กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดการสัมมนาระดับนานาชาติ “Symposium 2017” ภายใต้หัวข้อ “กลยุทธ์สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (A Roadmap to Sustainable Growth in Digital Connectivity Era)” ขึ้นภายในงาน TILOG-LOGISTIX 2017 เพื่อเป็นเวทีเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย รวมถึงประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน+6 รองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ที่ส่งผลถึงผู้ประกอบการไทยในทุกภาคธุรกิจ
นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประธานในการจัดสัมมนาได้กล่าวว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และศักยภาพด้านโลจิสติกส์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการค้าในปัจจุบัน การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานที่ดีจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ การจัดงาน Symposium 2017 ครั้งนี้ จึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้มาแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน โดย เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การค้าจากองค์กรชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน+6 และระดับโลกมาแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาศักยภาพด้านโลจิสติกส์การค้า เชื่อมโยงเครือข่ายในภูมิภาค พร้อมเดินหน้าสร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลไปด้วยกัน
นายเจ้า หู่เซี๋ยง ประธานสมาพันธ์สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (FIATA) และ รองประธานไชน่า
เมอรร์ชานท์ กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ทางด้านการลงทุนและโครงสร้างโลจิสติกส์ของจีน เผยถึงแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศจีน ซึ่งมุ่งเน้นการลงทุนด้านการขนส่งต่อเนื่องหลากหลายรูปแบบ ทั้งทางน้ำ ทางภาคพื้นดิน ทางอากาศ รวมถึงการลงทุนด้านดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อยกระดับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ พร้อมตั้งเป้าหมายบูรณาการและเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างแข็งแกร่ง
หนึ่งในโครงการสำคัญที่รัฐบาลจีนเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม คือ เส้นทางสายไหม ภายใต้นโยบาย “One Belt One Road” ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2559 และปัจจุบันมีภาคเอกชนจีนตอบรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมบนเส้นทางนี้ กว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนภายในภูมิภาคอาเซียนถึงร้อยละ 62 หรือมีมูลค่าประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์
“จีนวางเป้าหมายการเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับอาเซียนและทั่วโลก ผ่านการพัฒนาระบบขนส่งทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางเรือ ทางถนน ทางราง ทางอากาศ ซึ่งอาเซียนถือเป็นตลาดการค้าหลักของจีนที่ต้องมีการประสานเส้นทางคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง รวมทั้งต่อยอดการขนส่งจากอาเซียนเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก” นายเจ้า หู่เซี๋ยง กล่าว
ส่วน นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ กรุ๊ป กล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมองว่าบุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน ทางสมาคม จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา จัดหลักสูตรการศึกษาด้านโลจิสติกส์การค้า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในสายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชนสำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ทุกรูปแบบ ทั้งยังขยายขอบเขตความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ และสมาชิกของสมาคม TIFFA ในการสนับสนุนทุนการศึกษาและรับนักศึกษาในหลักสูตรเข้าฝึกงานและทำงานสร้างรายได้ระหว่างเรียนและหลังสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการกระจายแรงงานด้านโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพไปปฏิบัติงานในเขตการค้าทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อยกระดับการทำงานในจุดที่มีสินค้าผ่านแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
นายเรมอน กฤษณัน ประธานชมรมผู้บริหารโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (LSCMS) ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลในธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้น ช่วยให้การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันรวดเร็วและลดต้นทุนในการขนส่ง ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีทำงานร่วมกันเป็นห่วงโซอุปทาน เพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างกัน ช่วยสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
