ธ ทรงนำผองไทย พ้นวิกฤต

รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อธิบายไว้ในหนังสือพระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย : 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย
ถึงที่มาของพระราชอำนาจว่า มาจาก 2 หลักการ คือ 1.มาจากการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่เอาแบบอย่างมาจากประเทศอังกฤษ 2.มาจากนิติราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม

ในส่วนของพระราชอำนาจที่มาจากการปกครองแบบประชาธิปไตย ยังแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ พระราชอำนาจทั่วไปในการให้คำแนะนำ ตักเตือน และให้กำลังใจ พระราชอำนาจพิเศษ และพระราชอำนาจสำรอง

ในสถานการณ์ปกติ พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจทั่วไปในการให้คำแนะนำ ตักเตือน และให้กำลังใจฝ่ายบริหาร ผ่านการเข้าเฝ้าของนายกรัฐมนตรี

แต่หากเมื่อใดที่สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในสภาวการณ์ที่ผิดปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาจทรงใช้ “พระราชอำนาจสำรอง” ในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตของบ้านเมืองให้ผ่านพ้นและคลี่คลายไปในที่สุด ดังเช่นเหตุการณ์ต่อไปนี้ ที่หากสังคมไทยไม่ได้พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ไม่รู้ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะลงเอยเป็นเช่นใด…

14 ตุลา 2516 มหาวิปโยค

พลันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชดำรัส เมื่อคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมที่กำลังเขม็งเกลียว ก็ค่อยๆ คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ

“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค ที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วันที่ผ่านมา ได้มีการเรียกร้องและการเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวด และยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย

ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสภาพปกติเร็วที่สุด

อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจรได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวานนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดิน โดยมี ประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุข ความรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศ และประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”

ลองจินตนาการดูเถิดว่า…

ภายใต้สถานการณ์ที่ฝูงชนเรือนแสนกำลังปะทุอารมณ์กราดเกรี้ยว จากความไม่พอใจในการกดขี่ข่มเหงของระบอบเผด็จการ “ถนอม ประภาส ณรงค์”

ขณะที่รัฐบาลก็สั่งเคลื่อนรถถัง กำลังพล และอาวุธหนักเตรียมพร้อมเพื่อใช้ “ความรุนแรง” ในการตอบโต้

หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพระราชทานสติให้กับทุกฝ่าย ตัวเลขผู้บาดเจ็บล้มตายคงไม่หยุดอยู่ที่หลักร้อยเป็นแน่แท้

พฤษภาทมิฬ

กระแสแห่งความไม่พอใจของประชาชน ที่เริ่มตั้งเค้านับตั้งแต่พลเอกสุจินดา คราประยูร ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจของ รสช. อย่างไม่สง่างามนั้น

ได้แปลไปสู่รูปธรรมแห่งการอดอาหารประท้วงโดย ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงของประชาชนภายใต้การนำของสมาพันธ์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ในที่สุดทหารก็อดรนทนไม่ได้ สั่งใช้แผนไพรีพินาศล้อมปราบประชาชนอย่างรุนแรง จนถนนราชดำเนินต้องเจิ่งนองไปด้วยเลือดของผู้บริสุทธิ์ที่มีหัวใจรักประชาธิปไตยอีกครั้ง

พลันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราชโอกาสให้พลตรีจำลอง ศรีเมืองและพลเอกสุจินดา คราประยูร เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 และทรงมีพระราชดำรัสว่า

“…ประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน เข้าหากันไม่เผชิญหน้ากันแก้ไขปัญหา เพราะปัญหามีอยู่ ที่เวลาเกิดจะใช้คำว่า บ้าเลือด เวลาคนมีการปฏิบัติรุนแรงมันลืมตัว ลงท้ายเขาไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทาง อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมติว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหายไป ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองซากปรักหักพัง…”

ทุกฝ่ายต่างก็ถอย ส่งผลให้ประชาธิปไตยไทยสามารถอภิวัฒน์ไปข้างหน้าได้อีกครั้งก่อนยุบพรรค

แม้การปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะสามารถยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในสังคมไว้ได้ชั่วขณะ แต่ความแตกแยกทางความคิดซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของความรุนแรงยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ก่อนการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยโดยศาลรัฐธรรมนูญไม่นานนัก ได้เกิดคลื่นลมที่ดูเหมือนจะโหมกระหน่ำอย่างรุนแรง หากคำตัดสินไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายตน

แต่พลันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะตุลาการศาลปกครอง ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2550
ทุกฝ่ายต่างก็น้อมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอย่างสงบนิ่ง

“…2 วัน 2 คืนนี้ มีการวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวข้องกับศาล ท่านต้องคิดวิธีที่จะป้องกันตัว แทนเพื่อนผู้พิพากษาศาลต่างๆ ทั้งหมด… ท่านมีความรับผิดชอบที่จะทำให้บ้านเมืองไม่ล่มจม หรือตักเตือนประชาชนที่มีความรู้ให้มีความรู้มากขึ้น และแม้แต่ประชาชนที่ไม่มีความรู้ให้เกิดความรู้ขึ้นมาว่าบ้านเมืองควรจะไปทางไหน ท่านทำได้ ท่านพูดได้ ท่านคิดได้ เพราะท่านมีความรู้ เพราะฉะนั้นขอร้องให้ท่านพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่อไป เพราะว่าสถานการณ์ปีนี้ไม่ดีเลย…

“…เชื่อว่าท่านตั้งใจที่จะทำงานเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ และขอให้ท่านมีกำลังใจ กำลังกายสมบูรณ์ เพื่อที่จะปฏิบัติงาน หน้าที่ได้ และก็ขอขอบใจท่านที่จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลปกครอง และขอให้สามารถตักเตือนคนอื่นให้เขาทำหน้าที่ให้ดี โดยเฉพาะทางฝ่ายตุลาการ ก็ขอให้ท่านมีร่างกาย จิตใจแข็งแกร่ง เพื่อให้ทำหน้าที่มีความสำเร็จ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประเทศชาติ”

จะเห็นได้ว่า แม้ประชาธิปไตยของไทยจะสะดุดล้มลุกคลานเพียงใด แต่ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บ้านเมืองก็รอดพ้นจากบ่วงของวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้เสมอมา ไม่ว่าวิกฤตนั้นจะหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตามที…