สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย แถลงข่าวจัดงาน แอดแมน อวอร์ดส แอนด์ ซิมโปเซียม 2017 (Adman Awards & Symposium 2017) รางวัลสุดยอดโฆษณาและสื่อสารการตลาดที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพของวงการโฆษณาและสื่อสารการตลาดของประเทศ โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 14 ภายใต้ธีม “การสื่อสารที่ไร้รูปแบบ” หรือ โน ฟอร์แมท ครีเอทิวิตี้ (No Format Creativity) เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีทำให้คนทั่วไปสามารถสร้างคอนเทนต์ได้เอง จึงทำให้การสื่อสารนั้นไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัวอีกต่อไป โดยในงานยังจัดให้มีการเสวนาในหัวข้อ “ทางออกหรือทางตัน … การสื่อสารที่ไร้รูปแบบ” โดยได้นักการตลาดและนักโฆษณาชื่อดังมาร่วมพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ด้วยกันถึง 4 ท่านคือ นางสาวทัศนพร เอกพงศ์พิสิฐ นายโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ นายนันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว และนายวีรดิษ วิญญรัตน์ อีกทั้งปีนี้ยังเพิ่มประเภทการประกวดอีก 1 ประเภท คือ โน ฟอร์แมท ครีเอทิวิตี้ (No Format Creativity Category) เปิดโอกาสให้คนทำงานสร้างสรรค์ทุกคนสามารถส่งไอเดีย ชิ้นงานที่ไร้รูปแบบของตนเข้าประกวดได้
นายปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน แอดแมน อวอร์ดส แอนด์ ซิมโปเซียม 2017 กล่าวว่า งาน Adman Awards & Symposium นี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้เป็นปีที่ 14 แล้ว ถือเป็นงานรวมตัวใหญ่ที่สุดของคนทำงานในวงการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทตัวแทนโฆษณา บริษัทสื่อโฆษณา บริษัทกราฟฟิคดีไซน์ บริษัทสื่อดิจิตอล รวมถึงบริษัทประชาสัมพันธ์ ตลอดจนผู้ประกอบการและนักการตลาด โดยในปีนี้จะว่าด้วยเรื่องของสภาพแวดล้อมของการสื่อสารในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้วัฒนธรรมในการผลิตและการเสพสื่อการตลาดและสื่อโฆษณาต้องกระโจนตามไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ขึ้นแทบจะทุกชั่วโมงของการสื่อสาร ผู้บริโภคไม่ได้เป็นเพียงผู้รับสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเจ้าของสื่อที่สามารถสื่อสารได้ทันที ทำให้การทำงานของนักโฆษณาและนักสื่อสารการตลาดนั้นมีความยากลำบากขึ้นในการที่จะทำให้ผู้บริโภคประทับใจ และด้วยเหตุผลนี้เองทำให้ความคิดสร้างสรรค์ที่จะใช้แก้ปัญหาทางการตลาดหรือเพื่อตอบโจทย์นั้นควรจะต้องเป็นไอเดียที่ไร้แพลตฟอร์ม ไม่ใช่คิดขึ้นมาเพื่อใช้กับแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งโดยเฉพาะ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างสรรค์งานลักษณะนี้ สามารถเป็นแรงบันดาลใจขั้นสุดที่จะเป็นอนาคตของวงการโฆษณาไทย หรือจะนำพาไปสู่ทางตันกันแน่ จึงเป็นสิ่งที่นักโฆษณาต้องนั่งถกและคิดหาทางที่ไม่สะดุดให้สำหรับลูกค้าและแบรนด์ เพื่อไม่ให้หลงทางไปกับกระแสที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเพียงแค่ข้ามคืน
“ผมคิดว่านี่คือความแตกต่างที่นักโฆษณามืออาชีพหรือแอดแมน (Adman) อย่างพวกเรามี หน้าที่ของเราคือการปกป้อง แบรนด์ (Brand Protector) และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างบูรณาการ (Total Solutions) ให้กับลูกค้า เป็นคนสร้างแนวคิดที่มีคุณค่า และแฝงไปด้วยแง่คิดที่ให้อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงความไร้รูปแบบเหล่านี้ คือความท้าทายที่ยังต้องเดินไปด้วยความรอบคอบ ซึ่งผมคิดว่านักการตลาดและนักโฆษณาคนไทยเก่ง ต้องสามารถปรับตัวและทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีแน่นอน”
นางอ่อนอุษา ลำเลียงพล นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า “บทบาทของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ไม่เพียงมีหน้าที่แค่การส่งเสริมให้คนโฆษณาสร้างสรรค์ผลงานงานดีๆ ที่สามารถไปคว้ารางวัลมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศมาครอง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโฆษณาไทยเท่านั้น แต่อีกหนึ่งหัวใจสำคัญคือ การสร้าง คงไว้ สนับสนุน และกระตุ้นเตือนถึงจรรยาบรรณ จริยธรรมการทำงาน และความรับผิดชอบต่อสังคมเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคของการสื่อสารที่ไร้รูปแบบ หรือ No Format Creativity เช่นนี้ เราคือคนที่ต้องทำให้แน่ใจว่าสังคมจะถูกสร้างสรรค์ไปในทางที่ดี งานทุกชิ้นต้องสร้างคุณค่าต่อสังคม”
