9 เรื่องน่ารู้ พระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ ๙

พิธีพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

นั่นหมายถึงพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่ได้ปักหมุดก่อสร้างพระเมรุมาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 

พระเมรุมาศที่งดงามราววิมานบนสวรรค์นี้ เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของนายช่างและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมในก่อสร้าง จนทำให้พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสร็จสมบูรณ์อย่างงดงามอลังการยิ่งนัก

และนี่คือ 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระเมรุมาศที่รวบรวมมาฝากกัน

พระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9

1. ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ

การก่อสร้างพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เสร็จสมบูรณ์ลงแล้วนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือกรมศิลปากร ในส่วนของพระเมรุมาศอันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดนั้น ออกแบบโดยนายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ร่วมกับทีมงาน โดยแนวคิดในการออกแบบได้มาจากพระเมรุมาศทรงบุษบก 5 ยอดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 

ทั้งนี้นายก่อเกียรติได้ออกแบบพระเมรุมาศไว้เป็นบุษบก 1 ยอด 5 ยอด และ 9 ยอด รวมทั้งหมด 4 แบบ ส่วนอีก 1 แบบเป็นของนายณรงค์ฤทธิ์ ทองแสง รวมทั้งหมด 5 แบบ หลังจากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในฐานะองค์ประธานในการก่อสร้างออกแบบพระเมรุมาศในครั้งนี้ ได้ทรงเป็นผู้คัดเลือกแบบพระเมรุมาศ 9 ยอดของนายก่อเกียรติ เพื่อดำเนินการก่อสร้างพระเมรุมาศต่อไป

พระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ

2. คติความเชื่อเกี่ยวกับ “พระเมรุมาศ”

เหตุที่มีการสร้างพระเมรุมาศให้ใหญ่โตอลังการและงดงามราวกับวิมานบนสวรรค์ นอกจากเพื่อให้สมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แล้ว ยังเนื่อมาจากความเชื่อตามคติพราหมณ์ที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็น “สมมติเทพ” โดยทรงเป็นเทพจุติลงมาเพื่อเป็นตัวแทนสวรรค์มาปกครองมนุษย์ เพื่อประกอบคุณงามความดีและเพื่อสะสมบารมี เมื่อกษัตริย์สวรรคตก็จะเสด็จกลับยังสรวงสวรรค์

และสถานที่ประทับของเหล่าเทพเทวดาก็คือยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งถือเป็นแกนกลางของจักรวาลตามคติไตรภูมิ บนเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีไพชยนต์ปราสาทอยู่กลางเมือง เขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยทะเล 7 ชั้น เรียกว่าทะเลสีทันดร สลับด้วยภูเขา 7 ลูก เรียกว่าสัตตบริภัณฑ์ ส่วนเชิงเขาพระสุเมรุนั้นเป็นที่ตั้งของป่าหิมพานต์และสระอโนดาต ถัดออกมาเป็นทวีปทั้ง 4 และมหาสมุทรทั้ง 4 ซึ่งมนุษย์เราอาศัยอยู่ในชมพูทวีปนั่นเอง

คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลนี้เป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ไทยสืบต่อมา โดยพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจักรวาลนั่นเอง

เป็นครั้งแรกที่มีการจัดสร้างพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด

3. ครั้งแรกในการก่อสร้างพระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด 

สำหรับพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสร้างพระเมรุมาศทรงบุษบกยอดปราสาท 9 ยอด เพื่อสื่อถึงรัชกาลที่ 9 ส่วนการจัดวางบุษบกทั้ง 9 นั้นได้แนวคิดมาจากพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีความเป็นอิสระ ลดหลั่นสวยงาม

พระเมรุมาศมีขนาดสูง 50.49 เมตร ฐานกว้าง 60 เมตร ยาว 60 เมตร ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบกจำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ 

โครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ ได้แก่ ลานอุตราวรรต หรือพื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ

ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน

ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี 

ฐานชาลาชั้นที่ 3 ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ

ส่วนที่สำคัญที่สุดอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางชั้นบนสุด คือบุษบกองค์ประธานซึ่งเป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิง ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น)

