เอส แอนด์ พี จาก Quick Meal สู่ Common Meal

แม้จะไม่รุกเร็วเท่ากับคู่แข่งอีก 2 ราย แต่ เอส แอนด์ พี วางเป้าหมายไว้ว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า อาหารพร้อมรับประทานจะกลายเป็น Common Meal ที่ทุกบ้านต้องมีติดตู้เย็นไว้ และเลือกกินโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจในความสด สะอาด ปลอดภัยของอาหาร เป็นโจทย์อันท้าทายให้กับแบรนด์ ควิกมีล (Quick Meal) ในวันนี้ เป็นสิ่งยืนยันว่า เอส แอนด์ พี พร้อมทุ่มเต็มตัวในตลาดอาหารพร้อมรับประทานอย่างแน่นอน

ภากรณ์ ทิวเจริญ Vice President – Trade บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเพิ่งเข้ามาดูแลธุรกิจอาหารแช่แข็ง ภายใต้แบรนด์ ควิกมีล ได้เพียงปีกว่า บอกว่า ตามนโยบายที่ประเวศวุฒิ ไรวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ให้ไว้ คือ อีก 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจจัดจำหน่ายในช่องทางนอกร้านอาหารของเอส แอนด์ พี ที่มีอาหารพร้อมรับประทานเป็นสินค้าเรือธงจะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ในองค์กรเป็น 25% จากแต่เดิมที่มีสัดส่วนเพียงแค่ 10% เท่านั้น ทำให้เขาและทีมงานต้องเร่งสปีดยอดขายให้ได้เป็นอย่างน้อยสองเท่าในแต่ละปี

ภากรณ์เองก็มั่นใจว่า การบ้านที่ประเวศวุฒิให้มานั้น สามารถเป็นไปได้ไม่ยาก

3 ปัจจัยหนุน ตลาดพร้อมโต

ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดอาหาร Ready to Eat แบบแช่แข็งอยู่ที่ 16,000 ล้านบาท และหากมองแค่ช่องทางรีเทลก็มีมูลค่าสูงถึง 1,500 – 1,600 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% ในปีที่ผ่านมา

โดยมี 3 ปัจจัยหลักๆ ประกอบเข้าด้วยกันที่ช่วยผลักดันให้ตลาดเติบโตค่อนข้างสูง

การทำตลาดอย่างรุนแรงของผู้เล่นหลักๆ แต่ละรายในตลาด โดยเฉพาะพรานทะเล ที่ทุ่มงบการตลาดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์มหาศาล ขณะที่ซีพี ถึงแม้รูปแบบการทำตลาดจะไม่รุนแรงเท่าพรานทะเล แต่ด้วยสินค้าที่มีความหลากหลายและเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างผ่านเอาต์เลทนับพันของเซเว่น อีเลฟเว่น ทำให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้นเคยกับอาหารพร้อมทานมากขึ้นโดยปริยาย เป็นปัจจัยสำคัญลำดับแรก

ปัจจัยที่สอง เกิดจากผลพลอยได้จากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภทคอนโดมิเนียม ที่นอกจากจับจองทำเลดีๆ ในดาวน์ทาวน์จนเกลี้ยงแล้ว ยังเริ่มลามออกไปยังพื้นที่ชานเมือง และปริมณฑล ซึ่งผู้พักอาศัยในคอนโดส่วนใหญ่มักไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการทำกับข้าว หรือถ้ามีความสะดวกก็ไม่เหมือนกับการพักอาศัยอยู่ตามทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว

ขณะที่ผู้บริโภคเองก็เริ่มมีทัศนคติที่เปลี่ยนไปในทางบวกกับอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น ทั้งในแง่ของตัวผลิตภัณฑ์ และราคา

“ปัจจุบัน ผู้บริโภคในกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองว่าอาหารกล่อง เป็นอาหารเก่าเก็บ ที่ไม่มีความสดแต่อย่างใด พวกเขาเริ่มคุ้นเคยกับการทานอาหารกล่องที่บ้าน และเข้าใจว่าอาหารกล่องมีความปลอดภัย สดใหม่เหมือนกับอาหารจานเดียวตามสั่งทั่วไป และสะอาด”