“หากสิ่งใดไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ถือว่าสิ่งนั้นหยุดอยู่กับที่ ไร้การพัฒนา วันนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอุตสาหกรรมโฆษณาไทย ไม่ต่างอะไรกับหลายๆ ที่ทั่วโลก ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนั่นหมายความว่าเราพัฒนา เรามีคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการพัฒนา และกำลังพัฒนาตัวเองขึ้นมามากมาย ดังนั้นการมีจิตสำนึกที่ดี มีจรรยาบรรณในการทำงาน จึงเป็นสิ่งที่เราในฐานะสมาคมโฆษณาต้องเน้นย้ำ ตอกย้ำ และวางรากฐานให้กับคนโฆษณาทุกคนให้ยึดมั่นในหลักการนี้ เพื่อหล่อหลอมสายเลือดใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่จะมาสานต่องาน ให้มีดีเอ็นเอของการสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม และนั่นจะทำให้เราเป็นมืออาชีพที่แตกต่าง และยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงทั้งในยุค 4.0 หรือในยุคต่อๆ ไป”
นายวีรดิษ วิญญรัตน์ ประธานคณะกรรมการตัดสินงานแอดแมนฯ ครั้งที่ 14 กล่าวว่า “ปีนี้เราได้เพิ่มประเภทการประกวดขึ้นอีก 1 ประเภท คือ โน ฟอร์แมท ครีเอทิวิตี้ (No Format Creativity) ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้กับผลงานที่ไม่กำหนดรูปแบบ ไม่กำหนดแพลตฟอร์ม เมื่อทำเสร็จแล้วสามารถปรับให้เข้ากับอะไรก็ได้ ไปอยู่ในส่วนไหนช่องทางใดก็ได้ นี่คือปัจจุบันที่เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน อยู่กับมัน และควบคุมให้งานนั้นๆ ออกมาตามที่เราวางแผนไว้ตั้งแต่แรกนั่นเอง ในส่วนของการตัดสินนั้นจะให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ทางการตลาดแบบครบวงจรที่ยอดเยี่ยมที่สุด
อย่างเช่นเคย และเราได้คัดเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับมืออาชีพแถวหน้าของสาขาอาชีพต่างๆ ในทุกประเภทการประกวด ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การตลาด การออกแบบ กราฟฟิคดีไซน์ กลยุทธ์มีเดีย ตลอดจนนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รางวัลจากเวทีแอดแมน จึงเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ควรค่ากับความคิดสร้างสรรค์ของคนโฆษณาและสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างประโยชน์แก่ผู้คนในสังคมไทยให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง”
สำหรับประเภทการประกวดของแอดแมนฯ ในปีนี้ได้แก่ Ad That Works (Effective Communication), Branded Content & Entertainment, Design, Digital & Interactive Media, Direct Marketing, Film, Innovative Idea, Integrated Marketing Communication (IMC) Campaign, Media, Out of Home, Print, Promo & Activation, Public Relations และ Radio โดยมีประเภทการประกวดเพิ่มขึ้นอีก 1 ประเภทก็คือ No Format Creativity รวมทั้งสิ้น 15 ประเภท
ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ทางสมาคมฯ ได้จัดให้มีการเสวนาขึ้นภายใต้หัวข้อ “ทางออกหรือทางตัน…การสื่อสารที่ไร้รูปแบบ?” โดยได้ลูกค้าและกูรูของวงการโฆษณา อาทิ คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธาน บริษัท วายแอนด์อาร์ ประเทศไทย จำกัด นายวีรดิษ วิญญรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ บริษัท ทีบีดับบลิวเอ ประเทศไทย จำกัด และได้รับเกียรติจากนางสาวทัศนพร เอกพงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไอ.พี. เทรดดิ้ง จำกัด มาร่วมพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลง และทิศทางใหม่ของวงการสื่อสารการตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดเทรนด์ใหม่เมื่อผู้บริโภคสามารถผลิตคอนเทนต์ และมีช่องทางการสื่อสารของตนเอง รูปแบบ บทบาทและแนวทางในการสร้างคุณค่าของงานสร้างสรรค์และแบรนด์เพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนของแอดแมน และงานสื่อสารการตลาดจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร ต้องอยู่ตรงไหนในสมการพลิกกลับเช่นนี้ ในขณะที่จรรยาบรรณและจริยธรรมของคนทำงานจะเป็นเช่นไร โดยมี นายนันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว ผู้ก่อตั้ง บริษัท นาวิน คอนซัลแทนท์ เป็นร่วมเสวนาและดำเนินการเสวนา
นอกจากนี้สมาคมฯ ยังขยายความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม ทั้งสัมมนาเชิงวิชาการที่จัดร่วมกับนิตยสาร BrandAge และสัมมนากลุ่มนักศึกษาจาก สาขาวิชาการโฆษณาและสื่อสารการตลาด กลุ่มวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมเป็นเจ้าภาพ ในหัวข้อ “คนโฆษณา…เส้นทางนอกตำรา” นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับสาธารณชนโดยร่วมกับสื่อออนไลน์อย่าง BrandBuffet ดำเนินการโหวตให้คะแนน “รางวัลโฆษณาขวัญใจมหาชน” และยังมีสื่อพันธมิตรอื่นๆ ที่ช่วยประชาสัมพันธ์งานนี้ ประกอบด้วย บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด มหาชน บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด บรอดคาสท์ จำกัด บริษัท ไทยรัฐทีวี จำกัด และรวมถึงสื่อการตลาดอย่าง BrandBuffet Marketing Oops!! Marketeer และ Positioning
พิธีมอบรางวัล หรือ แอดแมน ไนท์ นั้นจะจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 เวลา 18.00-22.30 น. ณ เมืองไทย จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์เฮ้าส์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์