ปัจจุบันตลาดบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วมูลค่า 3-4 หมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการ “รายใหญ่” ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจนี้มีหลักๆ 4 รายเท่านั้น ได้แก่ บางกอกกล๊าส ของเครือบุญรอดบริวเวอรี่หรือสิงห์ ซึ่งเป็นผู้นำที่มีการผลิตราว 1 ล้านตันต่อปี มีส่วนแบ่งตลาดราว 36% และยังเป็นเบอร์ 1 ในภูมิภาคอาเซียนด้วย ตามด้วย เบอร์2 อย่าง เบอร์ลี่ยุคเกอร์หรือบีเจซี ของกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี) ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”
ลำดับ 3 คือ สยามกลาส อินดัสทรี ของค่ายโอสถสภา ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคอายุกว่า 126 ปี และปิดท้ายที่หน้าใหม่แห่งวงการขวดแก้ว บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด ของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” เจ้าพ่อเครื่องดื่มชูกำลังคนใหม่
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “ปวิณ ภิรมย์ภักดี” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางกอกกล๊าส ทายาทรุ่น 4 ค่ายสิงห์ ได้ดึงมือดีด้านสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง “ศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร” มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัดหรือบีจีซี ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แก้ว ในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานกับยูนิลีเวอร์ แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลก เอส.ซี ยอห์นสัน แอนด์ซันที่มีแบรนด์ไบกอนออฟฯ
ศิลปรัตน์ บอกว่า เมื่อเข้ามามีภารกิจมากมายให้ทำทั้งการ “สร้างแบรนด์” บีจีซี ให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น ที่สำคัญคือยอดขายที่เติบโต “เท่าตัว” หรือเป็นเลข 1 หลักปลายๆหรือเกือบ 10% จากปกติโตเพียง 3-4%
ทว่า ความยากและท้าทายมีมาก เพราะ “ต้นทุน” การผลิตขวดแก้วสูง ขณะที่ตลาดบรรจุภัณฑ์ ในกลุ่มเครื่องดื่มมีบรรจุภัณฑ์อื่น “ทดแทน” ได้ เช่น ขวด PET และกระป๋องอะลูมิเนียม (Can) แต่ “จุดแข็ง” ของบรรจุภัณฑ์แก้วที่โดดเด่นกว่าประเภทอื่นๆ คือ Feeling ที่ได้สัมผัส ตลอดจนการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ภายในให้คงสภาพดี ไม่ทำปฏิกิริยากับผลิตภัณฑ์ที่บรรจุ การพัฒนาลูกค้าในการช่วยบรรจุ (Fill) ผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น
“ขวด PET และกระป๋องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และมาแชร์สัดส่วนตลาดบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว แต่ขวดแก้วยังโตขึ้น จากหลายปัจจัย เช่น ความหลากหลายของการบริโภคเครื่องดื่มใหม่ๆ และสินค้าอาหารที่หันมาใช้ขวดแก้วหลากหลายมากขึ้น ทำให้ดีมานด์ขวดแก้วมีการพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโตขึ้น”
ขณะที่การแข่งขันตลาดบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วเป็นสมรภูมิของ “ยักษ์” ชน “ยักษ์” และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาคือ เอเชียแปซิฟิกกลาส ทำให้มีการ “แข่งขันมากขึ้น” เพราะ “ศักยภาพ” แต่ละผู้เล่นนั้นแกร่ง
“มีผู้เล่นในธุรกิจนี้ 4 ราย เราไม่รู้ยอดขายของทุกรายว่าเท่าไหร่ แต่ส่วนแบ่งตลาดของเราเป็นอันดับ 1 ที่ 36% ส่วนเบอร์ 2 มีส่วนแบ่ง 33 เรานำนิดหน่อย”
หากเกาะติดธุรกิจขวดแก้วจะเห็นว่า “2 ยักษ์ใหญ่” มีวิวาทะชิงชัยการเป็น “ผู้นำตลาด” เสมอ โดยบีเจซีแสดงแบบรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดที่ 37% และมีการลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วเพื่อ “หวังแซงบางกอกกล๊าส” ใน 3 ปี และสิ้นปีนี้โรงงานไทยมาลายากลาส TMG (สระบุรี) ก็จะทำการผลิตและขายขวดแก้วได้เพิ่มอีก 300 ตันต่อวัน
