ฝ่าวิกฤตร้อน ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

กลายเป็นกระแสร้อนขึ้นมาอีกครั้งสำหรับ“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” Sufficiency Economy เพราะเชื่อว่าจะเป็นทางออกเดียวในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของไทย ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญ กูรูนักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์กันว่า ปีหน้าธุรกิจจะประสบวิกฤตอย่างหนัก

งานนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจ องค์กรจำเป็นต้องหันมาเตรียมตัวรับมือ เพื่อฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้ หนึ่งในแนวทางหลักที่ถูกพูดถึงเวลามากที่สุด คือ การบริหารจัดการธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ผศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร ประธานสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (หลักสูตรนานาติ) วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางและกระบวนการคิดที่จะนำไปสู่หลักการปฏิบัติทางธุรกิจที่ตั้งอยู่บนฐานความรู้ ความมีเหตุมีผล ความระมัดระวัง นวัตกรรม การช่วยเหลือแบ่งปัน และการสร้างภูมิคุ้มกัน

การนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ สิ่งสำคัญคือ ผู้บริหาร ผู้นำองค์กร หรือเจ้าของธุรกิจ จะต้องปรับกระบวนการคิด นโยบาย การบริหาร จากที่เคยมุ่งแสวงหากำไรขององค์กร มุ่งเน้นความพึงพอใจสูงสุดของผู้ถือหุ้น ปรับมาสู่รูปแบบของกระบวนการคิดที่ให้ความสำคัญเรื่องของสังคมเป็นที่ตั้ง

“เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญและใส่ใจกับพนักงานขององค์กร สิ่งแวดล้อม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ ด้วยความพอประมาณ การมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ภายใต้เงื่อนไข ความรู้และความมีคุณธรรม “ผศ.ดร.สุขสรรค์ อธิบาย

สิ่งเหล่านี้เป็นรูปแบบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติขององค์กรที่ยั่งยืนจากในและต่างประเทศกว่า 300 แห่ง และจากการศึกษามาตลอดช่วงเวลากว่า 5 ปี รูปธรรมการปฏิบัติที่ชัดเจนที่สุดคือความจริงใจและคุณธรรมที่ให้กับลูกค้าและพนักงาน เสมือนว่าเป็นคนในครอบครัว แม้ในยามที่องค์กรเกิดวิกฤตก็ไม่มีนโยบายการปลดพนักงาน”

ดร.สุขสรรค์บอกด้วยว่า จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในธุรกิจระดับโลกถึงจุดก่อเกิดนวัตกรรมขององค์กรว่ามาจากที่ใดมากที่สุด คำตอบส่วนใหญ่ คือ มาจากพนักงาน ทั้งนี้ หากองค์กรที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ มักแก้ปัญหาด้วยการตกแต่งตัวเลขทางบัญชีให้สวยงาม เพื่อเอาใจผู้ถือหุ้นและนักลงทุน และมักใช้วิธีการปลดพนักงาน ก็เท่ากับเป็นการทำลายแหล่งกำเนิดนวัตกรรมขององค์กรไปด้วย มักพบในบริษัทอเมริกันส่วนใหญ่มักจะใช้กลยุทธ์นี้และในกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เดียวที่ล้มหลายตายจากไปในที่สุด

ทั้งนี้หลักทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยองค์กรรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจได้ หากองค์กรมีการใส่ใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยึดประโยชน์โดยรวมของสังคมเป็นที่ตั้ง ขณะเดียวกันยังมุ่งรักษาพนักงาน และการใส่ใจกับพนักงานเสมือนว่าเป็นบุคคลในครอบครัว

“สิ่งที่ได้กลับคืนมาจากพนักงาน คือ ความทุ่มเทในการทำงาน นวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์จากการทำงานของพนักงาน เพราะพนักงานหรือคนทำงานเป็นคนที่คุ้นเคยอยู่แล้วกับลูกค้า และลูกค้าย่อมสบายใจที่จะได้ติดต่อกับพนักงานคนเดิมที่รู้ข้อมูลของตนเองดีอยู่แล้ว ดีกว่ามีพนักงานใหม่ที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ และลูกค้าต้องคอยตอบคำถามใหม่อยู่เรื่อยไป

เมื่อได้ความความคิดสร้างสรรค์จากพนักงาน ทั้งภาคการผลิต การบริการ และจะทำให้องค์กรมีผลิตผลที่แตกต่างจากตลาด สามารถสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้า ให้ยอมจ่ายในราคาที่สูงกว่าตลาด หรือสมัครใจที่จะเป็นลูกค้าประจำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำคัญมากต่อองค์กรโดยเฉพาะในยามวิกฤต”

องค์กรธุรกิจใดต้องการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ เพื่อสร้างความยั่งยืน ดร.สุขสรรค์ แนะนำว่า องค์กรควรมีแนวทางในการดำเนินการดังต่อไปนี้

ประการแรก ต้องให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอันดับหนึ่ง

ประการที่สอง ต้องพัฒนาพนักงานในเรื่ององค์ความรู้และทักษะเฉพาะขององค์กร โดยหัวหน้าจะต้องเป็นผู้อบรมให้กับลูกน้องเอง

ประการที่สาม ต้องมีการกระจายอำนาจและการตัดสินใจออกไปทุกส่วนงาน เพราะ องค์กรที่ยั่งยืนหมายถึง องค์กรที่อยู่ได้ไปเรื่อยๆ อย่างยาวนาน จึงไม่ควรขึ้นอยู่กับคนคนเดียว หรือทีมงานเดียว

ประการที่สี่ องค์กรจะต้องมีการคำนึงถึงการทำแผนการสำหรับอนาคตด้านบุคลากร(Succession Plan) จากการศึกษาพบว่า บริษัทในไทยโดยเฉพาะองค์กรแบบ SMEs แทบจะไม่มีการคำนึงถึงเรื่องแผนงานบุคคลล่วงหน้ากันเลย ทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดการบริหารงานจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยสามารถรักษาจุดเด่นหรือหัวใจของธุรกิจไว้ได้เต็มร้อย

ประการที่ห้า ให้ความสำคัญต่อการโปรโมตพนักงานจากคนในองค์กรก่อนที่จะมองหาคนนอกเข้ามาบริหาร

ประการที่หก องค์กรต้องหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาโดยการการปลดพนักงานออก เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งระบบเศรษฐกิจมีขึ้นลง เมื่อเข้าสู่ขาลงหากองค์กรปล่อยให้พนักงานส่วนหนึ่งต้องออกไป แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มพื้นตัวและมีการเติบโตขึ้น จะเอาคนที่ไหนมาทำงาน อีกทั้งต้องใช้เวลานานกว่าจะมีทักษะและความชำนาญเท่ากับคนเก่า

ประการสุดท้าย ต้องไม่ละเลยเรื่องวัฒนธรรมองค์กร จากการศึกษาพบว่า องค์กรที่จะสามารถผ่านคลื่นวิกฤตที่ผ่านมาลูกแล้วลูกเล่ามาร่วม 100 ปีได้นั้น มักจะเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง สามารถใช้วัฒนธรรมองค์กรให้เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวพนักงานทุกคนในองค์กรได้อย่างเหนียวแน่น

“มีตัวอย่างหลายๆ องค์กรที่ไม่ได้ให้พนักงานออกในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ใช้วิธีลดต้นทุนโดยการลดเงินเดือนของพนักงาน เพื่อความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งวิธีนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าวัฒนธรรมองค์กรไม่แข็งแกร่งพอก็จะไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาได้”

อย่างไรก็ตาม การนำเอาหลักการทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ก็มีข้อควรระวัง ดร.สุขสรรค์บอกว่า โดยเฉพาะเรื่องของการตีความ ซึ่งที่ผ่านๆ มาจนถึงขณะนี้ยังคงมีการตีความเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงว่า การอยู่ไปวันๆ แค่พอกินพอใช้ ไม่ต้องดิ้นรนอะไรให้มากมาย ซึ่งเป็นกระบวนการตีความแนวทางปรัชญาที่ผิดมากๆ และเป็นแนวคิดที่ขาดความมีเหตุมีผล ไม่มีภูมิคุ้มกันอย่างสิ้นเชิง

แนวทาง10 ประการไปสู่องค์กรธุรกิจแบบเศรษฐกิจพอเพียง

องค์กรประเภทเอสเอ็มอี
1. มองการณ์ไกลในการบริหารจัดการและตัดสินใจในเชิงนโยบาย ไม่มุ่งหวังกำไรในระยะสั้น แต่คิดถึงผลกระทบในระยะยาว
2. ให้คุณค่าแก่พนักงานอย่างจริงใจและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาพนักงานของตนเองให้เป็นผู้บริหาร หลีกเลี่ยงการให้พนักงานออก แม้แต่ในยามทุกยากทางเศรษฐกิจ เพราะพนักงานคือสินทรัพย์ที่พัฒนาได้ขององค์กร
3. จริงใจและหวังดีต่อผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจทั้งหมด รวมถึงประชากรและสังคมในอนาคต
4. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมทั่วทั้งองค์กร ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และขบวนการให้บริการหรือขบวนการผลิต
5. ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
6. ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ แต่ราคาไม่สูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบบไทยๆ หรือพื้นบ้าน
7. ขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อพร้อมทุกด้านเท่านั้น
8. ลดความเสี่ยง โดยการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตลาดที่หลากหลาย และการลงทุนที่หลากหลาย โดยอยู่บนพื้นฐานของความรู้จริง
9. แบ่งปัน รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ที่มี เพื่อพัฒนาตลาด และเพื่อผลประโยชน์ที่ตกแก่ผู้บริโภคและสังคม
10. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรม ความอดทน และขยันหมั่นเพียร เป็นค่านิยมพื้นฐาน

-องค์กรขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
1. มองการณ์ไกลในการบริหารจัดการและตัดสินใจในเชิงนโยบาย ไม่มุ่งหวังกำไรในระยะสั้น แต่คิดถึงผลกระทบในระยะยาว โดยรวมถึงการคาดการณ์ถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต และลงทุนในการเตรียมองค์กรให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนั้น
2. มีการรักษาและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงจากภายในองค์กร
3. ให้ความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจทั้งหมด รวมถึงประชากรและสังคมในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม ถึงแม้ว่าในบางกรณีอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
4. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมทุกมิติขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ไม่จำกัดอยู่เพียงนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่เกิดจากหน่วยงาน Research & Development แต่เพียงอย่างเดียว
5. ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
6. พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต หรือให้บริการที่มีประสิทธิภาพ แต่ราคาไม่สูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่อาจเกิดจากภูมิปัญญาไทย
7. ขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วเท่านั้น
8. การบริหารความเสี่ยง โดยการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตลาดที่หลากหลาย และการลงทุนที่หลากหลาย โดยอยู่บนพื้นฐานของความรู้จริง
9. แบ่งปัน รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ที่มี เพื่อพัฒนาตลาด และเพื่อผลประโยชน์ที่ตกแก่ผู้บริโภคและสังคม
10. มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง โดยมีจริยธรรม ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรม ความอดทน และขยันหมั่นเพียร เป็นค่านิยมพื้นฐาน