ยุทธศาสตร์ “มาม่า” หลังควบรวมกิจการ “เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ ลุยลงทุน 400 ล้านบาท สู้ศึกตลาดคนกิน “เส้น”

ย้อนไปกลางปี 2560 ในงานสหกรุ๊ปแฟร์ มีแผนธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตาของ “เครือสหพัฒน์” ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค “แสนล้านบาท” และเก่าแก่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 7 ทศวรรษ กำลังพลิกเกมรุกธุรกิจ เมื่อบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI อีก 1 บริษัทในเครือที่ทำหน้าที่ “ลงทุน” ในกิจการต่างๆ ของเครืออีกทอด ได้ตัดสินใจ “ปรับโครงสร้าง” ธุรกิจด้วยการซื้อหุ้นธุรกิจอาหาร 3 บริษัทในเครือ ได้แก่ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TF) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” เบอร์ 1 ของไทย, บมจ.เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ (PR) ซึ่งผลิตข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปมาม่า และเส้นหมี่ขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวมาม่าฯ และบมจ.เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ (PB) ผู้ผลิต “ฟาร์มเฮ้าส์” เบเกอรี่เบอร์ 1 ของไทย

ในการนี้ จะมีการ “ควบรวม” บริษัทเข้าด้วยกัน คือ TF และ PR และตั้งชื่อบริษัทใหม่ กลับเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งวันที่ 18 ตุลาคมนี้

ซึ่งชื่อใหม่ที่เกิดขึ้นคุ้นๆ เพราะคือ “บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์” เช่นเดิม แต่ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “TFMAMA”

เมื่อบรรดา “แม่ทัพนายพล” ผู้กุมบังเหียน “มาม่า” ออกมาพร้อมหน้าพร้อมตาเล่ายุทธศาสตร์ธุรกิจจับกลุ่มเป้าหมาย “คนกินเส้น” มูลค่าหมื่นล้านบาท

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ (ขวา)

“พิพัฒ พะเนียงเวทย์” รองประธานกรรมการ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ และเหล่าทายาท “พจน์-เพชร-พันธ์ พะเนียงเวทย์” มาพูดคุยพร้อมหน้าพร้อมตากัน

”ซินเนอยี” เสริมแนวรบมาม่าและตลาดเส้นขาว

“พิพัฒ” บอกว่า การควบรวมระหว่าง TF และ PR เพื่อ “ซินเนอยี” ธุรกิจให้แกร่งยิ่งขึ้น เพราะแนวคิดและนโยบายที่ผ่านมา ต้องการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ “เส้น” ที่ผลิตจาก “ข้าว” หรือเส้นขาว ไม่ว่าจะเป็นเส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เส้นจันทน์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์โจ๊กและข้าวต้ม เพื่อรองรับการเติบโต

ในฐานะคนต้นคิดเคลื่อนขยายธุรกิจเส้นขาว มองว่าธุรกิจมีขึ้นลง บางสินค้ามี “อนาคต” บางสินค้าทำไปทำมา “อนาคตไม่ไกล” มากนัก เพื่อให้เห็นภาพชัด ตลาดเส้นขาวหรือเส้นที่ผลิตจากข้าวในอดีตเคยมีสัดส่วนประมาณ 10% ขณะที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งผลิตจากแป้งสาลีสัดส่วน 90% ทว่า “เทรนด์” ของตลาดกลับ “หดตัว” ลงอย่างต่อเนื่องจาก 9% 8% 7% และเหลือ 6% ในปัจจุบัน จากสารพัดปัจจัยกระทบตลาด โดยเฉพาะ “อัตรากำไรที่ต่ำ” ทำให้การทำตลาดและแข่งขันกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหืดจับ!