ขณะที่บางกอกกล๊าสก็เตรียมเปิดโรงงานใหม่ที่จังหวัดราชบุรี ช่วงสิงหาคมปีหน้า หลังจากลงทุน 2,500 ล้านบาท จะเพิ่มกำลังการผลิตขวดแก้วอีก 10% หรือประมาณ 1 แสนตันต่อปี จะส่งผลให้บริษัทมีกำลังผลิตโดยรวม 1.2 ล้านตันต่อปี
ที่ผ่านมา การผลิตขวดแก้วของบิ๊กโฟร์ต่างป้อนให้กับผลิตภัณฑ์ในเครือ เช่น บีจีซี ป้อนเบียร์ น้ำดื่มสิงห์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในเครือเกิน 50% เช่นเดียวกับบีเจซีที่ลูกค้าหลักภายในประเทศ คือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ สยามกลาส อินดีสทรี ผลิตขวดแก้วสีชาป้อนเครือโอสถสภาที่มีเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 เป็นพระเอก และเอเชียแปซิฟิกกลาส ผลิตให้คาราบาวแดง จากเดิมซื้อจาก 3 ค่าย
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของ “ศิลปรัตน์” การวางเป้าหมายสร้างการเติบโตยอดขายจะอิง “ความต้องการตลาด” หรือดีมานด์มากขึ้น จากที่ผ่านมาโตจาก “กำลังการผลิต” บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่มี โดยโรงงานใหม่ที่ราชบุรีที่มีความยืดหยุ่นในการผลิตขวดแก้วแบบใสและแบบสีจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และลูกค้าใหม่ที่บริษัทจะโฟกัสเพิ่มคือกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
ปัจจุบันลูกค้าหลักๆ ของบริษัทแบ่งเป็นธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ สัดส่วน 60-70% กลุ่มธุรกิจอาหาร 20% และอื่น เช่น ธุรกิจยา 10%
“โรงงานใหม่จะเพิ่มศักยภาพในการผลิตขวดแก้วมากขึ้น รองรับลูกค้าที่หลากหลายขึ้น เพราะที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตของรายได้ตามกำลังการผลิตสินค้าประมาณ 3-4% แต่จากนี้ไปต้องการเติบโตตามความต้องการตลาด แต่บริษัทก็ไม่สามารถมีกำลังการผลิตสินค้าเพียงพอกับความต้องการ ที่สำคัญโรงงานผลิตขวดแก้วที่ราชบุรี จะช่วยเสริมแกร่งให้กับการทำธุรกิจของเครือบุญรอดและลูกค้าในพื้นที่ภาคใต้มากขึ้น ด้วยชัยภูมิของโรงงานที่ดี และประสิทธิภาพของโรงงานใหม่ด้วย”
บริษัทใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ลงทุนด้านเทคโนโลยี SAP เพื่อช่วยจัดการทุกสายงานของธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้นเข้าถึงข้อมูลได้ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วรองรับโลกยุคดิจิทัลด้วย
ความคืบหน้าการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) คาดว่าจะทำการซื้อขายได้ช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า หลังจากแผนดังกล่าวเลื่อนมาประมาณ 4 ปี
ที่ผ่านมาบริษัทได้กลับมาปรับโครงสร้างใหม่ แบ่งหน่วยธุรกิจให้มีความชัดเจนขึ้น ประกอบด้วย บีจีซี, บีจี โฟลต กล๊าส หรือ บีจีเอฟ ผลิตและนำเข้ากระจกแผ่น, บริษัท บีจี เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น (บีจีอี โซลูชั่น) ดำเนินธุรกิจพลังงาน, ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่นๆ เช่น ผลิตลังและกล่องกระดาษ ผลิตขวดพลาสติก และธุรกิจกีฬาและอื่นๆ เช่น สโมสรฟุตบอล บางกอกกล๊าส(บีจีเอฟซี) บีจีเอฟซี มีเดีย แอนด์ สปอร์ต เป็นต้น
การเข้าตลาด บีจีซี ต้องการระดมทุนในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
“ที่ผานมาอุตสาหกรรมขวดแก้วค่อนข้างนิ่งๆ ผู้ประกอบการขายตามกำลังผลิต มีเท่าไหร่ก็ขายเท่านั้น เป้าหมายใหญ่ของผม คือการผลักดันรายได้ของบริษัทแตะ 2.5 หมื่นล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญผมอยากสร้างการเติบโตของธุรกิจบีจีซีอยู่ที่ระดับ 1 หลักปลายๆ”.