“สถาบันพระมหากษัตริย์” “ศูนย์รวมจิตใจ”ของคนไทย

ประเทศไทยยังคงมีนักการเมืองคอรัปชั่นมากกว่านักการเมืองดี มีนักการเมืองคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เป็นอย่างนี้มานาน จนถึงปัจจุบันความซับซ้อนของการคอรัปชั่นนักการเมืองไทยยิ่งพัฒนาไปมากยิ่งขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยลุ่มๆ ดอนๆ และความอ่อนแอของสังคมไทยยิ่งอาการหนัก จากระบอบทุนนิยมที่เข้มแข็งขึ้น และหลายต่อหลายครั้งบ้านเมืองเกิดวิกฤต และผ่านพ้นไปได้ด้วยพระบารมีของ “สถาบันพระมหากษัตริย์”

นี่ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ของไทยยังเป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” ของคนไทย อย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกตเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง “สถาบันพระมหากษัตริย์” อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประเทศชาติอ่อนแอ ตรงกันข้าม ประเทศไทยปัจจุบันมีการพัฒนาทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคม มีคนชนชั้นกลางมากขึ้น มีระดับผู้นำทางความคิดในสังคมมากขึ้น เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เคยมี “กษัตริย์” และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

แต่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ยังคงอยู่คู่กับประเทศไทย แม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ. 2475

เหตุผลพื้นฐานคือ ด้วยรากฐานสังคมไทยที่เคารพเทิดทูน “สถาบันพระมหากษัตริย์” ที่แม้รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังต้องพึ่งพระบารมีของ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ที่เป็นมีศูนย์รวมจิตใจ เพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ อย่างที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ต่างยืนยันไว้ว่า ประเทศไทยคือประเทศเดียวในโลก ที่เรียกระบอบการปกครอง “ประชาธิปไตย” โดยต่อด้วย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ขณะที่ประเทศอื่นแม้จะมี “สถาบันพระมหากษัตริย์” ก็เรียกเพียงว่าระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งระบอบประชาธิปไตยยังมีอีกรูปแบบหนึ่งคือประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด

เฉพาะเพียงแค่รากประโยคของการเรียกระบบการปกครอง ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพิเศษของประเทศไทย

ซึ่งมาจากรากฐานความเชื่อและวัฒนธรรม เพราะการเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยตั้งแต่อดีตนั้นไม่เพียงมาจากความเชื่อทางด้านศาสนาพุทธ ในเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ หรือบุญธรรม กรรมแต่ง ที่คนไทยยึดถือในเรื่องของกษัตริย์คือ “ผู้มีบุญ” เป็น “สมมติเทพ” เท่านั้น แต่เพราะความเสียสละของพระมหากษัตริย์ที่ทรงปฏิบัติให้ราษฎรเห็น โดยเฉพาะในชั่วอายุของคนปัจจุบันกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงเสียสละทุ่มเทพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย

อย่างที่ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามกับสื่อต่างประเทศ หลังกล่าวแนะนำหนังสือเรื่อง The King of Thailand in World Focus ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า

“ผมพูดอยู่เสมอว่าสถานภาพของพระเจ้าอยู่หัวของเราที่สูงขึ้นถึงระดับนี้หลังจากครองราชย์มา 60 ปี เป็นผลมาจากบารมีที่พระองค์ทรงสร้างมา มิได้เป็นเรื่องการสืบทอด เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ในวัยเพียง 17-18 พระชันษา ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าพระองค์จะเป็นประมุขของชาติแบบใด แต่ผมคิดว่าด้วยพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะ และมุ่งมั่น พระองค์ทรงได้จำเริญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดี เมื่อกล่าวถึงพระเจ้าอยู่หัวของเรา พระองค์ท่านไม่เพียงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดีด้วย

ผมขอชี้ว่ามีความแตกต่าง เพราะผู้ใดผู้หนึ่งอาจเป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ทั้งที่มีข้อบกพร่องและข้อเสียหลายประการ แต่ถ้าหากเราพูดว่าผู้นั้นเป็นคนดีสำหรับผมมีความหมายมากกว่า ฉะนั้น เมื่อเรากล่าวถึงพระองค์ท่านว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ดี จึงมีความหมายลึกซึ้งกว่าที่กล่าวว่าพระองค์ท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ การจะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี เป็นคนดี เป็นเรื่องที่จะต้องได้มาด้วยอุตสาหะของตนเอง ไม่ใช่สืบทอดมาแต่อย่างไรก็ตาม สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นซึมลึกอยู่ในประเทศไทยและความเป็นไทย ผมมั่นใจว่าสถาบันนี้จะยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์และดำเนินต่อไป”

