เชื่อหรือไม่ว่า ปริมาณรถแท็กซี่ที่วิ่งรับผู้โดยสารในกรุงเทพฯ ประมาณ 2 แสนคัน ยังมีผู้โดยสารที่ถูกปฏิเสธทุกวัน วันละหลายร้อยราย และดูท่าทีว่าจะไม่มีทางลดน้อยลง หรือแก้ปัญหาได้
การถูกปฏิเสธจากผู้ขับแท็กซี่ กลายเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ ไปแล้ว
ความแปลกประหลาดของกลไกการให้บริการแท็กซี่ถูกท้าทาย และปรับเปลี่ยนมาตลอดในช่วงหลัง 4-5 ปีนี้ ด้วยการเข้ามาของรายใหญ่ที่นำรูปแบบจากต่างประเทศมาปรับใช้ในบ้านเรา ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของคนยุคนี้
แอปพลิเคชันในการเรียกรถแท็กซี่ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งพูดถึง แต่แนวโน้มการใช้งานของคนไทยที่ตอบรับมากขึ้น จนอาจจะเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันของใครบางคนไปแล้วก็ได้
แต่การเติบโตแบบแพร่กระจายของแอปเรียกแท็กซี่ ถูกข้อกฎหมายและการกดดันจากผู้ประกอบการรถแท็กซี่เดิม เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตัวเองให้คงอยู่ ทำให้เห็นภาพการเติบโตได้แค่ก้าวเล็ก ๆ ทำให้คนใช้บริการสับสนไม่น้อย
ทาง 2 แพร่งของแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่
ต้องยอมรับว่า แรงต่อต้านของกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่เดิมยังรุนแรง และกดดันให้คนที่จะเข้าร่วมแท็กซี่ผ่านแอป หวาดหวั่นในเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน
การคุกคามด้วยความรุนแรง รวมกับข้อกฎหมาย ทำลายโอกาสการเติบโตของแอปเรียกแท็กซี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางออกแบบประนีประนอมจึงเกิดขึ้น เมื่อคนขับแท็กซี่เดิมต่อต้าน ก็ต้องดึงให้มาเข้าร่วม
โมเดลของ “แกร็บ แท็กซี่” จึงเป็นการทดสอบตลาด และลดแรงกดดัน
แกร็บ แท็กซี่ เป็นบริการเดียวเท่านั้นที่ร่วมมือกับแท็กซี่ทั่วไป แม้ว่าจะดูครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ตาม
แต่รูปแบบนี้ก็ทำให้ แรงเสียดทานลดน้อยลง จนทำให้ผู้ประกอบการอย่าง ไลน์ เข้ามาทำตลาดนี้ เพราะมองเห็นถึงการเติบโต และฐานข้อมูลผู้ใช้ที่ตัวเองมีอยู่ในมือ
“ไลน์ แท็กซี่” เป็นหนึ่งในผู้เล่นใหม่ที่สนใจเข้ามาช่วงชิงเค้กก้อนโตของตลาดนี้ มีการวางแผนเดินเกมแบบรอบด้าน รวมถึงการอุดจุดอ่อนด้านกฎหมาย ด้วยการผนึกกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นรถแท็กซี่จริงๆ ผ่าน “เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ เขตกรุงเทพมหานคร” ที่มีสมาชิกครอบคลุม 60% หรือราวๆ 60,000 คัน ของตลาดแท็กซี่ทั้งหมด
ไลน์ แท็กซี่ เป็นแอปพลิเคชันสำหรับเรียกรถแท็กซี่ ภายใต้ไลน์แมน ที่เปิดมาแล้ว 4 บริการ คือบริการสั่งซื้ออาหาร, เมสเซนเจอร์, สั่งของสะดวกซื้อ และส่งพัสดุ ซึ่งไลน์ แท็กซี่เป็นบริการที่พัฒนาในประเทศไทยโดยเฉพาะ และเป็นโปรเจกต์แรกของนักพัฒนาไทยกลุ่มแรกของไลน์ ประเทศไทย หลังจากที่ไลน์ได้เข้าซื้อกิจการ DGM59 เพื่อมาเป็นนักพัฒนาให้กับไลน์ เหตุผลที่อยู่ภายใต้ไลน์แมน เพราะไม่ต้องการแยกแอปออกมาต่างหาก ผู้บริโภคไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม
ไลน์ใช้จุดแข็งที่มี “ฐานผู้ใช้” ในมือกว่า 33 ล้านราย แปรเปลี่ยนให้เป็นผู้ใช้บริการไลน์ แท็กซี่ในอนาคต โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนโปรโมตเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ ถือว่าให้เป็นบริการ O2O (Online to Offline) อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และผู้ขับรถแท็กซี่ เพราะจากผลสำรวจพบว่าคนขับแท็กซี่ 30% ที่รู้ว่ามีแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ แต่ก็ยังมีส่วนน้อยที่ใช้แอปพลิเคชันเหล่านั้นจริงจัง เพราะไม่ค่อยสันทัดเรื่องเทคโนโลยี แต่ส่วนใหญ่รู้จักไลน์ ใช้ไลน์กันหมด เลยง่ายต่อการสร้างการรับรู้ และร่วมเป็นพาร์ตเนอร์
คนใช้ไลน์เป็น ก็สามารถใช้ไลน์แท็กซี่ได้ นั่นคือเป้าหมายที่ชัดเจนที่สุด
โมเดลนี้ไม่ได้แตกต่างจากแอปอื่นๆ ในตลาดมาก ไลน์ แท็กซี่ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำแอปนี้ แต่ที่แตกต่างก็คือความเป็นไลน์ คนรู้จักไลน์ คนใช้ไลน์เยอะ คนขับไม่ได้รู้จักแอปเรียกรถแท็กซี่ทั้งหมด แต่รู้จักไลน์
อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย บอก
แผนงานกำหนดไว้ว่าจะเปิดให้บริการไลน์ แท็กซี่ได้ในช่วงปลายปี ช่วงนี้อยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างราคาค่าบริการที่ชัดเจน ส่วนโครงสร้างการหารายได้คงไม่หนีไปจากผู้เล่นอื่นๆ ในตลาดอย่างแกร็บ และอูเบอร์ ที่เก็บค่าบริการเรียกรถเพิ่มเติมจากมิเตอร์ อาจจะ 20-25 บาท แล้วทำการแบ่งรายได้กับคนขับ ได้มีการตั้งเป้าคนขับแท็กซี่จากเครือข่ายสหกรณ์โหลดแอปใช้ราว 20,000 คนก่อน หลังจากนั้นค่อยกระตุ้นให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้น
อูเบอร์ยอมถอย ดึงแท็กซี่เข้าร่วม
อูเบอร์ กลายเป็นเป้าหมายที่ถูกโจมตีมากที่สุด ทั้งในแง่กฎหมาย และผู้ประกอบการแท็กซี่ เป็นตำนานของการไล่ล่า และล่อซื้อ อย่างเมามัน เมื่อมาถึงจุดนี้ อูเบอร์กำลังปรับกลยุทธ์เพื่อเปิดทางให้กับตัวเอง
อูเบอร์แก้เกมด้วยการส่งบริการใหม่คือ UberFLASH ออกมาทดลองตลาดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มผู้ขับขี่รถแท็กซี่เข้าไปในแอปพลิเคชันของตัวเอง รวมกับรถอื่นๆ และคิดราคาเท่ากับ UberX โดยคำนวณจากค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาท ค่าโดยสารที่คำนวณจากระยะทาง 4 บาท/กิโลเมตร และเวลา 3.5 บาท/นาที และค่าผ่านทางพิเศษ
ศิริภา จึงสวัสดิ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย Uber บอกว่า บริการนี้เปิดตัวแค่ที่ไทยที่เดียวเท่านั้น เป็นการพัฒนาเพื่อมาอุดช่องว่างเรื่องรถยนต์สาธารณะ จึงเปิดกว้างในรถแท็กซี่เข้ามาอยู่ในระบบด้วย และบริการนี้จะช่วยให้ได้รถเร็วขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าได้รวมรถทุกประเภทไว้ในบริการนี้ จะแตกต่างจาก UberX ที่เน้นแค่รถเก๋ง และ UberBLACKที่เน้นรถลิมูซีน
อูเบอร์ คืออีกแอปพลิเคชันที่ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับตลาดประเทศไทย เพราะแรงต้านมีมากมาย แต่ด้านหนึ่งผู้บิโภคเองก็ให้การยอมรับมากขึ้น และไม่มองว่าอูเบอร์เข้ามาแย่งลูกค้าของแท็กซี่ปรกติ
ในเมื่อผู้บริการรายเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ ก็ต้องหาผู้ให้บริการที่ดีกว่า
ถึงอูเบอร์จะลดแรงต้านด้วยการดึงแท็กซี่เข้าร่วม ก็ต้องดูในระยะต่อไปว่า การเรียกใช้บริการจะให้น้ำหนักไปด้านใด
แกร็บ ส่ง “แกร็บคาร์ พลัส” ขายความหรูหรา
หลังจากมีข่าวการเปิดตัวของไลน์ แท็กซี่ เพื่อนร่วมตลาดอย่างแกร็บ ก็ออกบริการใหม่ “แกร็บคาร์ พลัส” (GrabCar Plus) ใช้ความเป็นพรีเมียมเข้าสู้ เป็นบริการที่เพิ่มเติมจาก 3 บริการเดิมที่มีในไทย ได้แก่ แกร็บแท็กซี่, แกร็บคาร์ และแกร็บไบค์
บริการแกร็บคาร์ พลัสมีจุดเด่นที่ความพรีเมียม จับกลุ่มนักธุรกิจโดยเฉพาะ หรือผู้ที่ต้องการบริการอย่างเร่งด่วน มาพร้อมกับรถยนต์ในสภาพใหม่ไม่เกิน 5 ปี และผู้ขับมาจากการคัดเลือกในมาตรฐานระดับสูงระดับ 4.8 ดาวขึ้นไป (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) และผู้โดยสารได้รับสิทธิพิเศษในการจัดลำดับเพื่อให้ได้รถมารับได้อย่างรวดเร็วในชั่วโมงเร่งด่วน
ยี วี แตง ผู้อำนวยการ บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า “เราสังเกตเห็นว่าผู้โดยสารโดยเฉพาะนักธุรกิจและคนทำงานมักไม่อยากรอรถนาน และต้องการได้รับความสะดวกสบายที่มากขึ้น การเปิดตัวบริการแกร็บคาร์ พลัสในครั้งนี้ช่วยตอบรับความต้องการของผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าว”
บริการนี้สามารถเลือกชำระค่าโดยสารได้ทั้งเงินสดและผ่านบัตรเครดิตและเดบิต ผ่านระบบแกร็บเพย์ (GrabPay) พร้อมเก็บแต้มสะสมเพื่อแลกส่วนลดการเดินทางและสิทธิพิเศษผ่านโปรแกรมแกร็บรีวอร์ดส์ได้ด้วย
ออลไทยแท็กซี่ มุ่งหน้าต่างจังหวัด
ออลไทยแท็กซี่ เป็นหนึ่งผู้เล่นโลคอลในไทยที่สามารถสร้างกระแสการพัฒนาแท็กซี่ได้อย่างดี โดยมีโมเดลเรื่องรถหรู จดทะเบียนป้ายเหลือง มีแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ คนขับเป็นพนักงานประจำมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการรถ
รถโตโยต้า พรีอุส สีเหลือง กับแอปพิเคชันเรียกแท็กซี่ของไทย ออกมารับผู้โดยสารตั้งปี 2558 และถือว่าผู้โดยสารให้การยอมรับในระดับที่น่าพึงพอใจ
ระบบที่จ่ายเงินเดือนคนขับรถ บวกแรงจูงใจ และมีการอบรม ทุกอย่างสมบูรณ์ แทบจะเป็นแท็กซี่ในฝันของคนกรุงเทพฯ เลยทีเดียว แต่ด้วยการแข่งขันในกรุงเทพฯ ที่รุนแรงขึ้น ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น
ออลไทยแท็กซี่เลือกที่จะออกไปหาตลาดใหม่ในต่างจังหวัด โดยเข้าร่วมโครงการกับทางภาครัฐ TAXI-OK และ TAXI VIP เพื่อต่อยอดธุรกิจนี้
สุเทพ บุญงอก ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ออลไทยแท็กซี่ จำกัด บอกว่า “ออลไทยแท็กซี่ เสนอตัวเข้าร่วมโครงการ TAXIOK และ TAXI VIP ตามนโยบายของกรมการขนส่งทางบก เพราะมีความพร้อมทั้งเรื่องรถ ระบบบริหารจัดการ เครื่องมืออุปกรณ์ บุคลากร ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของระบบขนส่งสาธารณะ
ขณะนี้ออลไทยแท็กซี่ ได้นำรถต้นแบบแท็กซี่วีไอพีมาวิ่งทดสอบให้บริการตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม โดยใช้รถ Toyota Camry ภายในดีไซน์เน้นความหรูหรา สะดวกสบาย มีบริการ น้ำดื่มฟรี, หนังสือพิมพ์, ผ้าเ ย็น, บริการฟรี WI-FI, ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ, จอทีวีให้ความบันเทิงในรถ ในราคาค่าโดยสารตามมิเตอร์ปกติ เริ่มต้น 35 บาท
แต่สิ่งที่ออลแท็กซี่ไทยมองไกลกว่านั้น คือการออกสู่ต่างจังหวัด โดยจะให้บริการที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 7 คัน และที่ขอนแก่นเปิดให้บริการแล้วครบทั้ง 20 คัน
หลังจากนี้มีแผนเปิดให้บริการในจังหวัดนครราชสีมา, จังหวัดอุดรธานี, จังหวัดระยอง, จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงราย ต่อไป โดยในระยะแรกตั้งเป้าให้บริการในจังหวัดที่เป็นเส้นทางเดินรถของนครชัยแอร์ กำหนดจำนวนรถ 20 คันต่อจังหวัด
เมื่อดูจำนวนรถที่ให้บริการในต่างจังหวัดแล้ว ไม่น่าจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้โดยสารมากกว่า
Easy Taxi แอปพลิเคชันสไตล์บราซิล
Easy Taxi เป็นอีกหนึ่งรายที่เข้ามาทดลองตลาดในประเทศไทย รูปแบบใกล้เคียงกับแกร็บ แท็กซี่ และออลไทยแท็กซี่ คือไม่มีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง แต่ใช้เครือข่ายของแท็กซี่เดิมเพิ่มเติมด้วยการใช้แอปพลิเคชัน หาผู้โดยสารเหมือนการโทรเรียกแท็กซี่จากศูนย์ของแท็กซี่ทั่วไป
นิคกี้ สุรไพฑูรย์ Cofounder และ Business Development Easy Taxi Thailand บอกว่า
Easy Taxi เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2011ที่บราซิล ขณะนี้เปิดบริการแล้วแล้ว 18 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ค่าบริการอยู่ที่ 20 บาทต่อครั้ง และจะถูกรวมเข้าไปกับค่าโดยสารตามมิเตอร์
เขาอธิบายความแตกต่างของ Easy Taxi ว่า การคัดเลือกคนขับแท็กซี่ในระบบด้วย DDA (Direct Driver Acquisition) หมายถึง การเข้าถึงคนขับแท็กซี่แบบตัวต่อตัว คนขับแท็กซี่ที่ใช้ Easy Taxi ต้องมีความเข้าใจในการใช้แอปในระดับหนึ่ง และยังมีการติดตามคนขับแท็กซี่อย่างใกล้ชิด ให้ความสนิทสนมเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว หากคนขับคนไหนถูกร้องเรียนก็จะถูกปลดออกจากการร่วมโครงการ เช่นกันหากคนขับรถบริการดี ก็ได้รับการโหวตหรือให้กำลังใจ
Easy Taxi ยังดำเนินต่อไป แม้ว่าจะมีคนกล่าวถึงน้อยก็ตาม.
“เบนซ์” เอาด้วย บริการรถแบ่งใช้ Mytaxi
ค่ายรถ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ไม่หลุดกระแส เตรียมเปิดให้บริการ รถแบ่งกันใช้ หรือ Carsharing ให้เช่ารถระยะสั้นวิ่งในเมือง พร้อมเปิดแอปลิเคชันบริการ Mytaxi ให้เลือกรถแท็กซี่ได้อย่างตรงใจ คาดแจ้งเกิดภายใน 2 ปี
ศุภวุฒิ จิรมนัสนาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะนำระบบการใช้รถร่วมกัน (CarSharing) เข้ามาให้บริการในเมืองไทย ผ่านทางระบบ Car2go ซึ่งเป็นให้บริการรถยนต์ให้เช่าระยะสั้นๆ พร้อมกับแอปลิเคชัน Mytaxi ที่ใช้สำหรับการเรียกรถแท็กซี่
คาร์ทูโกนั้นเป็นการให้บริการเช่ารถยนต์ระยะสั้นในเขตเมือง ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่ทาง เดมเลอร์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส (Daimler Financial Services) ให้บริการอยู่ในยุโรป โดยเป็นส่วนหนึ่งในหน่วยธุรกิจของ เดมเลอร์ เอจี ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในยุโรป ด้วยรูปแบบการใช้งานที่ง่ายและคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายนาที
“ในหลายตลาดในยุโรปและอเมริกา การบริการด้านการเงินและการเดินทางแบบใหม่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใช้รถร่วมกัน (Carsharing) ในอนาคตประเทศไทยก็ต้องเดินไปในรูปแบบเดียวกัน เมื่อธุรกิจ Car2go ประสบความสำเร็จในยุโรปแล้ว คาดว่าไม่เกิน 2-3 ปี เราจะดำเนินการในเมืองไทย”
นอกจากคาร์ทูโกแล้ว ยังมี มายแท็กซี่ ที่คาดว่าจะเริ่มนำมาเปิดให้บริการได้ก่อน โดยเป็นการให้บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านมือถือ ใช้แล้วในยุโรป สามารถเลือกรถยี่ห้อและรุ่นได้, ทราบข้อมูลและหน้าตาของผู้ขับ, ประวัติการขับ รวมถึงความเห็นต่างๆ ของผู้ที่เคยนั่งมาแล้ว เน้นความปลอดภัยสูง
หลังจากนี้ไป การเรียกรถแท็กซี่อาจไม่ต้องพึ่งพาโชคอีกต่อไป แค่เลือกใช้แอปพิเคชันที่แก้ปัญหาให้กับผู้โดยสารได้มากที่สุด