ครั้งแรก! วิจัยเผยเครื่องหมายการค้าส่งผลดีต่อจีดีพี การส่งออก และการจ้างงานในไทย

สมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (International Trademark Association – INTA) เผยผลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าอย่างจริงจัง สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มประเทศในอาเซียน 5 ประเทศ จากรายงาน The Economic Contribution of Trademark-Intensive Industries พบว่า ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องหมายการค้า (trademark-intensive activities) สามารถกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ครอบคลุมทุกภาคธุรกิจและส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลัก หมายถึง อุตสาหกรรมที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ามากกว่าอุตสาหกรรมอื่น เมื่อเทียบกับการจ้างงานรวมในอุตสาหกรรมนั้นๆ

รายงานฉบับนี้เผยแพร่ในวาระเดียวกันกับการครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งอาเซียน ที่ได้พัฒนากลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่อันดับ 7 ของโลก และกลายเป็นตลาดแรงงานใหญ่อันดับ 3 ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา สมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้ Frontier Economics ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก จัดทำรายงานนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องหมายการค้าและผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ส่วนแบ่งตลาดส่งออกและการจ้างงาน ในตลาดการค้าสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อพิจารณาข้อมูลช่วงพ.ศ. 2555 – 2558 พบว่าอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลัก ในประเทศไทยนั้น ทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจโดยตรงต่อจีดีพีถึงร้อยละ 22 และส่งผลทางอ้อมถึงร้อยละ 40 สะท้อนถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนและไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเครื่องหมายการค้า ในแง่การจ้างงาน ผลผลิต และมูลค่าเพิ่มนั้น เห็นได้จากสัดส่วนแรงงานที่คิดเป็นร้อยละ 13 ของการจ้างงานทั้งหมด ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลักในประเทศไทย สามารถสร้างการส่งออกได้ถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และยานยนต์ โดยแต่ละอุตสาหกรรม ได้สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการผลิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของมูลค่าเพิ่มด้านการผลิตทั้งหมด

ดร. จักรกฤษณ์ ควรพจน์ สมาชิกของสมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และทนายที่ปรึกษาของบริษัทกฎหมาย ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในประเทศไทย อุตสาหกรรมการผลิตเป็นตัวผลักดันให้เกิดธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องหมายการค้า ซึ่งส่งผลดีอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังบ่งชี้ว่า แม้แต่อุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลัก ก็ยังได้ประโยชน์จากแรงหนุนของอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้า” ดร. จักรกฤษณ์ กล่าวเสริมว่า “งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ ได้ตอกย้ำว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น
มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม เร่งให้เศรษฐกิจพัฒนารุดหน้า เสริมสร้างการค้าระหว่างประเทศของไทย และสนับสนุนให้ไทยสามารถดำเนินไปตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0”

มร. เอเทียนน์ ซานซ์ เดอ อาเซโด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงผลการวิจัยครั้งนี้ว่า “เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพมหาศาลของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มาจากหลายภาคส่วน ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชนทั่วไป เห็นคุณค่าของเครื่องหมายการค้า รวมทั้งพัฒนาระบบเครื่องหมายการค้าแห่งชาติ และอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลักให้มากขึ้น หากพิจารณาประโยชน์ของเครื่องหมายการค้าในเชิงเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาวรวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยิ่งควรต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมให้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนรัฐบาลในการพัฒนาเครื่องหมายการค้า พัฒนาและคุ้มครองแบรนด์หรือตราสินค้า รวมทั้งคุ้มครองสินค้าระหว่างทางด้วย”

ด้วยระเบียบวิธีวิจัยที่คล้ายกับแนวทางของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป (EUIPO) และสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐฯ (USPTO) ผลที่ได้จากการวิจัยในอาเซียนจึงสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการวิเคราะห์แนวใหม่เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่เน้นในด้านเครื่องหมายการค้า ในสหภาพยุโรปนั้น ช่วงพ.ศ. 2554 – 2556 เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมซึ่งมีทรัพย์สินทางปัญญาขับเคลื่อน (IP-intensive industry) ได้ผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 42 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด เฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลัก ได้ทำให้เกิดกิจกรรมร้อยละ 36 (มูลค่าประมาณ 4.8 ล้านล้านยูโร) ของทั้งหมด และสร้างงานเกือบ 46 ล้านตำแหน่ง (ร้อยละ 21)

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่คล้ายคลึงกันที่จัดทำโดยสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งสหรัฐฯ พบว่า อุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลักนั้น มีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการพัฒนาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยในพ.ศ. 2557 อุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลัก มีการจ้างงาน 23.7 ล้านตำแหน่งในสหรัฐฯ สำหรับแถบลาตินอเมริกา งานวิจัยที่จัดทำโดยสมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งได้ศึกษาอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าเป็นหลัก ในประเทศชิลี โคลัมเบีย ปานามา เปรู และเม็กซิโก ในช่วงพ.ศ. 2553 – 2557 พบว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ มีส่วนในการเติบโตของจีดีพี ตั้งแต่ร้อยละ 10 ถึง 21 และมีการจ้างงานในสัดส่วนร้อยละ 8 – 26 ของการจ้างงานทั้งหมด

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงาน The Economic Contribution of Trademark-Intensive Industries ได้ที่ https://www.inta.org/Communications/Documents/INTA_ASEAN_Economic_Impact_Study_082717.pdf

และดาวน์โหลดอินโฟกราฟิกในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยได้ที่http://www.inta.org/Communications/Documents/Impact_of_Trademarks_in_Thailand_TH_091117.pdf

เกี่ยวกับสมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (International Trademark Association: INTA)

สมาคมเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ เป็นสมาคมระดับโลกของเจ้าของเครื่องหมายการค้าต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญ
ที่สนับสนุนการใช้เครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องเพื่อปกป้องผู้บริโภค และเพื่อส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ สมาชิกของสมาคมฯ ประกอบด้วย เจ้าของเครื่องหมายการค้า ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ มากกว่า 7,000ราย จากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสมาชิก 26 รายในประเทศไทย ที่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรข้อมูลด้านเครื่องหมายการค้าทั่วโลก การพัฒนานโยบาย การศึกษา การฝึกอบรม และเครือข่ายระหว่างประเทศ สมาคมฯ ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2421 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงนิวยอร์ก และมีสำนักงานอยู่ในเมืองต่างๆ อาทิ บรัสเซลส์ ซานติเอโก เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ และวอชิงตัน ดีซี รวมถึงมีตัวแทนที่กรุงเจนีวาและนิวเดลี

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดตามได้จากเว็บไซต์ www.inta.org