อาหารสำเร็จรูปบรรจุกล่องพร้อมรับประทาน หรือ Ready to Eat หรือ RTE กำลังเป็นธุรกิจร้อนแรงถูกพูดถึงมากที่สุดธุรกิจหนึ่งในปี 2552 จากการยาตราทัพของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารและรีเทล เช่น ซีพี พรานทะเล เอสแอนด์พี และอีซี่โกของเซเว่นอีเลฟเว่น ที่ประกาศพร้อมรบในตลาดนี้อย่างเต็มรูปแบบ
เงื่อนไขสำคัญที่ผู้ประกอบการทั้ง 4 รายต่างมองเห็นโอกาสจากธุรกิจนี้เหมือนๆ กัน คือ ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน คนมีเวลาน้อยลง การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ต้องใช้เวลาไปกับเรื่องงานมากกว่าการเดินซื้อวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารทานเอง และเสียเวลาเข้าครัวในแต่ละมื้อนานเกือบชั่วโมง
ที่สำคัญ ช่องว่างราคาอาหารข้างทางและอาหารสำเร็จรูปไม่ต่างกันมาก ผู้บริโภคตอบรับอาหารสำเร็จรูป หรือ Read to Eat ที่เคยมีราคาอาจสูงได้ง่ายขึ้น
การยอมรับและเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น อาหารกล่องจึงมีความหลากหลายครอบคลุมหมวดหมู่ จากเดิมที่มีแค่อาหารกล่องแบบ Frozen เริ่มแตกเซ็กเมนต์สู่ Chilled และที่เพิ่งปล่อยสู่ตลาดล่าสุด คือ อาหารกล่องที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง
อาหารกล่องพร้อมรับประทานแบบแช่แข็ง หรือ Frozen Food เป็นเซ็กเมนต์ที่ผู้บริโภคคุ้นเคยมากที่สุด เนื่องจากมีผู้ผลิตทำตลาดในเซ็กเมนต์นี้มานานมากกว่า 10 ปี โดยมี เอส แอนด์ พี ภายใต้แบรนด์ ควิกมีล และซีพี ที่มีอาหารกล่องพร้อมรับประทานแบบแช่แข็งจากบริษัทในเครือทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 5 แบรนด์ เป็นผู้บุกเบิกตลาดในช่วงแรก
แต่ในช่วง 5 ปีหลังนี้ การแข่งขันเริ่มรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น พรานทะเล เทสโก้ โลตัส เข้าร่วมแบ่งเค้กแห่งโอกาสนี้เพิ่มเติม และไลน์สินค้าก็ไม่ได้จำกัดอยู่ที่อาหารกล่องอีกต่อไป แต่ฉีกออกเป็นอาหารทานเล่น หรือเนื้อไว้สำหรับทานคู่กับอาหารอื่นๆ อย่างเช่น คลิ๊ก ของพรานทะเล รวมทั้งยังแตกสินค้าที่เจาะกลุ่มเฉพาะคนที่ต้องดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด อย่างเช่น สมาร์ทมีล ของซีพี และในปี 2552 เอส แอนด์ พี เองก็ประกาศแล้วว่าจะออกสินค้าเพื่อตอบสนองกลุ่มคนรักสุขภาพเช่นเดียวกัน
ขณะที่ซีพีประกาศบุกธุรกิจ RTE แบบเต็มสูบ โดยอาศัยความพร้อมเรื่องของเงินทุน เทคโนโลยี และกระบวนการทางการตลาด เพื่อสร้างแบรนด์ให้จดจำ เพราะเชื่อว่า RTE จะเป็นอาวุธในการขยายอาณาจักรธุรกิจในอนาคตที่สำคัญยิ่ง ความคึกคักจะมีให้เห็นอย่างชัดเจนจากค่ายนี้
เช่นเดียวกับ เซเว่น อีเลฟเว่น จุดยืนธุรกิจใหม่ ไปสู่การเป็น Convenience Food Store รายได้ 70% มาจากอาหาร โดยมี RTE เป็นหัวหอกในการเพิ่มยอดขาย
สดใหม่มาแรง
ถึงแม้ผู้บริโภคเริ่มยอมรับอาหารกล่องมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอถึงขนาดที่จะรับประทานทุกวัน ทุกมื้อ ซึ่งหากออก Chilled Food มา เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการขาดทุนให้กับบริษัท เพราะหากขายไม่ได้ในระยะเวลาที่กำหนด ก็ต้องทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ Frozen Food เก็บได้นานกว่า ทำให้ความเสี่ยงในการขายไม่ออกลดลง
