ไอบีเอ็มฉลองครบรอบ 65 ปีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตอกย้ำความสำเร็จการนำเทคโนโลยีเข้าสนับสนุนภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจไทย ตลอดระยะเวลากว่าหกทศวรรษที่ผ่านมา ประกาศความพร้อมนำเทคโนโลยีค็อกนิทิฟและแพลตฟอร์มคลาวด์พาองค์กรไทยเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่สู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีและธุรกิจ พร้อมจับมือหน่วยงานภาครัฐ การเงิน ปิโตรเคมี โทรคมนาคม และการแพทย์ ปักธงสร้างนวัตกรรม สนับสนุนงานวิจัยพัฒนา ก้าวสู่มิติใหม่ ขานรับนโยบายประเทศไทย 4.0
65 ปี ความสำเร็จ ‘ไอบีเอ็ม ประเทศไทย’
ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น เริ่มจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2491 เพื่อให้บริการสำมะโนการเกษตรและประชากรเป็นครั้งแรกของไทย และต่อมาได้ก่อตั้งบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในปี พ.ศ. 2495 โดยตลอดก้าวย่างกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้มีส่วนสำคัญในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าเสริมศักยภาพหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจในประเทศไทย อาทิ
พ.ศ. 2495-2505
- นำเครื่องบันทึกข้อมูลไฟฟ้า (Punched Card Machine) เข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเพื่อประมวลผลการสำรวจสำมะโนประชากรและการเกษตร ก่อนที่เครื่องดังกล่าวจะถูกนำไปใช้แพร่หลายในการทำสถิติ บัญชี และใบแจ้งหนี้
- มอบคอมพิวเตอร์เครื่องแรกให้กับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2506-2515
- เปิดตัว System/36 ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ชุดแรกที่มาแทนระบบหน่วยบันทึกข้อมูล
- เปิดตัวเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าภาษาไทยและภาษาอังกฤษเครื่องแรก
พ.ศ. 2516-2525
- เปิดตัว System 370 ที่สามารถรองรับการก้าวสู่ระบบออนไลน์ของธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- พัฒนาระบบ online reservation ให้กับการบินไทย
- ติดตั้งระบบ online banking บนเครื่องเมนเฟรมไอบีเอ็มเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ธนาคารกรุงเทพ จากนั้นได้เริ่มพัฒนาระบบ online ให้กับธนาคารเกือบทุกแห่ง
- เปิดตัวคอมพิวเตอร์ พีซี เครื่องแรก
พ.ศ. 2526-2535
- ติดตั้งเอทีเอ็มเครื่องแรกของไทยที่ธนาคารไทยพาณิชย์
- เปิดตัว AS/400 รุ่นแรก
- เปิดตัวเครื่องตระกูล IBM S/390 IBM RISC System/6000 และ Personal System 1 สำหรับลูกค้าบุคคลและองค์กร
- พัฒนาระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) บนระบบ UNIX สำหรับกรมสรรพากร
- เป็นบริษัทไอทีต่างชาติบริษัทแรกที่ได้รับพระราชทานสัญลักษณ์ตราครุฑในฐานะองค์กรที่ทำประโยชน์แก่สังคมไทย
พ.ศ. 2536-2545
- ก่อตั้งบริษัท ไอบีเอ็ม โซลูชั่น ดิลิเวอรี่ จำกัด เพื่อให้บริการด้านไอทีเอาท์ซอร์สซิง
- ติดตั้งนวัตกรรม IBM Content Manager OnDemand สำหรับการจัดเก็บเอกสารในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลเป็นครั้งแรก ให้กับบริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)
พ.ศ. 2546-2555
- ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) นำ Service-Oriented Architecture (SOA) สนับสนุนการจัดทำศูนย์บริการครบวงจร (One Stop Service) ภายใต้โครงการ E-Government
- สนับสนุนซอฟต์แวร์การเรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) แก่โครงการการศึกษาทางไกลของโรงเรียนวังไกลกังวล
- ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครอบคลุมด้านต่างๆ อาทิ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง (Grid Computing) ในงานวิจัยใน RFID ความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจสอบแบบย้อนกลับ เป็นต้น
