พื้นที่ให้บริการเกือบ 10,000 ตารางเมตร ขนาดใหญ่กว่าโรงพยาบาลทั่วไปบางแห่ง และนับเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านผิวหนังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแยกเพชรบุรี คือที่ตั้งของโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก โรงพยาบาลผิวหนังเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งใช้เงินลงทุน 800 ล้านบาท เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคสาวไทย ซึ่งทุ่มเทเต็มที่สำหรับความงาม ชนิดที่เรียกว่า “เท่าไหร่เท่ากัน”
นพ.ประยูร เจนตระกูลโรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผิวหนัง อโศก บริษัทโรงพยาบาลผิวหนัง จำกัด บอกว่า ต้องการแข่งขันเพื่อแย่งชิงกลุ่มเป้าหมายระดับ B+ ขึ้นไปจากแผนกผิวหนังและศูนย์เลเซอร์ของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ เช่น ศูนย์ผิวหนัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งมีขนาดพื้นที่ให้บริการ 200-300 ตารางเมตร
ขณะที่ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลผิวหนังอโศกอย่างน้อย 3 คน คือ นพ.ประยูร นพ.อานนท์ ไพจิตโรจนาและ พญ.ปิยะดา ทิพรังกร ล้วนเป็นแพทย์ที่ทำการรักษาในพรเกษมคลินิก และต่างมีคนไข้ประจำจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าจะติดตามมาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่น้อย
นพ.ประยูร เปิดเผยว่า คลินิกรักษาผิวหน้าและคลินิกความงามในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 400 แห่ง มีอัตราการเติบโตอย่างต่ำ 20% จากมูลค่าตลาดบริการทางการแพทย์ด้านผิวหนังประมาณ 3,285 ล้านบาท
“ตลาดเสริมความงามเป็นตลาดใหญ่ที่ความต้องการของคนไข้ไม่เคยลดลงเลย และนับวันจะมากขึ้น เป็นความต้องการด้านคุณภาพชีวิตอย่างหนึ่ง เขาต้องการหาสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะจ่ายได้”
ด้วยการวาง Positioning เป็นโรงพยาบาลผิวหนังเฉพาะทางที่ให้บริการด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยตรง ผนวกกับเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ ทำให้อัตราค่ารักษาจึงสูงไม่น้อย โดยเริ่มต้นที่ 2,500 – 160,000 บาท ต่อครั้งเลยทีเดียว
จุดเด่นคือ Strategic Location ใกล้กับแยกเพชรบุรี สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรี และแอร์พอร์ต ลิงค์ การรวมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยเฉพาะเกือบ 20 คน และจะเพิ่มเป็น 40 คน จะกลายเป็นจุดขายสำคัญที่เหนือกว่าคู่แข่ง
ด้านกลยุทธ์เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย นอกจากจะอาศัยชื่อเสียงในด้านของบริการทางการแพทย์ของไทยแล้ว ยังมีโฆษณาที่สนามบินสุวรรณภูมิ MRT BTS รวมถึงนิตยสารบนสายการบินประมาณ 5 แห่ง และใช้บิลบอร์ดที่สามารถมองเห็นได้จากบนทางด่วน เพราะกลุ่มเป้าหมายใช้รถส่วนตัวอยู่แล้ว โดยจะเน้นที่การประชาสัมพันธ์ ไม่ฮาร์ดเซลส์ เพราะต้องขายภาพลักษณ์อันน่าเชื่อถือ ทั้งหมดใช้งบการตลาด 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ นพ.ประยูรยังเปิดเผยถึงพฤติกรรมการเลือกใช้บริการด้านความงามของคนไข้ ด้วยว่า คนไข้จะพิจารณาจากโฆษณาและสื่อต่างๆ เป็นอันดับแรก อันดับต่อมาคือ Word-of-Mounth
ทั้งนี้ภายในปีแรก นพ.ประยูรคาดว่าจะมีรายได้ 500 ล้านบาท แบ่งเป็น ศัลยกรรมตกแต่งและเลเซอร์ 70% และการรักษาทั่วไป 30% จากกลุ่มลูกค้าคนไทย 70% และชาวต่างชาติ 30% ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากถึง 1,500 คนต่อวัน
Did you know?
ที่อังกฤษ การให้บริการทางการแพทย์ไม่เปิดกว้างเหมือนเมืองไทย เพราะคนไข้ไม่สามารถพบแพทย์ผิวหนังได้ทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการรักษาจากแพทย์ทั่วไปก่อน หากไม่สามารถรักษาได้หรือมีเหตุอื่นจำเป็นจึงจะถูกส่งตัวไปยังแพทย์ผิวหนังเป็นลำดับต่อไป