คชสีห์บริเวณหน้าพระเมรุมาศ

4. ผังที่ตั้งพระเมรุมาศอันมีความหมาย

การก่อสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงเชื่อมโยงกับคติความเชื่อเกี่ยวกับเขาพระสุเมรุ หากจุดที่ก่อสร้างพระเมรุมาศยังเชื่อมโยงกับศาสนสถานและโบราณสถานสำคัญที่อยู่รายรอบมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยบุษบกองค์ประธานของพระเมรุมาศ อันเป็นที่ตั้งพระจิตกาธานสำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะอยู่ในแนวเหนือใต้ตรงกับพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำให้เมื่อมองจากทางเข้าด้านทิศเหนือไปที่พระเมรุมาศ จะมองเห็นยอดพระศรีรัตนเจดีย์ซ้อนอยู่ในบุษบกองค์ประธานด้วย

อาคารประกอบพระเมรุมาศสร้างอยู่โดยรอบ

5. อาคารประกอบพระเมรุมาศอันสง่างาม 

นอกจากพระเมรุมาศแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีอาคารประกอบพระเมรุมาศ ที่ก่อสร้างขึ้นตามโบราณราชประเพณีอย่างสง่างาม ประกอบด้วย “พระที่นั่งทรงธรรม” เป็นพระที่นั่งสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ประทับทรงธรรมในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุพระบรมศพ และเป็นที่สำหรับคณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะทูตานุทูตเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท 

“ศาลาลูกขุน” เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพระราชพิธี ในครั้งนี้มีการสร้างศาลาลูกขุน 1 จำนวน 4 หลัง ศาลาลูกขุน 2 จำนวน 2 หลัง และศาลาลูกขุน 3 นอกรั้วราชวัติจำนวน 5 หลัง “ทับเกษตร” เป็นที่พักสำหรับข้าราชการที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพระราชพิธี “ทิม” เป็นที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง เจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ “ราชวัตร” เป็นแนวรั้วกำหนดขอบเขตปริมณฑลของพระเมรุมาศทั้งสี่ด้าน และ “พลับพลายก” เป็นโถงสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงรอรับส่งพระบรมศพขึ้นราชรถ

สระอโนดาตเเละเหล่าสัตว์หิมพานต์

6. สร้างสรรค์ภูมิสถาปัตย์ ครั้งแรกของสระอโนดาตในพระเมรุมาศ 

สิ่งหนึ่งที่นับว่าเป็นความพิเศษในการก่อสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้ ก็คือผลงานภูมิสถาปัตย์ หรือการจัดภูมิทัศน์รอบบริเวณพระเมรุมาศ โดยนับเป็นครั้งแรกของการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีการจำลองสระอโนดาตมาไว้ที่ท้องสนามหลวง ด้วยการขุดสระน้ำสูง 20 เซนติเมตร และตกแต่งให้เป็นสระน้ำสีมรกต บริเวณทั้ง 4 มุมของพระเมรุมาศ รวมทั้งมีสัตว์หิมพานต์นานาชนิดอยู่ในสระอโนดาตแห่งนี้ด้วย

อีกหนึ่งงานภูมิสถาปัตยกรรมสุดพิเศษคือการจำลองแปลงนาข้าวเลข ๙ ขนาดใหญ่ ขึ้นไว้บริเวณด้านหน้าเพื่อสื่อความหมายถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ผ่านแปลงนาสาธิตในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์ที่เกี่ยวกับการเกษตรและเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตามแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้แก่ประชาชน อีกทั้งยังมีการจำลองกันหันน้ำชัยพัฒนา และเครื่องดันน้ำ อันเป็นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นจากแนวคิดของพระองค์ไว้ในบริเวณใกล้เคียงกันอีกด้วย