นายเทจ มัยยูร์ คอนแทร็คเตอร์ กรรมการบริหารสมาคมผู้รับจัดการขนส่งระหว่างประเทศแห่งอินเดีย (FFFAI) เปิดเผยว่า อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้าและโลจิสติกส์ในปัจจุบัน ที่นำมาใช้ทั้งในระบบการสั่งซื้อ การบริหารคลังสินค้า การบรรจุสินค้า และการขนส่ง อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Start up ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ สามารถขนส่งได้รวดเร็ว และลดอัตราการคืนสินค้าเนื่องจากการจัดส่งที่ล่าช้า เป็นประโยชน์น่อทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขาย
สำหรับในช่วงเสวนาซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากธุรกิจสาขาต่างๆ มาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในการเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าและระบบโลจิสติกส์ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล นางฮวา ฮวา ยี่ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการสมาคมผู้รับจัดการขนส่งระหว่างประเทศแห่งเมียนมา (MIFFA) เผยว่า เมียนมากำลังพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศขึ้นเป็นสังคมอุตสาหกรรมระดับกลาง – สูง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และปรับปรุงข้อกฎหมายด้านโลจิสติกส์เพื่อผลักดันการส่งออก
นายเลอย์ ดุย เฮียบ ประธานสมาคมโลจิสติกส์แห่งประเทศเวียดนาม (VLA) กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนา ระบบโลจิสติกส์ในประเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการและยกระดับบุคลากร พร้อมตั้งเป้าหมายให้เวียดนามติด 1 ใน 50 ประเทศที่มีศักยภาพด้านการบริหารต้นทุนโลจิสติกส์ของโลก สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาโลจิสติกส์ของภูมิภาคนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนของแต่ละประเทศควรเข้ามาทำงานร่วมกัน และนำข้อเสนอต่างๆ หารือร่วมกับภาครัฐของแต่ละประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน
ศ.อั๊ดจุง ดาโต๊ะ แอ้บด์ รัดซ๊าก แอ้บด์ มาเล็ค ประธานสถาบันโลจิสติกส์และการขนส่งแห่งประเทศมาเลเซีย (CILTM) นำเสนอประเด็นการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ ว่า ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยทุกประเทศในภูมิภาคควรร่วมกันปรับปรุงประสิทธิภาพของกฎระเบียบการค้า ศุลกากรและการจัดการชายแดน รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างทางเทคโนโลยี และรักษาความสมดุลของการเปิดเสรีทางการค้า เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน
นายชานที ซิน นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากประเทศกัมพูชา (CAMFFA) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญในการวางรากฐานโลจิสติกส์เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเตรียมเปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเป็น 10 แห่ง พร้อมพัฒนาเส้นทางถนนในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงข้อมูลศุลกากร เชื่อมโยงในภูมิภาค รัฐบาลแต่ละประเทศต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของด่านศุลกากรต้องมีข้อปฏิบัติที่สอดคล้อง
นายซาลดี้ย์ อิลฮัม มาสิตา นายกสมาคมโลจิสติกส์แห่งอินโดนีเซีย (ALI) เผยว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียมีความพยายามในการบริหารจัดการต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ลดลง โดยพัฒนาเส้นทางขนส่งทางเรือมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่เป็นหมูเกาะอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังได้เปิดหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้า มีการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางทะเลและทางอากาศภายในประเทศรวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
ผศ.ดร. โรสิตา ฮูเซน เลขาธิการสถาบันโลจิสติกส์และขนส่งมาเลเซีย (CILTM) กล่าวถึงดิจิทัลโลจิสติกส์ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้เกิดโอกาสและความท้าทายในธุรกิจอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการติดต่อที่รวดเร็วขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ดังนั้น การจะเชื่อมโยงโลจิสติกส์การค้าในอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกประเทศจำเป็นต้องมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศให้ชัดเจน
นายมูวาซิค เอ็ม นูรร์ รองประธานฝ่ายพัฒนาและปฏิบัติการระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจแห่งอินโดนีเซีย (INSW) กล่าวว่า การรวมตัวกันเป็นอาเซียน ซิงเกิล วินโดว์ โดยพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ลดขั้นตอนงานเอกสาร สนับสนุนการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้า เชื่อมโยงระบบข้อมูลแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และนำไปสู่ความแข็งแกร่งด้านการค้าในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนในระยะยาว
นับว่า Symposium 2017 เป็นเวทีสัมมนาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และมุมมองที่น่าสนใจจากกูรูระดับโลก ซึ่งจุดประกายแนวคิดไปสู่การพัฒนาโลจิสติกส์การค้าทั้งในระดับธุรกิจ ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค ได้อย่างเป็นรูปธรรม