พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ชี้ทำเลอยุธยาดาวเด่นแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ รองรับนิคมอุตสาหกรรมขยายตัว – ภาครัฐเร่งลงทุนโครงสร้างคมนาคม

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เผยทำเลที่อยู่อาศัยในเขตพระนครศรีอยุธยามีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นรองรับนิคมอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง หนุนอสังหาริมทรัพย์เติบโต ตอบสนองในรูปแบบแนวราบได้ดี โดยเฉพาะทาวน์เฮ้าส์ 1 ปีย้อนหลังมีอุปทาน 503 ยูนิต ขายแล้ว 73% ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทมีแรงตอบรับดีสุด ขณะที่บ้านเดี่ยวมีอุปทานใหม่จำนวน 357 ยูนิต ขายแล้ว 51% โดยบ้านเดี่ยวราคา ไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นที่นิยมมีอัตราการดูดซับเฉลี่ยสูงถึง 6.9 ยูนิตต่อเดือนต่อโครงการ ล่าสุดพบผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพตบเท้าเข้าชิงส่วนแบ่งการตลาดแล้วกว่า 30%

นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ได้ทำการสำรวจตลาด

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา ในรอบการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 พบว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ เนื่องจากเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังภาคเหนือและภาคอีสาน และยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้มีผู้คนย้ายเข้ามาในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมากและมีความต้องการที่อยู่อาศัยในทิศทางที่เพิ่มมากขึ้น จากกลุ่มอุปสงค์หลักทั้ง กลุ่มคนในท้องถิ่นรวมไปถึงแรงงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ย้ายมาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะเร่งดำเนินการในปลายปี 2560 เข้ามาเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากบริษัทต่างๆ ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาเพิ่มมากขึ้น และจะก่อให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยรวมภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์พื้นที่พระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบทาวน์เฮาส์ 55% บ้านเดี่ยว 40%และคอนโดมิเนียม 5% โดยโครงการใหม่ที่เปิดขายในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 -พฤษภาคม 2560 มี ทาวน์เฮาส์ จำนวน 503 ยูนิตสามารถขายได้แล้ว 73%,บ้านเดี่ยว จำนวน 357 ยูนิต ขายไปแล้ว 51% และคอนโดมิเนียม จำนวน 294ยูนิต ขายไปแล้ว 70% ซึ่งตลาดทาวน์เฮาส์เป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด โดยเฉพาะโซนนิคมอุตสาหกรรม ทำให้มีกลุ่มแรงงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงประชาชนในท้องถิ่นต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย โดยทาวน์เฮาส์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทได้รับการตอบรับดี มีอัตราการดูดซับเฉลี่ยอยู่ที่ 6.8-8 ยูนิตต่อเดือนต่อโครงการ

ขณะที่ตลาดบ้านเดี่ยว ส่วนใหญ่เน้นพัฒนาบ้านเดี่ยวระดับกลางที่ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราการดูดซับเฉลี่ยอยู่ที่ 6.9 ยูนิตต่อเดือนต่อโครงการ ส่วนโซนและราคาอื่นๆ ที่ยังพอไปได้ คือ โซนนิคมอุตสาหกรรมที่ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราการดูดซับเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 ยูนิตต่อเดือนต่อโครงการ สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมนั้นก็เริ่มมีอุปทานเข้ามาในตลาดโดยปัจจุบันมีเพียงโครงการเดียว จำนวน 280 ยูนิต

“สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคืออสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา นอกจากมีนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่แล้ว ยังมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพฯ เข้าไปทำตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ บมจ. วังทองกรุ๊ป โดยเน้นการพัฒนาโครงการแนวราบ เนื่องจากภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาตอบสนองในรูปแบบแนวราบยังไปได้ดี โดยเฉพาะรูปแบบทาวน์เฮาส์ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพฯ เข้าไปลงทุนในพื้นที่นี้มาจาก การมีประชากรย้ายถิ่นฐานเข้ามาพร้อมกับการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม และยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ได้แก่ โครงการทางพิเศษ สายอุดรรัถยา-พระนครศรีอยุธยา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา และจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ในกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน โครงการรถไฟความเร็วสูง อยุธยา – อีอีซี เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายจากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-ระยอง เพื่อใช้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งประเมินได้ว่าความต้องการที่อยู่อาศัยของอยุธยายังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปี ต่อจากนี้ นอกจากนี้โครงการที่ประกอบด้วยโปรดักส์หลากหลายรูปแบบภายในโครงการเดียว อาทิ ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด คาดว่าจะได้รับความสนใจในทำเลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับตอบรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม ” นายอนุกูล กล่าว