เปิดสถิติ คนไทยกินข้าวนอกบ้าน 56 ครั้งต่อเดือน ร้านสะดวก กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เข้าเฉลี่ย 21 ครั้งต่อเดือน กินถี่ 7 มื้อต่อวัน
ต้องบอกว่า “ไลฟ์สไตล์” ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และนักการตลาดต้องหมั่นจับเทรนด์เกาะกระแส “พฤติกรรม” ของผู้บริโภคให้ทันเพื่อไม่ให้ตกขบวนในการทำการตลาด หรือหากลยุทธ์มามัดใจกลุ่มเป้าหมายให้อยู่หมัด!
อีกหนึ่งพฤติกรรมที่น่าสนใจของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันคือ “การรับประทานอาหารนอกบ้าน” และล่าสุด บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ได้ทำรายงานการวิจัย ‘FoodTrips’ ออกมา ความน่าสนใจของงานวิจัยชิ้นนี้ ได้มีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคต่อการทานข้าวนอกบ้าน ทั้งความถี่ ลักษณะของการทานอาหารและการจับจ่ายในแต่ละมื้อ ช่องทางการซื้ออาหาร เหตุผลในการเลือก และเทรนด์ของตลาด
“สมวลี ลิมป์รัชตามร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย บอกเล่าพฤติกรรมการข้าวนอกบ้านเป็นสิ่งที่พบเจอบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย พร้อมยก “ตัวเลข” มาโชว์ให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยทานข้าวนอกบ้านเฉลี่ย 56 ครั้งต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตราเฉลี่ย 50 ครั้งต่อเดือน
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นประมาณการคร่าวๆ ได้ว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านเฉลี่ยเกือบ 2 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว!
“ปัจจัย” ที่ส่งผลให้พฤติกรรมกินดื่มนอกบ้านเพิ่มขึ้น เพราะ “ตัวเลือก” ของร้านอาหาร เมนู แบรนด์ รูปแบบร้านมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ขณะที่ข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ปี 2560 ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นหนึ่งใน “เทรนด์ที่มาแรง!” ของปีนี้ด้วย และภาพรวมธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเรียกได้ว่ามีมูลค่า “มหาศาล” กว่า 2.3 ล้านล้านบาท
ธุรกิจอาหารหลากหลายแค่ไหน…ลองพิจารณากันคร่าวๆ มีทั้งร้านอาหารไทย อิตาเลียน จีน ญี่ปุ่นฯ รูปแบบมีทั้งสตรีทฟู้ด, ร้านอาหาร และภัตตาคารระดับกลาง (Casual dining) และภัตตาคารระดับหรูหรา (Fine dining) ยังมีร้านบุฟเฟต์ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงบุฟเฟต์โรงแรม สารพัดกินกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว กระทั่งสถาปนาประเทศเป็น “ครัวไทยสู่ครัวโลก”
สำหรับ รายงาน Food Trips ล่าสุดนี้ ได้ชี้เทรนด์การกินข้าวนอกบ้านที่น่าจับตามอง 4 เทรนด์ด้วย มีอะไรบ้าง ไล่เลียงดู
1. ร้านสะดวกซื้อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในการทานข้าวนอกบ้าน
โดย 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคชาวไทยมองหาในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายอาหารที่เป็นแผงลอย (food stall) และร้านอาหารข้างทาง (street food) เทรนด์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2559 ทว่า การเติบโตของการเข้าถึงผู้บริโภคสำหรับทั้งสามช่องทางมีมากขึ้น โดยร้านสะดวกซื้อเติบโต 7% ผู้บริโภคเข้าร้านสะดวกซื้อเฉลี่ย 21 ครั้งต่อเดือน เหตุผลเพราะ “สะดวกซื้อ” บรรเทาความหิวได้
“เราจะเห็นได้ว่าร้านค้าปลีกต่างๆ เช่น Lawson 108, MAXVALU และ TOPS Daily ได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการพื้นที่รับประทานอาหารสำหรับลูกค้าที่เข้ามาเพื่อซื้ออาหารทานระหว่างเบรก หรืออย่างเช่น Family Mart ที่มีสาขาที่เป็น one-stop shopping destination ซึ่งมีทั้งขายของสด อาหาร บริการส่งสินค้า และแม้แต่ co-working space นี่อาจเป็นนัยสำคัญในการบ่งบอกถึงความสำคัญของการที่ผู้ค้าปลีกต้องตระหนักถึงพฤติกรรมการบริโภคและวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น”
ภาคธุรกิจก็ไม่พลาดที่จะมีกลยุทธ์ตอบสนองความต้องการตลาดได้ตรงจุด
2. ผู้บริโภคคนไทยเน้นทานอาหารมื้อหลักมากขึ้น
โดยพฤติกรรมการทานอาหารของผู้บริโภคระหว่างวันจะทานประมาณ 7 มื้อ ได้แก่ อาหารมื้อเช้า อาหารว่างก่อนมื้อเที่ยง มื้อเที่ยง อาหารว่างช่วงบ่ายหลังมื้อเที่ยง อาหารว่างช่วงบ่ายแก่ๆ มื้อเย็น และอาหารว่างรอบดึก
ที่น่าสนใจคือพฤติกรรมการทานอาหารว่างน้อยลง และเพิ่มการทานอาหารมื้อหลักอย่างมื้อเช้า กลางวัน เย็น มากขึ้นจากปีก่อน และมื้อเย็นมีอัตราการเติบโตสูงสุด 5% เมื่อเทียบกับมื้ออื่นๆ
3.การเติบโตและมนต์เสน่ห์ของร้านคาเฟ่ (ชา/กาแฟ)
ซึ่งตัวเลขบอกชัดว่าอัตราการเข้าถึงร้าน
กาแฟหรือ Coffee shop ของคนไทยอยู่ที่ 60% เมื่อแบ่งตามพื้นที่พบว่ากรุงเทพฯ มีอัตรา 69% สูงกว่าต่างจังหวัดที่มีอัตราเข้าถึง 53% เมื่อเจาะลึกลงไปอีกพบว่าผู้บริโภคชาวไทยเข้าร้านชา/กาแฟเฉลี่ยราว 6 ครั้งต่อเดือน โดยผู้บริโภคในกรุงเทพฯ จะเข้าร้านกาแฟเฉลี่ย 8 ครั้งต่อเดือน เหตุผลเพราะต้องการความรู้สึกสดชื่นและตื่นตัวระหว่างวัน
4. อาหารพร้อมทาน จับใจผู้บริโภคต่างจังหวัด
อาหารพร้อมทาน หรือ Ready to Eat : RTE เป็นทางเลือกสำคัญที่ฮิตฮอตในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย แต่ “ต่างจังหวัด” มาแรงกว่ากรุงเทพฯ โดยผู้บริโภคกว่า 7 ใน 10 ในต่างจังหวัดจะบริโภคอาหารพร้อมทาน ส่วนอาหารพร้อมทานประเภทแช่เย็น (Chill RTE) เติบโต 9% อาหารแช่แข็ง (Frozen RTE) เติบโต 7% และประเภทอาหารพร้อมทานในอุณภูมิห้อง (Ambience RTE) เติบโต 1% เหตุผลที่อาหารเหล่านี้มาแรงเพราะประหยัดเวลาในการเตรียมวัตถุดิบและการทำความสะอาดหลังประกอบอาหารนั่นเอง
สมวลี ทิ้งท้ายว่า “ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่มีความแน่นอน ทำให้เกิด ปรากฏการณ์สองขั้ว (polarizing phenomenon) ในกลุ่มผู้บริโภคที่ทานข้าวนอกบ้าน คือกลุ่มคนที่ทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น และคนอีกกลุ่มที่ ‘เลือก’ มากขึ้นในการทานข้าวนอกบ้าน
จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคที่รายได้ระดับกลางถึงต่ำได้รับผลกระทบจากภาพรวมทางเศรษฐกิจนี้ ทำให้เริ่มที่จะระมัดระวังในการทานข้าวนอกบ้านมากขึ้น เห็นรูปแบบการทานอาหารนอกบ้านที่ต่างกันออกไปปีต่อปี นั่นแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และความสามารถในการตามทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทต่างๆ ในการคงไว้ซึ่งจุดยืนในการแข่งขันทางธุรกิจและเพื่อให้เราสามารถรู้เท่าทันเกมส์กลยุทธ์ที่จะนำมาปรับใช้”
แล้วผู้อ่านล่ะ มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านอย่างไรบ้าง กำลังซื้อในกระเป๋ายังหนักพอที่จะออกไปกินดื่มอู้ฟู่เหมือนเดิมไหม ลองแชร์ข้อมูลกันได้ที่ https://www.facebook.com/positioningmag/