ประติมากรรมครุฑรอบพระเมรุมาศ

7. งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ 

เนื่องจากพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ซึ่งมีเทพเทวดาและสัตว์หิมพานต์อาศัยอยู่ บริเวณรอบๆ พระเมรุมาศจึงประกอบไปด้วยประติมากรรมต่างๆ ที่สื่อความหมายถึงการเป็นเขาพระสุเมรุ โดยประติมากรรมประดับพระเมรุมาศมีกว่า 800 ชิ้น ประกอบด้วย ประติมากรรมนูนต่ำพระโพธิสัตว์, เทพพนม, ครุฑยุดนาค, เทวดายืน-นั่ง รอบพระเมรุมาศ, เทพชุมนุม, มหาเทพ อันได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม พระพิฆเนศ, ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ, ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่, ราวบันไดนาค, คชสีห์-ราชสีห์, สัตว์มงคลประจำทิศ ได้แก่ ช้าง ม้า วัว และสิงห์, สัตว์หิมพานต์, ครุฑประดับหัวเสา รวมถึงประติมากรรมคุณทองแดงและคุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยง ที่ประดับบริเวณด้านข้างพระจิตกาธาน

โดยประติมากรรมเหล่านั้นเป็นประติมากรรมร่วมสมัยที่สื่อถือศิลปะในรัชกาลที่ ๙ โดยเฉพาะประติมากรรมเทพและเทวดาที่มีกล้ามเนื้อและโครงสร้างเหมือนจริงตามธรรมชาติ แต่อ่อนช้อยตามแบบศิลปกรรมไทย

ฉากบังเพลิงระหว่างกำลังดำเนินงาน

8. งานจิตรกรรมโครงการพระราชดำริ รำลึกกษัตริย์นักพัฒนา 

ฉากบังเพลิง คือเครื่องกั้นทางขึ้นลงพระเมรุมาศ ลักษณะเป็นฉากพับได้ติดไว้กับเสาทั้ง 4 ด้าน เพื่อบังตาขณะปฏิบัติการถวายพระเพลิงพระบรมศพ อีกทั้งยังใช้ควบคุมทิศทางลม การเขียนจิตรกรรมลงบนฉากบังเพลิงนั้นส่วนมากจะเขียนเป็นภาพเทพเทวดา ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ตอนบนของฉากบังเพลิงวาดเป็นภาพของนารายณ์อวตารลงมาปราบทุกข์เข็ญในโลกมนุษย์ ตามคติพราหมณ์ที่เชื่อว่ากษัตริย์คือสมมติเทพ ส่วนความพิเศษก็คือ ตอนล่างของฉากบังเพลิงวาดเป็นภาพของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชกาลที่ ๙ ทั้ง 4 หมวดได้แก่ โครงการพระราชดำริหมวดน้ำ หมวดไฟ หมวดดิน และหมวดลม รวม 16 โครงการ 

ไม่เพียงฉากบังเพลิงเท่านั้น ภายในพระที่นั่งทรงธรรมก็ยังมีภาพเขียนจิตรกรรมเป็นภาพโครงการพระราชดำริในทั่วทุกภาคของประเทศ อาทิ ภาพโครงการพระราชดำริในพื้นที่ส่วนพระองค์สวนจิตรลดา มูลนิธิพระดาบส โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการฝนหลวง (ปฏิบัติการฝนหลวงดับไฟป่าพรุโต๊ะแดง) เป็นต้น 

ภาพวาดโครงการพระราชดำรินี้เน้นความเหมือนจริง ระบุได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไร มีใครอยู่ในภาพบ้าง และใช้โทนสีของภาพอ้างอิงจากจิตรกรรมฝาผนังในวัดเครือวัลย์วรวิหาร

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมพระเมรุมาศได้ 2-30 พ.ย. นี้

9. ครั้งหนึ่งในชีวิต พระเมรุมาศเปิดให้เข้าชม

หลังจากเสร็จงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีการอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศได้ในวันที่ 2-30 พฤศจิกายน ระหว่างเวลา 07.00-22.00 น. โดยในวันที่ 2 พ.ย. เวลา 07.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดนิทรรศการพระเมรุมาศ และหลังจากนั้นประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ โดยกำหนดให้เข้าชมรอบละ 5,000 คน รอบละ 1 ชม. แบ่งเป็นชมบริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศซึ่งเป็นส่วนของโครงการพระราชดำริ 15 นาที และนิทรรศการ 6 อาคาร 45 นาที  ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมสุดยอดงานศิลป์ของไทยที่รวมอยู่ในพระเมรุมาศ อีกทั้งยังเป็นการไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยเป็นครั้งสุดท้ายอีกด้วย

ที่มา : mgronline.com/travel/detail/9600000106686