“6 ปีเปลี่ยนผู้บริหาร (อภิชาติ ธรรมโนมัย เป็นประธาน PR พันธ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ) แม้ตลาดจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่มองไม่เห็นอนาคต กำไรที่ต่ำลงทุนการตลาดไม่ได้ ภาพรวมธุรกิจเส้นขาวจึงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่การรวมกันครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจมีซินเนอยี เพราะ TF จะมีงบช่วยพัฒนาเส้นขาวและการทำตลาดให้ขายดีขึ้น”

ทุ่ม 400 ล้านบาท เพื่อยอดขายทะลุ 3 หมื่นล้านบาท 

ด้าน “พจน์” ทายาทของพิพัฒ ระบุว่า ณ สิ้นปี 2559 TF  PR และ PB มียอดขายรวมราว 2.2 หมื่นล้านบาท แต่เป้าหมายจากนี้ไปต้องการผลักดันยอดขายของ TFMAMA ให้เติบโต 3 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า จึงเดินเกมรุก 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ยอดขายในประเทศ 1 หมื่นล้านบาท ส่งออก 1 หมื่นล้านบาท และเบเกอรี่อีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังการควบรวมกิจการทำให้บริษัทเข้าไปถือหุ้นใน PB 46% และสามารถรับรู้ยอดขายได้

เป้าหมายดังกล่าว ทำให้บริษัทวางแผนลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อลงทุนเครื่องจักรกว่า 200 ล้านบาท สำหรับเพิ่มกำลังผลิตข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปมาม่า 3 เท่า เป็น 720 ตัน ภายในปี 2561 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตปีละ 240 ตัน และนำหุ่นยนต์เสริมทัพการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า โดยเฉพาะในส่วนที่การหยิบเครื่องปรุงบรรจุซอง ซึ่งมีการใช้แรงงานคนจำนวนมาก รวมถึงนำหุ่นยนต์ไปใช้ในโรงงานที่ส่อแววขาดแคลนแรงงาน และรับมือแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตด้วย เช่น โรงงานผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ศรีราชา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง

ที่สำคัญจะนำไปใช้ที่โรงงานประเทศฮังการีด้วย เนื่องจากต้นทุนด้านแรงงานสูง!

โดยหุ่นยนต์ที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิตมีมากกว่า 20 ตัว ซึ่งลงทุนเฉลี่ยกว่า 10 ล้านบาทต่อตัว

เก็บเกี่ยวโอกาสตลาดต่างประเทศ

พิพัฒ ยังเล่าถึงการขยายตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าไปยังตลาดต่างประเทศว่า ขณะนี้บริษัทกำลังมองหาโอกาสในการเข้าไปลงทุนที่ประเทศแอฟริกาใต้เพิ่มเติม จากที่ผ่านมามีแผนจะไปลงทุนในประเทศกานา และศึกษาตลาดในประเทศไนจีเรีย ทวีปแอฟริกา แต่มีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยจึงพับแผนลงทุนออกไป รวมถึงการที่พันธมิตรจากซาอุดีอาระเบียชวนไปลงทุน ก็เบรกไว้เพราะประเทศดังกล่าวมีกำลังซื้อสูง มาม่าอาจไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคนัก

ส่วนประเทศเมียนมา ที่ได้ซื้อที่ดินเพื่อขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า ขณะนี้ยังรอใบอนุญาติจากรัฐบาลเมียนมาอยู่ อย่างไรก็ตาม มาม่ามีฐานการผลิตสินค้าในหลายประเทศ เช่น เมียนมา บังกลาเทศ ฮังการี

โดยภาพรวมยอดขายมาม่าในฐานต่างประเทศและส่งออกมีมูลค่าราว 4,000 ล้านบาท เติบโตในอัตราที่ดี และเร็วๆ นี้บริษัทจะขยายตลาดบุกประเทศในยุโรป เช่น โครเอเชีย เซอร์เบีย และเยอรมันด้วย

สินค้าใหม่ “แซบ-สุขภาพ”

มาม่าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ “จำเป็น” ต่อปากท้องยามหิวและยามยาก ดังนั้นการออกสินค้าใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดจึงจำเป็น ประเด็นนี้ “พจน์” บอกว่า ได้ออกสินค้าใหม่ “มาม่ากะเพราแซบแห้ง” มาทำตลาดตอบโจทย์คนไทยชอบรสจัดจ้าน

นอกจากนี้ ยังวางแผนออกสินค้า “มาม่าบาร์” เจาะตลาดเพื่อสุขภาพ และรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ทันที และให้ “พลังงาน” จาก 10 ปีที่ผ่านมา เคยออกสินค้าลักษณะดังกล่าวมาแล้วแต่ตลาดยังไม่ตอบรับเท่าที่ควรและเลิกทำตลาดไปในที่สุด.