ข้อดีของอาหารกล่องแช่เย็น Chilled Food คือ ใช้เวลาอุ่นอาหารน้อยกว่า และสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิเพียง 2-6 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิที่ต่ำกว่าในการเก็บทำให้อาหารแช่เย็นเก็บไว้ได้เพียงแค่ 3– 4 วันเท่านั้น ซึ่งจุดด้อยตรงนี้เป็นเหตุผลหลักที่หลายผู้ผลิตยังไม่พร้อมที่จะโดดเข้าร่วมในเซ็กเมนต์นี้ มีเพียงซีพีและพรานทะเลเท่านั้นที่เริ่มทดลองตลาดด้วยไม่กี่เมนู
นอกจาก 2 ประเภทข้างต้นแล้ว ยังมีอาหารกล่องที่สามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิห้องได้นานนับปีโดยไม่ต้องแช่เย็น โดยใช้เทคโนโลยีพาสเจอไรส์เป็นตัวช่วย ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงโรซ่าเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ผลิตอาหารกล่องประเภทนี้ออกมาจำหน่าย
“เหลา” ยัน “กะเพรา”
ไม่ว่าจะเป็นอาหารรูปแบบไหน หรือประเภทใด ก็ไม่มีใครอยากทานอาหารซ้ำเดิมๆ ติดกันทุกมื้อเป็นระยะเวลาหลายวัน สำหรับอาหารกล่องพร้อมรับประทานก็เช่นเดียวกัน
เมนูทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายมีให้เลือก ทั้งอาหารจีนซีฟู้ดขึ้นชื่อระดับเหลา อย่างเช่น ซุปกระเพาะปลา และปลานึ่งมะนาว อาหารเส้น อย่างเช่น สปาเก็ตตี้ หรือก๋วยเตี๋ยวผัด หรือแม้แต่อาหารง่ายๆ อย่างข้าวผัดใบกะเพรา หรือข้าวไข่พะโล้ ก็มี
อาหารจีนระดับเหลาที่เน้นกับข้าวมากกว่าอาหารจานเดียว ตอบโจทย์กลุ่มครอบครัวที่อยากทานอาหารร่วมกันในมื้อเย็น หรือวันหยุด แต่ไม่อยากทำกับข้าว
อาหารเส้น มักเป็นที่ถูกปากของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเด็กๆ ขณะที่อาหารจานเดียวง่ายๆ อย่างข้าวกะเพราไก่ หรือข้าวไข่พะโล้ นอกจากเอาใจทุกกลุ่มคนทุกวัยแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการไม่ถูกใจผู้บริโภคอีกด้วย
เพราะอาหารกล่องหนึ่งราคาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 50 บาท ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางด้านราคาสำหรับผู้บริโภค เมนูอาหารไทยจานเดียวง่ายๆ จะช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ได้ เพราะเป็นเมนูที่ทุกคนคุ้นเคย และทานได้ง่าย
สภาพตลาดส่วนใหญ่มักแข่งขันกันที่เมนู เพราะอาหารอย่างไรเสียก็ต้องขายความอร่อย เมนูต่างๆ ถูกผลิตให้มีหน้าตาใกล้เคียงกับอาหารทั่วไปมากขึ้น ขณะเดียวกันแบรนด์ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผู้บริโภค
ขณะที่ 3 แบรนด์หลัก เริ่มส่งเมนูเพื่อสุขภาพ ทำให้ Healthy เป็นจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันของแบรนด์ผู้นำ ยกเว้น Ezy’s Go ที่ไม่ได้ชูจุดขายเรื่องนี้ ตลาดมีการแบ่งเซ็กเมนต์เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทุกแบรนด์เริ่มให้ความสำคัญกับการรุกตลาดอย่างเข้มข้น โดยใช้สื่อหลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามแบบเฉพาะของตน
ต้องมาลุ้นกันดูว่า แบรนด์ไหนจะ ยึดพื้นที่ในใจลูกค้าได้มากที่สุด แต่ที่แน่ๆ RTE กลายเป็นสินค้าครองเมืองไปแล้วอย่างสมบูรณ์แบบ