เบื้องหลัง! กระทบแบรนด์ดัง Zara เจอคนงานแอบใส่โน้ตแฉ “พวกเรายังไม่ได้รับค่าจ้าง”

ภาพจาก : http://hollywood.greekreporter.com/

หลังเป็นข่าวใหญ่บานปลาย ล่าสุด Zara ออกมาประกาศแล้วว่า สาเหตุที่พนักงานตัดเย็บแอบใส่โน้ต “พวกเราเป็นคนทำสินค้าเหล่านี้ แต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างเลย” แนบไปกับสินค้าของ Zara ก็เพราะเจ้าของโรงงานที่ตุรกีได้หอบเงินหนี โดยปัญหาไม่ได้เกิดจากทาง Inditex เจ้าของแบรนด์ Zara โดยตรง

กลายเป็นข่าวดังเมื่อสัปดาห์ก่อนที่ AP เปิดเผยว่า นักช้อปในอิสตัลบูล ประเทศตุรกี ได้พบโน้ตที่มีข้อความว่า “พวกเราเป็นคนทำสินค้าเหล่านี้ แต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างเลย” ซ่อนมากับสินค้าของเสื้อผ้าแบรนด์ดัง Zara แม้จะไม่ได้มีการลงชื่ออะไรให้ชัดเจน แต่ก็มีข้อมูลยืนยันว่าพนักงานตัดเย็บจากโรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับ Zara ยังไม่ได้รับค่าจ้างจริง

ซึ่งล่าสุด Inditex บริษัทแม่ของ Zara ที่เป็นไลน์เสื้อผ้าจากประเทศสเปนได้ออกแถลงการณ์เพื่ออธิบายเหตุการดังกล่าวแล้ว

Inditex อ้างเจ้าของโรงงานหอบเงินหนี

โดยทางโฆษกของ Inditex บอกว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นที่โรงงาน Bravo Tekstil ในประเทศตุรกีที่ผลิตสินค้าให้กับเสื้อผ้าหลายๆ แบรนด์ รวมถึง Mango กับ Next ด้วย แต่โรงงานที่มีคนงาน 155 คน กลับต้องปิดตัวลงเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2016 จากเหตุสุดวิสัย เมื่อเจ้าของโรงงานได้แสดงพฤติกรรมฉ้อโกงด้วยการ “หายตัวไป” พร้อมกับเงินก้อนใหญ่ที่ควรจะจ่ายให้กับเหล่าคนงาน ทั้งๆ ที่ทุกคนทำสินค้าจนเสร็จสิ้นออกมาหมดแล้ว

ซึ่ง Inditex ยังอ้างว่าสุดท้ายแล้วโรงงาน Bravo Tekstil ได้ทำตามสัญญาในการผลิตสินค้าไปแล้ว ทางบริษัทเองก็ไม่ได้มีภาระผูกพันกับคนงานโดยตรง แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่า Inditex ยังคงต้องมีความรับผิดชอบต่อคนงานผู้ผลิตสินค้าของบริษัท ที่ถูกโรงงานของตัวเองเอาเปรียบด้วยเช่นเดียวกัน เพราะแม้โดยพื้นฐาน Bravo Tekstil จะไม่ได้ละเมิดสัญญากับ Inditex แต่บริษัทก็คงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ว่า Inditex กำลังขายสินค้าแบรนด์ Zara ที่ผลิตออกมาโดยคนงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง

ไม่ผิด! แต่ Inditex ควรรับผิดชอบ?

Fastcompany.com ยังให้ข้อมูลว่า Inditex คือผู้ค้าส่งสินค้าแฟชั่นรายใหญ่ที่มีร้านสาขาอยู่ 7,292 แห่งทั่งโลก ในปี 2016 มียอดขายสินค้าอยู่ที่ 23,300 ล้านยูโร (894,939 ล้านบาท) และทำกำไรไปประมาณ 5,000 ล้านยูโร หรือ 192,047 ล้านบาท นอกจากนั้นรายงานต่อผู้ถือหุ้นในปี 2016 Inditex ยังบอกว่า “ทางบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในด้านแรงงาน และทางกลุ่มจะไม่ประกอบกิจการที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนเด็ดขาด”

เกี่ยวกับปัญหาเรื่องค่าจ้างของคนงานจากโรงงาน Bravo Tekstil นั้น Inditex กล่าวว่า พวกเขากำลังอยู่ระหว่างการก่อตั้งกองทุนร่วมกับ Mango และ Next เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเบี้ยวค่าจ้าง โดยกองทุนจะช่วยชดเชยทั้ง “ค่าจ้างค้างจ่าย, สินไหมทดแทนสำหรับการเลิกจ้างล่วงหน้า, ค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้ใช้วันหยุดตามกำหนด รวมถึงเป็นเงินช่วยเหลือสำหรับลูกจ้างที่โรงงานถูกปิดอย่างกะทันหันด้วย” โดย Inditex บอกว่าพวกเขาจะ “พยายามหาทางออก สำหรับผลกระทบต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในทุกๆ ด้าน”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศได้ระบุว่า ถึงปัจจุบันที่โรงงาน Bravo Tekstil ถูกปิดไปประมาณ 1 ปี 4 เดือนแล้ว แต่ลูกจ้างทั้งหมดก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ทางโฆษกของ Inditex ก็ยอมรับเช่นเดียวกันว่าบริษัทยังไม่ได้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ แม้สินค้าแบรนด์ Zara ที่ลูกจ้างเหล่านี้ผลิตจะถูกส่งไปขายตามร้านต่างๆ แล้วก็ตาม

จนเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาลูกจ้างประมาณ 140 คน ตัดสินใจร่วมกันร้องเรียน และเรื่องราวปัญหาก็กลายเป็นข่าวดังในเดือน ต.ค. เมื่อโน้ต “พวกเราเป็นคนทำสินค้าเหล่านี้ แต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างเลย” ถูกพบอยู่ในสินค้าของแบรด์ Zara

แค่เศษเงินสำหรับ Inditex แต่ปัญหากลับยืดเยื้อยาวนาน

โดยตัวแทนของลูกจ้างบอกว่าพวกเขาเจรจากับ Inditex, Mango และ Next มาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่บริษัทใหญ่เหล่านี้กลับพยายามยื้อการเจรจาออกไป และเสนอค่าชดเชยเป็นเงินเพียง 1 ใน 4 ที่พวกเขาสมควรได้รับ

Clean Clothes Campaign องค์กรเพื่อพัฒนาสภาพในการทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอยังเปิดเผยว่า คนงานทั้งหมดต้องการค่าชดเชยประมาณ 2.7 ล้านลีรา (23 ล้านบาท) เท่านั้น ซึ่งคำนวณแล้วน้อยกว่า 0.01% ของยอดขายในปี 2017 ของ Inditex ซะอีก

โดยในแถลงการณ์เหล่าคนงานยอมรับว่า สุดท้ายแล้ว “คนผิด” ตัวจริงก็คือเจ้าของโรงงาน ซึ่งหอบเงินทั้งหมดหนีไป แต่พวกเขาก็เชื่อว่า Inditex, Mango และ Next มี “พลัง” เพียงพอที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา แต่ในระยะเวลาปีเศษบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ก็ยังไม่ได้ให้ความชัดเจนอะไรกับพนักงานเลย.