งานโตเกียว มอเตอร์โชว์ในปีนี้แสดงถึงทิศทางที่ชัดเจนของค่ายรถยนต์ต่างๆ ของญี่ปุ่นที่มุ่งหน้าสู่การผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และการใช้ระบบอัจฉริยะ AI ในการขับเคลื่อนรถยนต์แห่งอนาคต
งานโตเกียว มอเตอร์โชว์ครั้งที่ 45 จัดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคมไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน ในปีนี้มีผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ราว 150 รายเข้าร่วมจัดแสดง จุดสนใจของงานอยู่ที่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่และไม่ปล่อยไอเสีย รถยนต์นี้ยังติดตั้งโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่จับการเปลี่ยนแปลงของการแสดงออกทางสีหน้าและเสียงของผู้ขับขี่ เมื่อตรวจจับได้ว่าผู้ขับขี่รู้สึกเหนื่อย ระบบจะสลับไปสู่ระบบขับขี่อัตโนมัติ
สถานีโทรทัศน์ NHK รายงานการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญว่า บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะหันมาเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยไอเสีย เพราะประเทศต่างๆ ได้ออกกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น และจะทำให้รถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันหรือแก๊สจะหมดไปจากท้องถนนในเวลาไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า
เยอรมนี อังกฤษ และฝรั่งเศส ได้ตัดสินใจลดการผลิตรถยนต์ที่ใช้แต่เพียงน้ำมันแล้ว ในขณะที่ประเทศจีนได้ออกนโยบายใหม่ โดยกำหนด “โควต้า” ให้ผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายจะต้องทำสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดในได้ 8%ในปี 2018 และเพิ่มเป็น 10% ในปี 2019 และ 12% ในปี 2020 โดยหากค่ายรถยนต์ใดไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายก็ต้องซื้อเครดิตจากคู่แข่ง มาตรการเช่นนี้ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆต้องเร่งสร้างยอดขายรถไฟฟ้าในตลาดจีนอย่างแข็งขัน เช่นเดียวกับ รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ก็กำหนดอัตราส่วนของรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ผู้ผลิตต้องจำหน่ายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นได้เน้นการผลิตรถยนต์ไฮบริดซึ่งใช้น้ำมันและมอเตอร์ มากกว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาโดยตลอด แต่ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป รถยนต์ไฮบริดจะไม่ถือเป็นรถยนต์ประเภทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า เหตุผลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คือความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งได้เห็นพ้องเมื่อปลายปี 2558 โดยความตกลงนี้เรียกร้องให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทางปฏิบัติให้เหลือศูนย์หลังปี 2593
ยุโรปตั้งใจที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมรถยนต์ของตน โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่ต่างจากญี่ปุ่นที่เน้นผลิตรถยนต์ไฮบริด เช่นเดียวกับจีนที่กำหนดเป็นนโยบายของรัฐที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดรถยนต์ไฮบริดซึ่งผู้ผลิตของญี่ปุ่นถนัดและมีความได้เปรียบ ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เช่น โตโยต้าและฮอนด้า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนการผลิตจากรถยนต์ไฮบริดเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรับมือกับนโยบายของจีน
ถ้าพูดในแง่เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งโดยใช้แบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวนั้นสามารถวิ่งได้ประมาณ 200 กิโลเมตรจากการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ดังนั้นการใช้งานจึงจำกัด นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ว่า แบตเตอรี่จะเสื่อมเมื่อเวลาผ่านไป และการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้งนั้นใช้เวลานาน ปกติรถยนต์ไฟฟ้าจะบรรจุด้วยแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนซึ่งจะเสื่อมสภาพในอุณหภูมิสูงและมีความเสี่ยงในการติดไฟ เนื่องด้วยปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ แบตเตอรี่จึงไม่ควรถูกชาร์จให้เต็มแต่ควรชาร์จประมาณร้อยละ 70 ถึง 80 เท่านั้น
ผู้ผลิตญี่ปุ่นมีความชำนาญเกี่ยวกับการควบคุมพลังงานของแบตเตอรี่จากการพัฒนารถยนต์ไฮบริด ผู้ผลิตญี่ปุ่นจึงต้องเร่งนำเทคโนโลยีนี้ปรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มุ่งสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน และรับมือกับกฎเกณฑ์ของประเทศผู้ใช้รถยนต์รายใหญ่อย่างจีนและสหรัฐ ที่จะลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันลงเรื่อยๆ จนหมดจากท้องถนนไปในที่สุด.
ที่มา : mgronline.com/japan/detail/9600000109526