“ขณะเดียวกัน ราคาของอาหารจานเดียวตามสั่ง หรือข้าวราดแกงที่ปรับราคาเป็น 30 – 35 บาทต่อหนึ่งจาน ทำให้ช่องว่างราคาระหว่างอาหารกล่องกับอาหารตามสั่งลดลง ผู้บริโภคจึงรู้สึกว่าอาหารกล่องไม่ได้มีราคาสูงจนไม่กล้าซื้ออีกต่อไป”

เมื่อมองมูลค่าตลาดและอัตราการเติบโตของอาหาร Ready to Eat แบบแช่แข็งในปีที่แล้ว บวกกับปัจจัยหนุนทั้งสามก็ไม่น่าแปลกเลยว่าทำไมภากรณ์ถึงได้มีความมั่นใจมากนัก

Follow Strategy ตามแบบมีกลยุทธ์

สำหรับแบรนด์ควิกมีล ของเอส แอนด์ พี แม้ไม่ได้ทำการตลาดเชิงรุกเช่นเดียวกับแบรนด์อื่น แต่จุดแข็งในแง่ของคุณภาพที่ทำให้แบรนด์คงอยู่มากได้มากกว่าสิบปี และรสชาติที่การันตีความอร่อยโดยภัทรา ศิลาอ่อน ก็ทำให้ปีที่ผ่านมา ควิกมีลปิดยอดขายที่ประมาณ 200 ล้านบาท

แต่ในปีหน้า ภากรณ์บอกว่าควิกมีลคงจะนิ่งแบบนี้ไม่ได้อีกแล้วหากต้องการเติบโตให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่สเต็ปการรุกของควิกมีลก็คงไม่เร็วและรุนแรงเท่ากับอีกสองแบรนด์คู่แข่งสำคัญในตลาด โดยกลยุทธ์สำคัญ คือ ออกสินค้าในหมวดที่คู่แข่งสำคัญได้ทุ่มงบการตลาดไว้แล้ว พร้อมๆ กับการเปิด Category ใหม่ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับพอร์ตสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน

“เอส แอนด์ พี แต่เดิมเน้นเรื่องคุณภาพ และความหลากหลาย เรามีเมนูให้เลือกมากกว่าคู่แข่งเยอะ และต้นทุนแบรนด์เราได้เปรียบมาก ที่ผ่านมาแทบไม่ทำโฆษณาเลยก็ขายได้ แต่การแข่งขันสูงขึ้น ทำให้เราต้องเริ่มปรับตัวเรื่องการตลาด แม้ว่าแบรนด์แข็งแรง แต่ไม่มีการย้ำและสื่อสารกับลูกค้า ก็อาจลืมได้ ซึ่งในปีหน้าจะทำการตลาดมากขึ้น จับกลุ่มลูกค้าที่เป็นทั้งคนรุ่นใหม่วัยทำงาน และครอบครัวให้ชัดขึ้น แล้วสื่อสารกับพวกเขา”

“การที่คู่แข่งรายอื่นได้ลงทุนเรื่องการตลาดมหาศาล ย่อมส่งผลดีกับภาพรวมของตลาดด้วย ซึ่งเราก็จะอาศัยผลพลอยได้ตรงนี้ในการเติบโต และในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีสินค้าใหม่ๆ ของเราเองด้วย เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ว่าแบรนด์เราไม่หยุดนิ่ง มีนวัตกรรมใหม่ และมีอาหารหลากหลายกว่าเดิม”

More Products, More Chances

ปัจจุบัน ช่องทางจัดจำหน่ายไม่ใช่ปัญหาของควิกมีล หากรวมทั้งช่องทางหน้าร้านอาหารเอส แอนด์ พี และช่องทางโมเดิร์นเทรด มีมากกว่า 1,000 แห่ง

