กลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่เรียกว่า Connected Consumer หรือ กลุ่มคนที่ใช้เวลามากกว่า 4 ชั่วโมงในแต่ละวันท่องอินเทอร์เน็ต กำลังเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างมากทั้งในแง่อำนาจการจับจ่าย รวมถึงการชี้ชะตาของแบรนด์ต่างๆ ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูงถึงกว่าร้อยละ 67 และการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือที่สูงถึงร้อยละ 133 (ที่มา : WeAreSocial, Digital in 2017 -South-East Asia.) อีกทั้งยังมีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (4.14 ชั่วโมงต่อวัน) นั่นทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องเผชิญกับความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค
รายงานข้อมูล Tetra Pak Index 2017 ฉบับที่ 10 ภายใต้หัวข้อ ‘The Connected Consumers’ จึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อเผยถึงความสำคัญของการปรับตัวและการสร้างสรรค์กลยุทธ์เพื่อเข้าถึงการสื่อสาร รวมถึงสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจยิงตรงถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่แกะกล่องเหล่านี้
รายงานฉบับดังกล่าวได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 70,000 คน ใน 57 ประเทศ เพื่อศึกษาพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ซึ่งรวมไปถึงวิธีที่พวกเขาเชื่อมต่อกับแบรนด์ในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ผลการศึกษาพบว่า หากแบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่องกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนถึงร้อยละ 97 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ร้อยละ 91 โดยถือเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่เลือกซื้อสินค้าและเชื่อมต่อผ่านโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ คนไทยยังมีอัตราการมีส่วนร่วมกับแบรนด์บนโซเชียลมีเดียสูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยร้อยละ 44 ระบุว่าพวกเขาติดตามแบรนด์ที่พวกเขาชื่นชอบ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ที่ร้อยละ 37 เท่านั้น (ที่มา : Thailand GWI Report, Q2 2017)
นอกจากนี้ คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2560 นี้ อีคอมเมิร์ซจะขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 20 หรือมีมูลค่าสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท (ที่มา : Thailand Electronic Transactions Development Agency, 2017) อัตราการเติบโตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ ชี้ให้เห็นว่าแบรนด์จำเป็นต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับแผนกลยุทธ์ผ่านการริเริ่มการมีส่วนร่วม และการสร้างบทสนทนาออนไลน์อย่างเหมาะสม
ผู้บริหาร เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) ระบุว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัลอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ทั้งยังมีการใช้โซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ โดยติดอันดับต้นๆ ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น โลกอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้บริโภคไทยสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ในทันที จึงสามารถโน้มน้าวความคิดและมีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ด้วยแนวโน้มดังกล่าว ทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ ที่แบรนด์เลือกใช้เป็นโอกาสสำคัญในการสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยที่มีความหลากหลาย การทำคอนเทนต์ให้ตรงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นอีกกลยุทธ์การสื่อสารที่จำเป็นในการสร้างและหล่อเลี้ยงความสนใจของผู้บริโภคที่มีศักยภาพกลุ่มนี้เอาไว้
รายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการบริโภคข้อมูลเพื่อตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็น “เส้นตรง” สู่ “เครือข่ายอันซับซ้อน” และครอบคลุมหลายแหล่งข้อมูล การเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มออนไลน์ยังเพิ่มความท้าทายให้กับแบรนด์ต่างๆ เนื่องจากผู้บริโภคคาดหวังที่จะได้รับประสบการณ์และการสื่อสารที่ต่อเนื่องตลอดทุกช่องทางที่พวกเขาสามารถโต้ตอบด้วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนโซเชียลมีเดียคอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้ใช้ หรือโดยบุคคลที่สามซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น
หากมองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีประชากรที่ใช้โซเชียลมีเดียในหนึ่งเดือนมากกว่า 1,500 ล้านคน โดยร้อยละ 95 ของคนจำนวนนี้เข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งนับเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดในโลก (ที่มา : Nielsen, E-Commerce: Evolution or Revolution in the Fast-Moving Consumer Goods World?) การเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์และความสะดวกในการซื้อหา จึงเป็นปัจจัยสำคัญเพิ่มเติม ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้เลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ รายงานยังแสดงให้เห็นว่า แบรนด์สามารถใช้บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภค
ข้อมูลสนับสนุนระบุว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยถึงร้อยละ 43 สนใจในเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารเป็นอย่างมาก (ที่มา : Thailand GWI Report, Q2 2017) หนึ่งในจำนวนนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว คือ การพิมพ์ digital codes ลงบนกล่องบรรจุภัณฑ์ เพื่อพัฒนาความโปร่งใสในการตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ พื้นผิวของบรรจุภัณฑ์ยังสามารถเปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ข้อมูลได้ทั้งสองด้าน โดยแบรนด์สามารถเก็บข้อมูลที่มีคุณค่าเกี่ยวกับผู้บริโภคได้อย่างเฉพาะเจาะจง และในขณะเดียวกันสามารถแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคได้
ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม กลายเป็นหนึ่งในช่องทางการสื่อสารและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการสื่อสารแบบสองทาง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา เตดตร้า แพ็คผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์และส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 1.9 แสนล้านกล่อง นับว่าเป็นการเข้าถึงผู้บริโภคมากกว่าโซเชียลมีเดียใดๆ การนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่หลายๆ แบรนด์พิจารณาเลือกใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจากการสร้างความสัมพันธ์ กับกลุ่ม Connected Consumer
ล่าสุด บริษัทได้เริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่อย่าง Augmented Reality บนกล่องบรรจุภัณฑ์ เพื่อช่วยเชื่อมต่อผู้บริโภครุ่นใหม่กับแบรนด์ของลูกค้าเต็ดตรา แพ้ค ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายาม ที่จะเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคให้ได้ในทุกยุคทุกสมัย