บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น (ChangeFusion) จัดกิจกรรม#HourOfCode2017 เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผ่านการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน ทักษะสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในยุคแห่งโลกดิจิทัล โดยภายในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับเด็กๆ กิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ“อนาคตของชาติ#HourOfCode2017” (Future Ready #HourOfCode2017) ที่ไมโครซอฟท์จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชน และเตรียมพร้อมให้พวกเขาพร้อมรับมือกับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างมั่นคง
กิจกรรม#HourOfCode ในปีนี้จัดขึ้น โดยมีเยาวชนอายุระหว่าง 8-16 ปี จำนวน 146 คน จากหลากหลายภูมิภาค รวมทั้งคุณครู ผู้ฝึกอบรมในโรงเรียน และผู้พิการจากองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ ที่มีความสนใจเรียนรู้ทักษะการเขียนโค้ดเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งรับฟังประสบการณ์และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้ที่ประกอบอาชีพในวงการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีกำลังพลิกโฉมสังคมและเศรษฐกิจของเราอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึง ทำให้ตลาดแรงงานเกิดความต้องการผู้มีทักษะใหม่ๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ โดยจากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum – WEF) พบว่า ร้อยละ 65 ของเยาวชนที่เรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาในปัจจุบันนี้จะประกอบอาชีพใหม่ที่ ณ ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ไมโครซอฟท์และพันธมิตรของเราเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมพร้อมเยาวชนให้สามารถประกอบอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายในอนาคต วัตถุประสงค์หลักของแคมเปญ Future Ready#HourOfCode2017 คือการสร้างความรู้ที่จะช่วยให้เด็กๆ ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะช่วยสร้างและส่งเสริมทักษะด้านการวิเคราะห์ซึ่งต้องใช้ในการประกอบอาชีพในทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นดนตรี แฟชั่น การผลิตสินค้า การแพทย์และการคมนาคมขนส่ง ไม่ใช่แต่เฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น”
“วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่มากกว่าแค่การเรียนรู้ทักษะการโค้ดดิ้ง มันกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การฝึกใช้เหตุผลวิเคราะห์และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านคอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ทักษะด้านดิจิทัลจะสามารถเป็นประตูสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น” นายธนวัฒน์ฯ กล่าวเสริม
การเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนเพื่อให้สามารถรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเป็นสิ่งที่หน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้ให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาวิธีรับมือให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยเตรียมพร้อมที่จะนำนโยบาย ‘ประเทศไทย4.0’ มาปฏิบัติ สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนที่จะช่วยให้เยาวชนไทยมีทักษะและความสามารถเพียงพอที่จะประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลในอนาคต
“หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือการร่วมผลักดันและสร้างประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันภายใต้ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งการบรรลุพันธกิจที่สำคัญยิ่งดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดรากฐานที่สำคัญที่สุดคือ เยาวชน ที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของชาติในอนาคต และคนอีกกลุ่มที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือคุณครู อาจารย์และผู้อบรมที่เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาแก่อนาคตของชาติของเรา การจัดกิจกรรม Future Ready#HourOfCode2017 ในวันนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเยาวชนไทยในการพัฒนาทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากและขาดไม่ได้ในยุคประเทศไทย 4.0” นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยาเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว
ในขณะที่รัฐบาลและองค์กรต่างๆ กำลังเร่งเดินหน้าเพื่อลดช่องว่างที่เกิดจากเทคโนโลยี สิ่งที่สำคัญเช่นกันก็คือ การให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มีต่อเยาวชนไทย ลุงพี หรือ ภควัต ลือพัฒนสุข นักพากย์เกมชื่อดังขวัญใจเด็กๆ ได้มาร่วมงาน#HourOfCode ในปีนี้ โดยมาร่วมสร้างสีสันและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้กับน้องๆ ด้วยการพากย์เกมสด Minecraft เอดิชั่นใหม่ล่าสุด‘Hero’s Journey’ และให้น้องๆ มาร่วมพากย์เกมด้วย ทำให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เต็มไปด้วยความสนุกสนานและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากมาสร้างความประทับใจในการเรียนรู้ทักษะด้านโค้ดดิ้งอย่างง่ายๆ แล้ว ลุงพียังแชร์ประสบการณ์จากการเข้าร่วมงาน‘Bett Asia’ ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์กับการศึกษาอีกด้วย
“เด็กๆ ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับคนรุ่นอื่นๆ ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เด็กที่มีความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะได้เปรียบในยุคที่ดิจิทัลก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ “ลุงพี หรือภควัต ลือพัฒนสุข กล่าว “อย่างไรก็ตาม เด็กๆ หลายคนยังไม่กล้าลองเขียนโค้ดเพราะคิดว่ายากและน่าเบื่อ การนำ Minecraft มาเป็นส่วนหนึ่งของสื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีมากสำหรับเด็กๆ ผมชื่นชมไมโครซอฟท์ที่นำวิธีการนี้มาใช้ ทำให้การเรียนวิชานี้ไม่น่าเบื่อและสนุกสนาน”
เด็กหญิงจิรภัทร พันธุ์ธีรานุรักษ์ อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เป็นหนึ่งในเยาวชนที่มีโอกาสได้สัมผัสการเรียนรู้โค้ดดิ้งเบื้องต้นผ่านกิจกรรมที่สนุกสนานใน#HourOfCode เวิร์กชอป “ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่หนูได้มาร่วมกิจกรรม #HourOfCode ที่จัดขึ้นโดยไมโครซอฟท์ ส่วนตัวชอบเกม Minecraft มาก เพราะไม่เพียงแต่สนุก ตัวการ์ตูนก็น่ารัก และการเล่นเกมยังช่วยให้หนูมีความคิดสร้างสรรค์เพราะสามารถออกแบบการ์ตูนได้เองหมดว่าจะให้ใครทำอะไรบ้าง และนอกจากMinecraft แล้ว โชคดีมากที่ได้มีโอกาสเรียนโปรแกรมต่างๆ ของไมโครซอฟท์ เช่น Microsoft MakeCode, Microsoft Mixed Reality, Paint 3D, OneNote และ Microsoft Excel ซึ่งเป็นประโยชน์มากและทำให้หนูสนใจวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มากขึ้น จริงๆ แล้ว หนูสนใจวิชานี้ตั้งแต่ยังเด็กเพราะว่าคุณพ่อทำงานด้านนี้ ก็เลยมีความคุ้นเคยและสนใจมากเป็นพิเศษกว่าวิชาอื่นๆ ค่ะ”
กิจกรรม#HourOfCode เป็นหนึ่งในหลากหลายโครงการของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนพันธกิจหลักของบริษัทฯ ในการนำประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุค‘ประเทศไทย4.0’ อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล กิจกรรม#HourOfCode เป็นแคมเปญที่ไมโครซอฟท์และองค์กร Code.org ร่วมกันจัดขึ้นทุกปีโดยในปีนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้จัดขี้นในกว่า 30 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เพื่อจุดประกายเยาวชนให้หันมาสนใจเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเตรียมตัวให้พร้อมกับโลกยุคดิจิทัล นอกจากกิจกรรม#HourOfCode แล้ว ไมโครซอฟท์ยังจัดฝึกอบรมทักษะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ใน 34 โรงเรียน และนักเรียนกว่า 4,120 คนได้รับการฝึกอบรมผ่านโปรแกรม Skype โดยการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Future Ready#HourOfCode2017
ไมโครซอฟท์เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญระดับโลกที่รณรงค์ให้เด็กนักเรียนใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเรียนรู้ทักษะการเขียนโค้ดเบื้องต้น ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างสัปดาห์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยในปีนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-10 ธันวาคม 2560
เกี่ยวกับ Minecraft Hero’s Journey สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่education.minecraft.net