็นรูปธรรมประกอบไปด้วยเสมอ

นักมวยที่อ่อนซ้อม ย่อมไม่มีวันคว้าเหรียญทองเหมือนสมจิต จงจอหอ

นักดนตรีที่อ่อนซ้อม ไหนเลยจะเสมอเหมือนเอริก แคล็ปตัน และ บี บี คิง

นักประดิษฐ์ที่ไม่เข้าห้องทดลอง ไหนเลยจะกลายเป็นนิโคล่า เทสล่า หรือว่าบิลล์ เกตส์

ภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ จึงเป็นแรงกระตุ้นเบื้องต้นสำหรับคนที่ยังขาดความมุ่งมั่นและขาดความฝันอันยิ่งใหญ่ได้อย่างน่าประทับใจยิ่งนัก

ยิ่งตัวแสดงนั้นมีตัวตนจริงๆ ที่ใช้อ้างอิงได้ด้วยแล้ว ยิ่งถือว่าน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าคำนิยาม “โอกาส” จะมีความหมายคลุมเครือแค่ไหนก็ตามที