- เปิดตัวโครงการ Academic Initiative ในไทยอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มต้นโครงการแรกที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- เปิดโครงการ Service, Science, Management and Engineering (SSME) เป็นครั้งแรก เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การบริการไอทีอย่างเร่งด่วน
- นำเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบครบวงจร (IBM Scale-out File Services หรือ SoFS) สนับสนุนภาพยนตร์ “ก้านกล้วย” ซึ่งเป็นทรีดีแอนนิเมชั่นเรื่องแรกของไทย โดยบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- จับมือ ที..ซี.ซี. เทคโนโลยี (TCCT) บุกเบิกดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียวอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Data Center)
- ติดตั้งเทคโนโลยี IBM Maximo Enterprise Asset Management ให้บริษัท รีเทลลิงค์ (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อบริหารจัดการอุปกรณ์และการซ่อมบำรุงแบบเรียลไทม์เป็นครั้งแรก รองรับร้านสะดวกซื้อและร้านที่มีเครือข่ายมากกว่า 7,000 รายทั่วประเทศ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านมินิมาร์ทในปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
- เปิดตัวโครงการ Smarter Cities Challenge ช่วยแก้ปัญหาท้าทายที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยเมืองที่ได้รับคัดเลือกในประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น และภูเก็ต
พ.ศ. 2556-2560
- จับมือมหาวิทยาลัย 9 แห่งเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถด้านอนาไลติกส์ให้กับบุคลากรในอนาคตของไทย
- เปิดตัวโครงการ Teacher Trysciences เพื่อสนับสนุนบทเรียนด้านวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) แก่คณะครูและนักเรียนในโรงเรียนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศไทย
- ติดตั้ง IBM ILOG Optimization เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิต จัดการค่าใช้จ่าย และลดความสูญเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานทุกแห่งของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์รายใหญ่ของโลก
- ติดตั้งเทคโนโลยี FlashSystem 900 ให้กับโซลูชั่น วัน เพื่อรองรับแคมเปญชิงโชคจากรหัสใต้ฝา ที่มีปริมาณการส่งรหัสรวม 600 ล้านฝาตลอดแคมเปญ
- นำเทคโนโลยี IBM Watson for Oncology เข้าพัฒนาการรักษามะเร็งปอด ตับ ลำไส้ และเต้านม ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
- จับมือธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงศรี นำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ใช้รับรองเอกสารต้นฉบับและการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน
- ติดตั้ง IBM Cloud เป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักและแพลตฟอร์มนวัตกรรมสำหรับบริการด้าน MarTech ของแสนรู้ พร้อมรองรับการขยายธุรกิจทั่วโลก
ในการนี้ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ยังได้เปิดนิทรรศการออนไลน์ “วันนี้/วันพรุ่งนี้ ก้าวไปด้วยกันสู่ประเทศไทย 4.0” (www.ibmthailand65.com) ที่รวบรวมความสำเร็จและก้าวย่างสำคัญของไอบีเอ็มกับองค์กรไทยตลอด 65 ปีที่ผ่านมา รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะช่วยเปิดมิติใหม่ในการเสริมสร้างศักยภาพให้ทุกภาคส่วนต่อไปในปัจจุบันและอนาคต
“ไอบีเอ็มมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้อยู่เคียงคู่ประเทศไทยมายาวนาน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จมากมายในโครงการสำคัญขอ
ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดียิ่งขึ้นต่อวิถีชีวิตของคนไทยจำนวนมาก การเป็นบริษัทไอทีต่างชาติแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับพระราชทานสัญลักษณ์ตราครุฑในฐานะองค์กรที่ทำประโยชน์แก่สังคม นับเป็นเกียรติสูงสุดตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ 65 ปีที่ผ่านมา” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว
ก้าวสู่มิติใหม่แห่งการนำนวัตกรรมขับเคลื่อนภาครัฐ-ธุรกิจ-การศึกษาสู่ประเทศไทย 4.0
ตลอดระยะเวลา 65 ปี ไอบีเอ็มไม่เคยหยุดที่จะพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ไอบีเอ็มได้ปรับองค์กรครั้งใหญ่ให้พร้อมพาธุรกิจก้าวสู่ยุคค็อกนิทิฟ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ไปสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีและธุรกิจ ที่เทคโนโลยีอย่างค็อกนิทิฟ คอมพิวติ้ง คลาวด์ และซิเคียวริตี้ รวมถึงแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่ จะทวีบทบาทสำคัญขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณข้อมูล โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค
ในปี พ.ศ. 2560 ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ให้บริการโซลูชั่นส์ด้านค็อกนิทิฟและแพลตฟอร์มคลาวด์เต็มตัว พร้อมได้นำศักยภาพดังกล่าวเข้าสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ โดยมีความร่วมมือล่าสุดในการนำเทคโนโลยีค็อกนิทิฟและแพลตฟอร์มคลาวด์เข้าเสริมศักยภาพภาครัฐ การเงิน การผลิต โทรคมนาคม และการแพทย์ สอดคล้องนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 อันประกอบด้วย
ภาครัฐ: เทคโนโลยีคลาวด์สำหรับ Smart City Platform ของ CAT
ในฐานะผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและคลาวด์คอมพิวติ้งชั้นนำในประเทศไทย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT มุ่งมั่นในการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านไอทีที่ครบครัน สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตของลูกค้าทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน
ไอบีเอ็มได้รับความไว้วางใจในการเป็นพันธมิตรรายแรก เพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการด้านคลาวด์ Infrastructure as a Service ให้กับ CAT มายาวนาน และในวันนี้ได้พัฒนาความร่วมมือไปอีกขั้น ด้วยบริการ Cloud Managed Services ที่จะสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันให้ CAT ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ตลอดจนการขยายขีดความสามารถในการให้บริการ Smarter City Platform เพื่อช่วยเมืองมากมายในประเทศไทยยกระดับการบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยภูเก็ตได้รับเลือกให้เป็นจังหวัดแรกในการนำร่องโครงการนี้
ภาคการเงิน: แนวคิด ‘อไจล์’ และ ‘ดีไซน์ธิงค์กิง’ เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปธุรกิจเชิงดิจิทัลของธนาคารไทย ธนาคารชั้นนำของไทยได้ร่วมกับไอบีเอ็ม โกลบอล บิสสิเนส ในการนำแนวคิด ‘อไจล์’ (agile) และ ‘ดีไซน์ธิงค์กิง’ (design thinking) มาใช้ในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปธุรกิจเชิงดิจิทัล (digital transformation) เริ่มตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการและระบบบริหารจัดการเบื้องหลัง ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับงานบริการลูกค้าเพื่อให้ตอบโจทย์และความต้องการที่เปลี่ยนไปของลูกค้าในยุคดิจิทัล โดยความร่วมมือที่ผ่านมาได้นำสู่การนำระบบโรโบติกส์ พรอเซส ออโตเมชั่น (Robotic Process Automation หรือRPA) มาใช้ เพื่อลดระยะเวลาของกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมากและภาระงานที่ต้องทำซ้ำๆ โดยได้มีการนำร่องใช้ RPA กับ 30 กระบวนการทำงาน และคาดหวังที่จะขยายต่อไปเป็น 100 กระบวนการในเฟสต่อไป
ปิโตรเคมี: วัตสัน ไอโอที เสริมประสิทธิภาพระบบปฏิบัติการโรงแยกก๊าซ ปตท.
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตก๊าซและน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้นำเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ ไอบีเอ็ม วัตสัน ไอโอที (IBM Watson IoT) มาใช้เป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มผลผลิตและเสริมศักยภาพระบบปฏิบัติการของโรงแยกก๊าซ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายมหาศาลที่เกิดจากการรีเซ็ทการทำงานของชุดอุปกรณ์ Gas Turbine หากเกิดเหตุหยุดทำงาน
การใช้ระบบค็อกนิทิฟที่ผนวกความสามารถด้านแมชชีนเลิร์นนิ่งนี้ ช่วยให้ ปตท. สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกจากเซ็นเซอร์หลายร้อยตัวจากหลายระบบ ร่วมกับข้อมูลประวัติจากระบบวัดประสิทธิภาพการทำงานและการบำรุงรักษา ซึ่งทั้งหมดผนวกรวมอยู่ในดาต้าเลค (Data Lake) เดียว และสร้างขึ้นบนสถาปัตยกรรมข้อมูลแบบไฮบริด ช่วยให้ผู้บริหารตลอดจนวิศวกรของปตท. สามารถมองเห็นรูปแบบของตัวชี้วัดและความเชื่อมโยงของข้อมูลต่างๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกันไม่ว่าจะเป็นแรงสั่นสะเทือนผิดปกติ ความเร็วที่สูงขึ้นของ gas turbine หรือแรงดันการไหลของคอมเพรสเซอร์ เป็นต้น โดยระบบสามารถตรวจจับและคำนวณคาดการณ์ความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า พร้อมแจ้งเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเกิดปัญหาความล้มเหลวของระบบขึ้น
ปัจจุบัน ปตท. ได้เริ่มใช้วัตสัน ไอโอที กับโรงแยกก๊าซระยอง และมีแผนขยายการใช้กับเครื่องจักรสำคัญทั้งหมดในโรงงานแยกก๊าซทั้ง 6 แห่งต่อไป
โทรคมนาคม: ศูนย์ค็อกนิทิฟซิเคียวริตี้อัจฉริยะรับมือภัยคุกคามยุคบิ๊กดาต้า
บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย ร่วมกับไอบีเอ็มในการนำโซลูชั่นค็อกนิทิฟ ซิเคียวริตี้ โอเปอเรชั่น เซ็นเตอร์ (Cognitive Security Operations Center หรือ SOC) เข้ารับมือกับภัยคุกคามที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ท่ามกลางการเกิดขึ้นของข้อมูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน
เทคโนโลยี SOC ไม่ได้จำกัดการปกป้องเฉพาะการเข้าถึงตัวข้อมูลเท่านั้น แต่ยังใช้ความสามารถในการเรียนรู้ของเทคโนโลยีค็อกนิทิฟ ไอบีเอ็ม วัตสัน ในการวิเคราะห์บทความและบล็อกจากผู้เชี่ยวชาญด้านซิเคียวริตี้ ที่ถูกเขียนขึ้นใหม่กว่า 60,000 เรื่องในทุกเดือน ร่วมกับข้อมูลภัยคุกคามมหาศาลทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์และตรวจจับแพทเทิร์นการเกิดขึ้นของภัยคุกคามต่างๆ ที่มาจากเน็ตเวิร์ค เอ็นด์พอยท์ ผู้ใช้ ระบบคลาวด์ ฯลฯ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ไขหรือป้องกันให้แก่หน่วยงานดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น
การแพทย์: พลังซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อการวิจัยและเก็บข้อมูลด้านจีโนมสำหรับการรักษามะเร็ง
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและเก็บข้อมูลด้านจีโนมเป็นที่แรกในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และโรคที่เป็นปัญหาสำคัญอื่นๆ ของประเทศไทย โดยคาดหวังที่จะนำผลที่ได้ไปพัฒนาการวินิจฉัยและการกำหนดแนวทางการรักษาโรคที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณข้อมูลจีโนมของแต่ละบุคคลที่มีถึง 200 กิกะไบต์ การศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีการประมวลผลขั้นสูง อย่างเช่นซูเปอร์คอมพิวเตอร์
ในปี พ.ศ. 2560 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เลือกเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง IBM POWER8 for High Performance Computing ของไอบีเอ็มเพื่อเป็นระบบที่รองรับการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าว โดย IBM POWER8 ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม จะช่วยให้นักวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สามารถจัดการกับข้อมูลปริมาณมหาศาลได้เร็วกว่าเดิม 100 เท่า ช่วยร่นระยะเวลาการวิจัยด้านจีโนม และช่วยให้นักวิจัยสามารถนำผลลัพธ์ที่ได้ไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ด้านการรักษาโรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยต่อไป
“ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่บทใหม่ของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอีกครั้ง โดยถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันมากมาย การพัฒนาความเชี่ยวชาญและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เน้นสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจอย่างต่อเนื่องของไอบีเอ็ม ทำให้เราพร้อมแล้วที่จะเดินเคียงข้างองค์กรไทยสู่โอกาสและความสำเร็จต่อไปในอนาคต” นางพรรณสิรีกล่าว
: