“สมิติเวช” พยายามเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่สถานะโรงพยาบาลดิจิทัล 4.0 อย่างค่อยเป็นค่อยไป การจับมือกับ “ไลน์” เปิดตัวเทคโนโลยี ไลน์ บีคอน (Line Beacon) ก่อนหน้านี้ เป็นบันไดอีกขั้นที่จะทำให้สมิติเวชได้เข้าถึงรูปแบบบริการที่โดนใจลูกค้ามากขึ้น
นายแพทย์นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท บอกว่า ดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลซึ่งเป็นธุรกิจผู้คนที่ให้บริการด้านสุขภาพ ถ้าไม่ปรับตัว ก็จะอยู่ไม่ได้ในที่สุด
สมิติเวชกำหนดกรอบการพัฒนาสู่ดิจิทัลโดยรับนโยบายตรงจากโรงพยาบาลกรุงเทพซึ่งเป็นบริษัทแม่ต้นแบบคือ
1. Fiscal Transformation
ที่เป็นส่วนงานของอาคารสถานที่ห้องบริการการแพทย์ ส่วนโครงสร้างหลักของตัวอาคารและพื้นที่ใช้งานภายในบริเวณโรงพยาบาล
2. Medical Transformation
ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการให้การรักษาทางการแพทย์ การนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการรักษาพยาบาล การนำเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเข้ามาใช้สนับสนุนการรักษาและการทำงานของคณะแพทย์ให้แก่ผู้ป่วย การเพิ่มผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาทำงานด้านการวิจัย วิเคราะห์ และแก้ไขโรคเฉพาะทางต่าง ๆ
3. Service Transformation
การเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการกรอกเอกสารและประวัติเพื่อรับบริการอีกต่อไป เพียงยื่นบัตรประชาชนและเอกสารทั้งหมดจะประมวลนำเข้าสู่ระบบดิจิทัล เป็นการบริหารจัดการข้อมูลแบบไร้กระดาษ (Paperless) ทำให้ผู้ป่วยมีเวลาในการพบแพทย์ได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการกรอกเอกสารการเจ็บป่วยที่ส่วนงานทะเบียนเหมือนเช่นในอดีต
การได้ Line Beacon เข้ามาเสริมทัพการตลาดเชิงรุก ทำให้สมิติเวชสามารถลดขั้นตอนหลังบ้าน หันมาทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดคือ เน้นบริการลูกค้าให้เกิดความประทับใจ จนกลายเป็นความผูกพัน และเน้นพัฒนาข้อมูลทางการแพทย์ เป็นฐานความรู้เบื้องต้น เพื่อให้ลูกค้าได้ดูแลตัวเองก่อนมารับบริการที่โรงพยาบาล
ไลน์ บีคอน เป็นเทคโนโลยีที่อาศัยการส่งข้อมูล และตำแหน่งภายในอาคาร โดยอาศัยบลูทูธ ทำงานร่วมกับ สมิติเวช ไลน์ ออฟฟิเชียล แอคเคาน์ ถือเป็นอีกเครื่องมือการสื่อสารสำหรับองค์กร ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้า ได้รับสิทธิพิเศษด้านบริการแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น ถามตอบปัญหาสุขภาพ 24 ชั่วโมง จ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่าน ไลน์ เพย์เมนต์ สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับยา และนัดหมายแพทย์ด้วยตัวเองผ่านไลน์
ปัจจุบันคนไทยใช้ไลน์ 41 ล้านคน จากจำนวนผู้ใช้งานทั่วโลก 200 ล้านคน ขณะที่สมิติเวชมีฐานลูกค้าในระบบ 7 แสนคน มีจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ 2,400 คนต่อวัน มีการใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยนอก 5,000 บาทต่อคนต่อวัน สำหรับผู้ป่วยใน 40,000 บาท ต่อคนต่อวัน โรงพยาบาลตั้งเป้าหมายว่าจะมีลูกค้าไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 1,200 คนที่แอด สมิติเวช ไลน์ ออฟฟิเชียล แอคเคาต์ และเปิดใช้บริการ ไลน์ บีคอน
โจทย์ทางการตลาดของสมิติเวชคือ เราต้องการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า เข้าถึงง่าย เสร็จเร็ว เกิดเป็นความประทับใจ จนอยากบอกต่อ และช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างแบรนด์กับลูกค้าในที่สุด
นายแพทย์นิธิวัฒน์กล่าว
แนวทางจากนี้ไป สมิติเวชจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ การดูแลสุขภาพ ป้องกันก่อนเกิดโรค เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่มากขึ้น เช่น การใช้งานระบบซอฟแวร์อัจฉริยะ สามารถดูข้อมูลรายละเอียดสุขภาพแบบองค์รวมเฉพาะบุคคล ได้อย่างครอบคลุม และการใช้งานแอปพลิเคชั่น My Health+ ศูนย์สุขภาพออนไลน์ สามารถดูรายละเอียดด้านสุขภาพของตัวเองได้อย่างง่าย สะดวกสบายทุกที่ทั่วโลก อาทิ ผลการตรวจเลือด รายการยาที่เคยใช้ ผลการตรวจสุขภาพประจำปี ภาพเอกซเรย์ วันนัดหมายแพทย์ และผลอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์
สำหรับโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นต้นแบบของดิจิทัล เริ่มปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2543 เป้าหมายเพื่อให้แข่งขันได้กับโรงพยาบาลชั้นนำระดับโลก เน้นบริหารจัดการโดยอาศัยแนวคิดการรวมศูนย์เทคโนโลยีกลาง เพื่อแชร์ข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลในเครือ และเปิดให้โรงพยาบาลในเครือข่าย มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อยู่ภายใต้ระบบการบริหารงานของ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลกรุงเทพ ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาระบบไอทีหลัก Hospital Information System (HIS) เชื่อมโยงการทำงานของโรงพยาบาลในเครือเข้าด้วยกัน การทำ EMR (Electronic Medical Record) เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเข้าข้อมูลคนไข้ที่เขียนด้วยลายมือ มาจัดเก็บเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อความสะดวกในการใช้งาน การนำระบบ Tele-Interpretation Service บริการล่ามแปลภาษา เพื่อบริการคนไข้ชาวต่างประเทศใช้โต้ตอบกับแพทย์ผ่านวิดีโอโฟน การพัฒนาระบบ B-eXchange เชื่อมโยงฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านเวชระเบียนระหว่างโรงพยาบาลในเครือ
และปัจจุบันโรงพยาบาลกำลังพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะวิเคราะห์โรค เพียงกรอกอาการที่เป็นลงไป เป็นการใช้ระบบ Big Data Analytics เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพเชื่อว่าเป็นหนทางที่จะนำไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ของโรงพยาบาลชั้นนำในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล