พระพอเพียงพาพ้นภัย

วิกฤตแฮมเบอเกอร์ที่ลุกลามไปทั่วโลกในขณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบลามมาถึงประเทศไทยอย่างมิต้องสงสัย

แต่ไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะหนักหนาสักเพียงใด ก็คงไม่อาจทำร้ายสังคมเศรษฐกิจไทยได้รุนแรงไปกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 อีกแล้ว…

ย้อนกลับไปเมี่อครึ่งหลังของทศวรรษ 2530 ผู้คนในสังคมไทยต่างหลงระเริงไปกับตัวเลขของ GDP ที่เติบโตอย่างเร่าร้อนราวกับว่ามันจะไม่มีวันแปรเปลี่ยนเป็นอื่น

ตลาดหุ้นคึกคักรับการเปิดเสรีทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ที่บูมสนั่นผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่วประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในการดึงดูดเงินทุนต่างประเทศให้ไหลทะลักเข้าไทยชนิดมหาศาล

ใครเลยจะคาดคิดว่า วันหนึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูสวยหรูจะปลาสนาการไปภายในชั่วพริบตา…

ในที่สุดเศรษฐกิจที่ถูกปั่นจนพองโตราวกับลูกโป่งใกล้แตก ก็มิอาจทานทนต่อการเก็งกำไรค่าเงินของกองทุนเฮจฟันด์ได้อีกต่อไป
พลันที่ค่าเงินบาทถูกลอยตัว หนี้ที่กู้มาจากต่างประเทศก็งอกเงยขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ ธุรกิจมากมายต้องล้มระเนระนาด ผู้คนต้องตกงานมากกว่า 2 ล้านคน เศรษฐีมากมายต้องกลายร่างเป็นยาจกในชั่วข้ามคืน บางคนทนพิษเศรษฐกิจไม่ไหวถึงกับต้องฆ่าตัวตายเพื่อดับทุกข์ นาทีนั้นทุกอย่างดูมืดมนอนธการไปหมดสิ้น…

แต่พลันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540

แสงสว่างแห่งความหวังก็ถูกจุดขึ้นในทันใด…

“…เคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง

“ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…

“…ที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาก็เพราะว่าขยายการผลิตมากเกินไป และไม่มีใครซื้อ เพราะไม่มีใครมีเงินพอที่จะซื้อ ต้องถอยหลังเข้าคลอง จะต้องอยู่อย่างระมัดระวังและต้องกลับไปทำกิจการที่อาจจะไม่ค่อยซับซ้อนนัก คือใช้เครื่องมืออะไรที่ไม่หรูหรา มีความจำเป็นที่จะถอยหลัง เพื่อที่จะก้าวหน้าต่อไป ถ้าไม่ทำอย่างที่ว่านี้ ก็จะแก้วิกฤตการณ์นี้ยาก”

แท้จริงแล้วปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแนวทางไว้ตั้งแต่ปี 2517 แล้ว เนื่องจากพสกนิกรชาวไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2516-2517 ส่งผลให้ขบวนการพึ่งพาตนเองในชนบทเริ่มก่อตัวมานับตั้งแต่นั้น และขยายตัวมากขึ้นภายหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองในปี 2522 จนก่อให้เกิด “ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” ขึ้นมาควบคู่ไปกับแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศตาม “ยุทธศาสตร์โลกานุวัตน์พัฒนา” ฉบับฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus)

ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายการพัฒนาประเทศไทยตามแนวทางเสรีนิยม ว่า แม้ฉันทามติวอชิงตันจะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีแนวทาง 4 ประการ คือ การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน และการลดการกำกับควบคุมของภาครัฐ แต่ประเทศไทยของเราได้สัมผัสกับแนวทางของ Washington Consensus มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2398 แล้ว เพราะสนธิสัญญาบาวริ่งที่รัฐบาลอังกฤษบังคับให้ไทยลงนามนั้น ถูกร่างขึ้นบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยมนั่นเอง

ประเทศไทยถูกชักนำเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจเสรีนิยมอีกครั้ง เมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรก (2504) ถูกร่างขึ้นด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า และปรับเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกในเวลาต่อมา สังคมเศรษฐกิจไทยจึงเข้าสู่ลู่วิ่งทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว โดยมีเป้าหมายที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็น “เสือหนุ่ม” หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrializing Country; NIC)

สภาพคู่ขนานของสองยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทยดังกล่าว ดำรงอยู่เรื่อยมากระทั่งทศวรรษ 2530 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเตือนสติคนไทยอีกครั้งด้วยแนวทาง “ทฤษฎีใหม่” ในปี 2537 เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงอันเกิดจากความแปรปรวนของธรรมชาติและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

จนเมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่ของไทยแตกในปี 2540 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระราชดำรัสเพื่อเตือนสติสังคมไทยอีกครั้งในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็น “ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” จึงเริ่มได้รับความเอาใจใส่จากผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของไทยอย่างจริงจัง

เห็นได้จากการที่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มเข้าไปปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) และปรากฏชัดเจนอีกครั้งในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (พ.ศ. 2549-2550) ที่ให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงต่อประชาคมโลกอย่างเป็นทางการ ถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ จึงกล่าวยกย่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ว่าเป็น Bangkok Consensus หรือ “ฉันทามติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ที่เป็นดั่งหลักไมล์สำคัญต่อทิศทางใหม่ของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

จากเดิมที่เคยใช้ฉันทามติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ที่เน้นความ “อยู่ดีกินดี” โดยสมมติให้ความต้องการของมนุษย์ไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นความ “อยู่พอดี กินพอดี” ซึ่งเป็นการดึงเพดานแห่งความต้องการที่สูงลิ่วของมนุษย์ ให้ลงมาอยู่ใกล้แค่พอเอื้อมมือ มนุษย์จึงสามารถสัมผัสกับความสุขได้โดยไม่ต้องไขว่คว้าจนเกินกำลัง

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช ที่ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับพสกนิกรชาวไทย

ต่อให้วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอีกสักกี่ครา หรือหนักหนาสักเพียงใด เราก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป

เพราะบัดนี้พสกนิกรไทยรู้จักกับความ “พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน” ต่อโลกาภิวัฒน์เรียบร้อยแล้ว