ในโลกเทคโนโลยีทุกวันนี้ หากมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง บริษัทก็สามารถจ้างทีมงานที่แข็งแกร่งได้ หากมีไอเดียดี ๆ ก็สามารถสร้างผลิตภัณฑ์สุดคูลได้ แต่การจะเทรนอัลกอริธึมให้กลายเป็นอัจฉริยะได้นั้น บางครั้งแค่เงินอย่างเดียวก็ทำให้ไม่ได้เสมอไป เพราะสิ่งที่ระบบต้องการมากที่สุดไม่ใช่อัจฉริยะ ไอเดีย หรือเงิน หากแต่เป็น “ข้อมูล”
ความได้เปรียบเสียเปรียบกันในโลกแห่งเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งนี้ จึงอยู่ที่ว่าใครมี “ข้อมูล” มากกว่ากัน ซึ่งนั่นทำให้เกิดบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของอดีตวิศวกรมือหนึ่งด้านปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์ (Microsoft) อย่าง Qi Lu ที่ตอนนี้ย้ายมาอยู่กับไป่ตู้ (Baidu) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะมองเห็นแล้วว่าประเทศที่มีพลเมืองมหาศาล แถมยังเป็นพลเมืองบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างจีนนั้นต่างหากที่เหมาะสมจะขึ้นแท่นผู้นำแห่งโลกปัญญาประดิษฐ์
อ้างอิงจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก เฉพาะแค่ในจีน ปัจจุบันมีประชากรอินเทอร์เน็ต 731 ล้านคน มากกว่าประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาเกือบสองเท่า ซึ่ง Lu มองว่า เป็นโครงสร้างที่เหมาะสมมาก
ด้วยเหตุนี้ทำให้ Lu เชื่อมั่นว่า สหรัฐอเมริกาอาจเป็นประเทศผู้นำด้านอัจฉริยะ แต่ก็แค่ตอนนี้เท่านั้น เพราะในอนาคต ไป่ตู้ ต่างหากที่จะก้าวขึ้นครองโลก
โดย Qi Lu เผยกลยุทธ์ของไป่ตู้ในการสร้าง AI ให้เติบโตทั้งในเชิงศักยภาพและเชิงพาณิชย์ว่า คือการจับมือกับพาร์ทเนอร์ และใช้เทคโนโลยีด้าน AI อย่าง ไป่ตู้ เบรน (Baidu Brain) ช่วยให้พาร์ทเนอร์ของบริษัทได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกฝ่ายจะ Win-Win ได้ประโยชน์เหมือนกันหมด
โดย Lu เผยว่า ปัจจุบัน Baidu Brain มีบริการด้าน AI ถึง 60 ชนิดซึ่งมากกว่าที่ไมโครซอฟท์และกูเกิลเสนอให้แก่พาร์ทเนอร์ในสหรัฐอเมริกา อีกทั้งไป่ตู้ยังเป็นบริษัทแรกที่แยกระหว่างเลเยอร์ Perceptual และ Cognitive ออกจากกัน ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ ที่พัฒนา AI ยังเลือกที่จะบันเดิลสองเลเยอร์นี้ไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ Lu ได้ยกตัวอย่างระบบของไป่ตู้ที่มีแพลตฟอร์ม DuerOS ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านภาษาและการสนทนา ซึ่งคล้ายคลึงกับ Alexa, Google Now, Cortana หรือ Siri แต่ Lu กล่าวว่า ตอนนี้ DuerOS อาจเป็นรองแค่ Alexa จากแอมะซอนเท่านั้น เพราะ DuerOS จะมีพาร์ทเนอร์มากขึ้นในอนาคตไม่แพ้แอมะซอนอย่างแน่นอน
เฉพาะแค่ในปัจจุบัน DuerOS ก็มีการจับมือกับแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแล้วกว่า 100 แบรนด์ ตั้งแต่ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ทีวี ลำโพง ฯลฯ ซึ่งตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
โดยในมุมของ Lu อุปกรณ์ประเภทสั่งการด้วยเสียงอย่าง Amazon Echo นั้นอาจเหมาะกับตลาดสหรัฐอเมริก าหรือยุโรปที่มีไลฟ์สไตล์คล้าย ๆ กัน นั่นคือตัวบ้านซอยเป็นห้องต่าง ๆ มากมายหลายห้อง แต่อาจไม่เหมาะกับตลาดอื่น ๆ ก็เป็นได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีรายได้สูงในเอเชีย (ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของไป่ตู้นั้น) โดยมากแล้วพวกเขาอาศัยอยู่ในห้องขนาด 60 ตารางเมตร หรือ 90 ตารางเมตรเท่านั้น
ความคล้ายคลึงด้านไลฟ์สไตล์ที่อยู่อาศัยทำให้ไป่ตู้มองว่าเทคโนโลยีของตนเองน่าจะจับกลุ่มผู้บริโภคในเอเชียอย่างญี่ปุ่น อินเดีย บราซิลได้ดีกว่าแนวคิดของบริษัททุนนิยมจากสหรัฐอเมริกานั่นเอง
นอกจากนี้ Lu ยังวิเคราะห์กลยุทธ์ของแอมะซอนที่เหนือชั้นกว่ากูเกิลหรือไมโครซอฟท์ในการพัฒนา AI ด้วย เพราะแอมะซอนเลือกที่จะใส่ AI อย่าง Alexa ลงมาในอุปกรณ์อย่าง Amazon Echo ขณะที่กูเกิลและไมโครซอฟท์นั้นเลือกจะฝัง AI ลงในโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์พีซีที่ตนเองอาจไม่มีส่วนแบ่งมากเท่าเจ้าตลาดอย่างแอปเปิล (Apple) หรือซัมซุง (Samsung) ทำให้ตอนนี้โปรดักซ์ของแอมะซอนได้รับการพัฒนาไปอย่างรุดหน้า
หันมามองจีนบ้าง Lu กล่าวว่า ทุกวันนี้ การใช้ชีวิตในจีนจะเน้นไปที่ระบบการจดจำเสียงหรือภาพเป็นตัวเลือกแรก ส่วนการต้องมากดปุ่ม หรือหน้าจอจะกลายเป็นทางเลือกอันดับรองลงไปแล้ว
อีกหนึ่งแผนการณ์ที่น่าสนใจของเทคโนโลยี AI ในจีนก็คือ รถอัจฉริยะไร้คนขับ ที่ไป่ตู้มีการเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ในชื่ออพอลโล (Apolla) โดยมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์กว่า 150 ราย
ทั้งนี้ ไป่ตู้มองเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติว่ามีความคล้ายคลึงกับ Ecosystems ของสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน โดยรถยนต์อัตโนมัติจะกลายเป็นอีกหนึ่ง Ecosystems ที่มีขนาดใหญ่มากในอนาคต รวมไปถึง Ecosystems ของหุ่นยนต์ด้วย
หัวใจหลักของ Ecosystems ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติเหล่านั้นก็คือ และความเร็วในการได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อให้ระบบอัตโนมัติได้ประมวลผล เช่น แผนที่ในการเดินทาง สภาพถนน สภาพแวดล้อม สภาพอากาศ ฯลฯ ซึ่งระบบของ Apollo จะดึงข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลร่วมกัน
เห็นได้จากแผนการณ์ที่ใหญ่ขนาดนี้ ไป่ตู้จะไม่กลายเป็นแพลตฟอร์มมหาอำนาจในอนาคตได้อย่างไร
ที่มา : manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000082409