ดังนั้น โฟกัสของบริษัทฯจึงมุ่งกับการพัฒนาสินค้า เพื่อเพิ่มความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมขึ้น

“เรามีทีมวิจัยและพัฒนาที่แข็งแกร่งมาก และจุดแข็งที่พื้นฐานของเราเป็นร้านอาหาร ไม่ใช่โรงงานเหมือนกับแบรนด์อื่น เราจึงมีเชฟที่พร้อมในการพัฒนาอาหารใหม่ๆ ควบคู่ไปกับคุณภัทรา ศิลาอ่อน”

ภากรณ์เล่าว่า จากการทำ Focus Group พบพฤติกรรมสำคัญในการรับประทานอาหารกล่องอย่างหนึ่งว่า ผู้บริโภคไม่ค่อยมีความจงรักภักดีในแบรนด์ และมีอาการเบื่อง่าย พร้อมเปลี่ยนไปลองเมนูใหม่ๆ เสมอ

สมมติว่า ผู้บริโภคอยากทานข้าวราดแกงเขียวหวานไก่ เขาก็จะเริ่มสำรวจตลาดว่าแกงเขียวหวานไก่มีกี่แบรนด์ที่ผลิตเมนูนี้ จากนั้น เขาจะทยอยซื้อทีละแบรนด์เพื่อชิมรสชาติจนครบทุกแบรนด์ ก่อนตัดสินใจจากรสชาติอีกทีว่าจะเลือกแบรนด์ไหนในเมนูนี้เป็นการถาวร ขณะที่เรื่องแพ็กเกจจิ้ง ปริมาณอาหาร และราคา เป็นประเด็นรองในการตัดสินใจ

และนี่เป็นเหตุผลที่ต้องนำเสนอความหลากหลายของสินค้าให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ซึ่งในปีนี้ Category ใหม่ที่ควิกมีลเตรียมปล่อยสู่ตลาดในปีนี้ คือ อาหารพร้อมรับประทานเพื่อสุขภาพในช่วงไตรมาสที่หนึ่ง นอกเหนือจาก 4 หมวดอาหารที่มีอยู่ คือ อาหารไทย อาหารประเภทเส้น อาหารเจ และขนมไทย

ภากรณ์ ทิวเจริญ จากปิโตรเคมีสู่ธุรกิจอาหาร

เพิ่งย้ายจากปูนซิเมนต์ไทยมายังเอส แอนด์ พี ได้ไม่นาน ภากรณ์ ทิวเจริญ ก็ได้รับโจทย์ที่ท้าทายจากประเวศวุฒิ ไรวา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กับการเพิ่มสัดส่วนรายได้พอร์ตสินค้าช่องทางนอกร้านอาหารเอส แอนด์ พี ซึ่งประกอบด้วยอาหารพร้อมรับประทาน ไส้กรอก และคุกกี้ จาก 10% เป็น 25% ในระยะเวลาสามปี

สำหรับภากรณ์ โจทย์นี้ท้าทายไม่น้อย เพราะถึงแม้จะมีพื้นฐานทางด้านการตลาดมาจากปูนซิเมนต์ไทย แต่ก็ดูแลผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมิคอลเป็นหลัก การเปลี่ยนฟิลด์มาทำงานเกี่ยวกับธุรกิจอาหารในครั้งนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี

“เราต้องปรับตัวเรื่องการตลาด แม้ว่าแบรนด์เอส แอนด์ พี จะแข็งแรง แต่ถ้าไม่มีการย้ำและสื่อสารกับลูกค้า ก็อาจลืมได้ ในปีหน้าจะทำการตลาดมากขึ้น จับกลุ่มลูกค้าที่เป็นทั้งคนรุ่นใหม่วัยทำงาน และครอบครัวให้ชัดขึ้น”

“จุดแข็งที่พื้นฐานของเราเป็นร้านอาหาร ไม่ใช่โรงงานเหมือนกับแบรนด์อื่น เราจึงมีเชฟที่พร้อมในการพัฒนาอาหารใหม่ๆ ควบคู่ไปกับคุณภัทรา ศิลาอ่อน”