เหตุผลที่มีน้ำหนักนี้ ไม่ใช่มาจากบุคคลอย่างอดีตนายกรัฐมนตรี “อานันท์” เท่านั้น แต่คนชั้นชนสูง และระดับกลุ่มผู้นำทางความคิดก็รู้สึกและมั่นใจเช่นนี้เหมือนกัน รวมไปถึงนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ในกลุ่มที่เห็นตรงกันว่าสถาบันกษัตริย์จะอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป เพราะสภาพบ้านเมืองทั้งระบบการเมือง สังคม และเศรษฐกิจไทย และที่สำคัญคือพุทธศาสนา และวัฒนธรรมไทยที่ปลูกฝังเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ในอดีต

ในแง่ของบทบาทที่สะท้อนถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ยังได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งยามที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังก่อร่างสร้างตัว วิกฤตจากการมีพื้นที่ปลูกฝิ่น พืชเสพติด กำลังทำลายคนไทย การสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้คนไทยในทุกพื้นที่อันเนื่องมาจากโครงการพระราชดำริ ทำให้หลายครอบครัวรอดพ้นและมีความสุขกว่าเดิม

ในเวลาที่เกิดวิกฤตการเมืองพระบารมีของ “พระเจ้าอยู่หัว” ก็ทำให้เกิดความสงบ และช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระองค์พระราชทานให้กับคนไทย ก็ทำให้ผู้ที่น้อมรับนำมาปฏิบัติมีภูมิคุ้มกัน และไม่เกิดความเสียหายเมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจ มีบทสรุปที่ความสุขที่แท้จริง

หรือในแง่ของรัฐศาสตร์การปกครองนั้น บทความทางวิชาการของ “อาจารย์สมศักดิ์ เจียรธีรสกุล” ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2539 ว่า ทั้งในฐานะที่เป็นอุดมการณ์ราชการ (Official ideology ) และในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองจริง (Actual Political System) ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีความเป็นมาในระยะประมาณ 2-3 ทศวรรษหลังนี้เอง โดยมีการกำหนดในครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2492 และในสมัยปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ มีความยืนยันว่า ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษของตัวเอง ต้องการระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะให้เหมาะสมกันเป็น “แบบไทยๆ”

ในแง่ของอุดมการณ์ราชการแล้ว อาจารย์สมศักดิ์เขียนไว้ว่า ความสำคัญนี้ยังเด่นชัดแม้แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 6 ตุลาฯ หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ยังได้ยืนยันความสำคัญนี้

“โดยประชาชนทั้งมวลได้แสดงอย่างแจ่มแจ้งประจักษ์ และเชื่อมั่นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นระบอบการปกครองที่ดี และเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ในอันที่จะยังให้เกิดความมั่นคงของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยทั่วกัน”

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ก็ได้ระบุถึง “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทุกครั้ง

รวมทั้งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ในหมวด 1 มาตรา 2 “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

มาตรา 3 “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้…

อย่างไรก็ตาม “อุดมการณ์ราชการ” เป็นภาพสะท้อนของระบอบการเมืองที่เป็นจริงบางอย่างเท่านั้น ซึ่งในแง่ระบอบการเมืองจริงนั้นอาจารย์สมศักดิ์ระบุไว้ว่า “นี่เป็นปัญหาที่ใหญ่โตเกินกว่าจะอภิปรายกันในที่นี้ได้”

จนถึงขณะนี้แม้จะมีความพยายามของกระบวนการ “หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์” และชูแนวคิดเรื่อง “ประธานาธิบดี” ที่ให้อำนาจเต็มแก่นักการเมือง คำตอบของเสียงส่วนใหญ่คือ“ประธานาธิบดี” ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะบทเรียนตลอดเวลาที่ผ่านมาคือ ความทุกข์ของประเทศส่วนใหญ่เกิดจากความพยายามของคนชนชั้นปกครอง นักการเมืองที่เป็นใหญ่ ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ตัวเอง แม้จะมีการอ้างถึงการเข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่ก็ได้มาด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง ด้วยเงินทุนที่หามาได้จากอำนาจทางการเมือง เข้ามากอบโกยผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จนนำพาประเทศให้เกิดวิกฤตหลายต่อหลายครั้ง ในทางตรงกันข้าม “สถาบันพระมหากษัตริย์” พาชาติให้พ้นวิกฤตในทุกครั้ง

ที่สำคัญไปกว่านั้น “ศูนย์รวมจิตใจที่เหนียวแน่นของคนไทย” ตลอดไปยังคงเป็น “สถาบันพระมหากษัตริย์” เท่านั้น