ทุบทิ้ง! ปิดตำนาน 34 ปี เดอะมอลล์ 2 รามคำแหง ได้เวลาปรับไลฟ์สไตล์ใหม่

เดอะมอลล์ กรุ๊ป เตรียมทุบตึกเดอะมอลล์ รามคำแหง เพื่อปรับปรุงครั้งใหญ่ หลังให้บริการนานถึง 34 ปี ก่อนปรับโฉมระดมสินค้ามาลดราคาทั้งตึกทิ้งทวนกับแคมเปญ Unforgettable Sale ชนิดที่ว่าจะไม่ขนสินค้ากลับแล้ว

“เดอะมอลล์ 2 รามคำแหงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเดอะมอลล์สาขาอื่นๆ และวันนี้เราเตรียมปิดห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ จึงจัดมหกรรมลดราคาครั้งสำคัญให้ลูกค้าที่มีความผูกพันกับเดอะมอลล์มายาวนาน โดยเฉพาะลูกค้าในย่านรามคำแหงและบริเวณใกล้เคียง” ชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าว

แม้เดอะมอลล์ สาขาแรก เกิดทำเลย่านราชดำริ แต่เดอะมอลล์ 2 รามคำแหง เป็นต้นแบบของเดอะมอลล์อย่างแท้จริง ทั้งสีสันของอาคาร รูปแบบของห้างสรรพสินค้า จนมีเดอะมอลล์ 3-4 รามคำแหง เดอะมอลล์ ท่าพระ, งามวงศ์วาน, บางกะปิ, บางแค และเดอะมอลล์ นครราชสีมา ก็ล้วนมีเอกลักษณ์ของเดอะมอลล์ที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง

สำหรับห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ รามคำแหง เปิดให้บริกการครั้งแรก 22 ธันวาคม 2526 และเดอะมอลล์ กรุ๊ป ถือเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายแรกที่เข้ามาลงทุนในย่านรามคำแหง และแทบจะเป็นรายเดียวที่เข้ามายึดทำเลดังกล่าว ก่อนจะทยอยมีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ฮอลลีวู้ด รามคำแหง มีห้างบิ๊กซี ตามมา

ปัจจุบันย่านรามคำแหงมีการพัฒนาขึ้นมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการขยายตัวของที่อยู่อาศัยส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในย่ายรามคำแหงเปลี่ยนแปลงไป

ไม่เพียงเท่านั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในย่านดังกล่าวยังมีต่อเนื่อง และในอนาคตย่านรามคำแหงเป็นหนึ่งในพื้นที่การลงทุนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ ที่จะสร้าง “รถไฟฟ้ามหานครสายสีส้ม” (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ที่สำคัญคือมีสถานีตั้งอยู่ตรงหน้าห้างฯ นับเป็นการเชื่อมต่อถนนรามคำแหงสู่ใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้วิถีชีวิตของชาวรามคำแหงสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ดังนั้นเพื่อรับโอกาส ความเจริญ และสะดวกสบายในการคมนาคม เดอะมอลล์ กรุ๊ป จึงอาศัยจังหวะนี้ปรับปรุงเดอะมอลล์สาขารามคำแหง ให้ตอบโจทย์ในอนาคต

โครงการก่อสร้างอาคารสรรพสินค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง ตั้งบนพื้นที่กว่า 30 ไร่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 10 ชั้น ประเภทสรรพสินค้า สวนสนุก สถานศึกษา ที่จอดรถยนต์ โรงหนัง ภัตตาคาร และฟิตเนส พื้นที่ใช้สอย 206,800 ตารางเมตร การปรับโฉมใหม่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563                

นอกจากปิดฉากเดอะมอลล์ แล้ว บริษัทจะวางแผนสร้างพื้นที่ย่านบางกะปิ ถึงย่านรามคำแหง ให้เป็นหนึ่งในย่านการค้าหลักเทียบชั้นใจกลางกรุงเทพฯ เพราะย่านดังกล่าวมีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ การกีฬาแห่งประเทศไทย (ก.ก.ท.) ที่มีการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ มีผู้ชมนับแสนคน

นับเป็นการยกเครื่องห้างสรรพสินค้าเพื่อรับกำลังซื้อมหาศาลจริงๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ กันยายน 2560 ที่ผ่านมา โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รามคำแหง ซึ่งเช่าพื้นที่เดอะมอลล์ รามคำแหง ได้ปิดกิจการไปแล้ว ก่อนที่จะทุบอาคารดังกล่าวทิ้งเนื่องจากอาคารดังกล่าวถูกเวนคืนเพื่อก่อสร้างเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน รามคำแหง 12 ในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ซึ่งโรงภาพยนตร์จะไปให้บริการในเดอะมอลล์ 2.