“ปัญหายิ่งมาก จะยิ่งสร้างสติปัญญา สร้างภูมิคุ้มกันให้มากขึ้นเท่านั้น”

คนไทยกำลังต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตรอบด้าน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน สินค้าราคาแพง ปัญหาการเมือง เราจะจัดการกับการใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลางวิกฤตเหล่านี้ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา ว.วชิรเมธี พระนักคิด ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำรงชีวิต ทั้งระดับรัฐบาล องค์กรธุรกิจ และคนทั่วไป จะรับมืออย่างไร ภายใต้วิกฤตการณ์ครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

การเมืองยุ่งเหยิง

หากต้องการแก้ปัญหาการเมืองอย่างยั่งยืนแล้ว ท่านว.วชิระเมธี เสนอแนวว่า ข้อแรก ต้องปรับโลกทัศน์ใหม่มองให้เป็นระบบ เน้นการวิเคราะห์หรือวิจัย จึงจะนำไปสู่หนทางการแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จและเด็ดขาด

แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้ เพราะแทนจะวิเคราะห์ ก็กลับมองปัญหาว่าเป็นเรื่องของ “เคราะห์” การแก้ปัญหาจึงหนักไปทาง “สะเดาะเคราะห์”

เมื่อมองปัญหาด้วยท่าทีเช่นนี้ เท่ากับเป็นการปัดความรับผิดชอบ ว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวคน หรือนักการเมืองที่สร้างปัญหา หากแต่โยนความผิดไปที่ “มือที่มองไม่เห็น” หรือไสยเวทย์ หรือบางโทษว่าเป็นดวงชะตาของประเทศ การมองเช่นนี้เท่ากับยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้ทับซ้อนขึ้นไปอีก

ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด ต้องมีโลกทัศน์ในการมองปัญหาอย่างเป็นจริง ไม่เช่นนั้นเราจะหลงผิดอยู่ในไสยเวทย์ ทำให้ผู้กุมชะตาประเทศจึงไม่ใช่นายกรัฐมนตรี หากแต่เป็นหมอดูประจำตัวของนายก หรือพระสงฆ์บางรูป หาใช่การแก้ปัญหาอย่างที่เป็นจริง

ประการต่อมา (2) คนไทยทั้งประเทศต้องลดเรื่องของ “ความรู้สึก” ลง และเพิ่ม “ความรู้”ให้มากขึ้น เพราะในสังคมที่เน้นความรู้สึกมาก คนจะอยู่กันด้วยความขัดแย้ง แต่ในสังคมที่คนมีความรู้ ประชาชนจะอยู่ด้วยเหตุผล ประเทศก็จะไม่เปลี่ยนแปลงด้วยการเอาความรู้สึกเป็นตัวตั้ง แต่ประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปตามแนวทางของประชาธิปไตยที่แท้จริง

ดังคำที่ว่า “Knowledge is power” ความรู้คือพลัง ไม่ใช่ “Feeling is power” ความรู้สึกคือพลัง ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง

ประการถัดมา (3) คนไทยจะต้องปล่อยวาง “ลดมานะ ลดทิฐิ ลดตัวเอง (อัตตา) ลง” ให้เหลือน้อยที่สุด และเชิดชูประเทศชาติให้อยู่สูงสุด ประเทศชาติจึงจะรอดพ้นจากปัญหาได้

ดูอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง ทันทีที่เกิดปัญหาวิกฤตเลแมน บาเดอร์ส ประธานาธิบดี จอร์ช ดับเบิลยู บุช ก็เรียกประชุมสภา และนักการเมืองทันทีโดยบรรดาผู้เข้าประชุม มีทั้ง บารัก โอบามา จอร์ช แมคเค ฮิลลารี คลินตัน ซาร่า เพลีน มีทั้งคนในพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลีกัน ภาพความสามัคคีนี้ ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ให้เห็นถึงการแก้ปัญหา โดยไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก เพราะเพื่อประเทศแล้ว หากเราทุกคนยอมวางอัตตา นี่คือเคล็ดลับที่ทำให้สหรัฐอเมริกายังคงยิ่งใหญ่ในเวทีโลกได้

เช่นเดียวกับเมืองไทย หากจะแก้ปัญหานักการเมืองและประชาชน จะต้องถอยออกมาคนละก้าว และมาตั้งวงแก้ปัญหาอย่างผู้ที่มีปัญญา ยอมฟังกันและกันอย่างลึกซึ้ง เอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด จะเป็นหนทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ประการที่ 4 ชนชั้นนำในสังคมไทย ต้องไม่ไปมุ่งเรื่องการออกแบบรัฐธรรมนูญ แต่ควรออกแบบ “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ให้ฝังรากลึกไปยังจิตใจประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

ดูอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ และอินเดีย ประเทศเหล่านี้ไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่กลับสามารถสร้างระบอบประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืนได้ ซึ่งก็เป็นเพราะเขาสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้กับประชาชนในประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ทางออกของเมืองไทย ในการแก้ปัญหา จึงควรสร้างความรู้อย่างกว้างขวาง เพื่อปลูกฝังเรื่องของวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้กับประชาชนอย่างลึกซึ้ง โดยแทรกซึมอยู่ในจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไม่ใช่มุ่งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

ประการที่ 5 คุณภาพของประชาธิปไตยจะดีแค่ไหน จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน หากต้องการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย จะต้องร่วมกันพัฒนาสติปัญญาของประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจ หากไม่ทำเช่นนี้ก็ยากจะพัฒนาประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืน

ประชาธิปไตยอยู่ในมือของคนที่ไม่มีความรู้ จะเป็นเสียงของความต้องการที่ขาดมโนธรรม และอาจถูกโน้มเอียงไปในทางที่ไม่ถูก ประเภทพวกมากลากไป โดยมีธนาธิปไตยเป็นตัวผลักดัน ดังนั้นรัฐบาลและนักการเมืองจะต้องมีความจริงใจต่อการสร้างคุณภาพของประชาชน

เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา มีรัฐบาล และแถลงนโยบายต่อหน้รัฐสภาเท่านั้น หากแต่การเมืองไทยจะต้องคำนึงถึง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และคุณภาพของประชาชน

ธุรกิจล้มได้ แต่คนต้องไม่ล้ม

ส่วนคนไทยจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลพวงของวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกานั้น ท่านว.วชิรเมธี เสนอแนะแนวทางในระดับรัฐบาลว่า
1. จะต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่ไปทับซ้อนปัญหาเศรษฐกิจวิกฤตเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลต้องใช้สติเป็นตัวนำทางในการแก้ปัญหา

2. ผู้ที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะต้องเลือกมืออาชีพตัวจริงทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่เลือกจากโควตาทางการเมือง หรือให้คนบางคนจากบางตระกูลเข้ามาแก้ไขปัญหา

3. ต้องหาแนวทางความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจจากทุกฝ่าย โดยมองข้ามความขัดแย้งทางการเมือง ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถรับมือกับการแก้วิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ได้

4. ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็น บริษัทข้ามชาติ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีฐานเงินทุนจำนวนมาก ตลอดจนผู้ประกอบการราย่อยก็ตาม ต้องพร้อมที่จะรักษาใจ และมีสติ แม้ว่าต้องเสียเงินไปมากมายเท่าไหร่ก็ตาม แต่ต้องไม่เสียชีวิต

ดังคำที่ว่า “เงินทองเป็นของมายา ชีวิตนั้นหนาเป็นจริง”

ธุรกิจนั้นล้มได้ แต่ชีวิตต้องไม่ล้ม เพราะสิ่งที่มีค่าในชีวิตนั้น หาใช่เงินทอง แต่เป็นชีวิตนั่นแหละคือสิ่งมีค่าสูงสุด และเมื่อยังมีชีวิต ย่อมมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นใหม่ได้เสมอ

5. ในส่วนของคนทั่วไป จะต้องตั้งสติให้ดี โดยเปลี่ยนวิธีคิดและการบริโภค จากการมุ่งบริโภคโดยสนองความอยาก หรือบริโภคเพื่อแสดงฐานะทางสังคม บริโภคเพื่อตามแฟชั่น มาเป็นการมุ่งบริโภคตามความจำเป็น

หากบริโภคโดยมุ่งเรื่องของ “ประดับ” จะต้องหาใช้จ่ายเกินความจำเป็น จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดและการบริโภคใหม่ มุ่งบริโภคเพื่อประโยชน์ตามความเป็นจริง จึงจะสามารถประหยัดได้

6. ไม่ว่าต้องเผชิญกับวิกฤตหนักเพียงใดก็ตาม จะต้องมองโลกแง่ดี ให้มองว่า วิกฤตครั้งนี้คือ การเรียนรู้เพื่อยืนหยัดต่อไป ปัญหายิ่งซับซ้อน สถานการณ์ยิ่งแหลมคมเท่าใด ก็ยิ่งเป็นหนทางแห่งการสร้างสติปัญญา เปรียบเป็นครูอันยิ่งใหญ่ ที่ฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ สร้างวุฒิภาวะ และภูมิคุ้มกันในการดำเนินในรูปแบบ

หากมองโลกแง่ดีแบบนี้แล้ว ไม่ว่าจะเจอปัญหามากเท่าใด ก็จะช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้