แอพบัตรเครดิตไม่น้อยหน้า “เคทีซี” พลิกโฉม เพิ่มฟีเจอร์สแกนม่านตา

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาวงการธนาคารมีการปรับตัวอย่างหนักเรื่องดิจิทัล เพย์เมนต์ ได้ปรับโฉมรูปแบบของโมบายแอพพลิเคชั่นให้รองรับการใช้งานให้ทันสมัยมากขึ้น ยิ่งการเข้ามาของพร้อมเพย์ และ QR Payment ยิ่งช่วยกระตุ้นการจ่ายเงินทางดิจิทัลให้สูงขึ้น

ไม่ใช่แค่แอพพลิเคชั่นสำหรับบัตรเดบิตอย่างเดียวเท่านั้นที่มีการฟาดฟันกันอย่างหนัก ในส่วนของตลาดบัตรเครดิตก็รุกหนักกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเช่นกัน กลายเป็นเทรนด์ที่ต้องจับตามองในการเดินกลยุทธ์ของแต่ละธนาคาร

เคทีซีเป็นผู้เล่นล่าสุดได้ปรับโฉมโมบายแอพ “TapKTC” เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนรวดเร็ว การใช้งาน หรือการทำธุรกรรมผ่านมือถือกลายเป็นเรื่องปกติแล้ว จึงต้องสร้างประสบการณ์การใช้ให้ดีมากขึ้น

ถ้ามองในตลาดของบัตรเครดิต เคทีซีถือเป็นรายแรกๆ ที่รุกตลาดโมบายแอพ โดยที่มีคู่แข่งโดยตรงอยู่ 2 ราย ได้แก่ ซีตี้แบงก์ และกรุงศรี (แอพยู ชูส) เคทีซีได้เริ่มทำแอพได้ 5 ปีแล้วมีการพัฒนาฟีเจอร์เรื่อยๆ

ความท้าทายสำคัญของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของเคทีซีก็คือไม่ใช่เป็นแค่แอพดูยอดเงินการใช้อย่างเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มประสบการณ์อื่นๆ เรื่องทรานแอคชั่นอื่นๆ จึงมีการพัฒนาเรื่องการแลกแต้ม การทำเรื่องแบ่งชำระ เบิกเงินสด ตั้งลิมิตการใช้จ่าย รวมถึงการเชื่อมกับ QR Payment ในอนาคตได้

ทำให้ปีนี้เคทีซีได้ปรับโฉมครั้งใหญ่ใช้เวลาในการปรับอยู่ 3 เดือน เน้นเรื่องการปรับดีไซน์ให้ทันสมัย ใช้งานง่าย และเรื่องความปลอดภัย มีการปรับตั้งแต่การล็อกอินที่เปลี่ยนจากการเข้าด้วยอีเมล เป็นการยืนยันตัวตน (Biometrics) และการใช้รหัส ไฮไลต์อยู่ที่เทคโนโลยีสแกนม่านตา (Iris) กับบริการซัมซุงพาสที่มีการใช้เป็นรายแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่ 3 ของโลกต่อจากเกาหลี และอังกฤษ รองรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนซัมซุง แกแล็คซี่ที่มีอินฟาเรด สแกนม่านตา S8/S8+ และ Note 8

ธศพงษ์ รังควร ผู่อำนวยการธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าตอนนี้พฤติกรรมผู้บริโภคอยู่กับโทรศัพท์มือถือเกือบหมดแล้ว มองว่าเป็นช่วงเวลาดีในการปรับโฉมแอพใหม่เพราะเทคโนโลยีมีความพร้อมกว่าเมือหลายปีก่อน คนไทยมีมือถือ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และพฤติกรรมผู้บริโภคพร้อม มีการใช้แอพพลิเคชั่นมือถือมากขึ้น

ธนพงศ์เสริมว่า ปกติแล้วคนไทยมีแอพพลิเคชั่นในมือถือเฉลี่ย 32 แอพ 16 แอพมาจากเครื่อง ส่วน 16 แอพดาวน์โหลดเอง กลุ่มโซเชียลมีเดียยังได้รับความนิยมมากสุด ส่วนธนาคารยังไม่ได้เป็นที่นิยมมาก แต่เห็นการเติบโตที่ดีขึ้นเพราะสามารถทำธุรกรรมได้สะดวก ความท้าทายจึงต้องสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค หวังเป็น 1 ใน 5 ของ 16 แอพที่ผู้บริโภคเลือกดาวน์โหลด

การทำแอพพลิเคชั่นเป็นเหมือนช่องทาง Self Service อีกช่องทาง ทำให้ไม่ต้องไปรอที่สาขา หัวใจของแอพพลิเคลั่นเป็นเรื่องฟังก์ชันหลากหลาย ประสบการณ์ และเรียลไทม์ ต้องมีการปรับแอพอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลด TapKTC แล้ว 6 แสนดาวน์โหลด จากจำนวนลูกค้าบัตรเคทีซีรวม 3 ล้านราย แต่มีผู้ใช้แอคทีฟ 2 แสนราย เป็นการบ้านใหญ่ที่ต้องสร้างการรับรู้เพื่อให้ลูกค้าที่มีบัตรมาใช้งานแอพพลิเคชั่นให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าจะมีผู้ใช้ 2 ล้านรายภายในเดือนกรกฎาคม 2561