หลายคนมองว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ AI และระบบอัตโนมัติจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจเฉพาะเรื่องระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ, เทคโนโลยีส่งสินค้าด้วยโดรน และระบบส่งสินค้าทันใจที่มี AI ช่วยวางแผนเส้นทางเท่านั้น แต่สิ่งที่ TrendWatching เชื่อว่าจะเป็นเทรนด์แรงคือ “automated commerce” การซื้อขายสินค้าด้วยระบบอัจฉริยะที่จะมีอิทธิพลมากขึ้นอย่างน่าจับตาในปีหน้า
TrendWatching ฟันธงว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากแบรนด์ก็จะเปลี่ยนไปอีก ทำให้ปี 2018 เป็นปีที่อุตสาหกรรมค้าปลีกได้รับผล impact ชัดเจนมากที่สุดกว่าวงการใด
หลังจาก e-commerce และ m-commerce วาดลวดลายเขย่าโลกค้าปลีกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ฟันธงว่าปี 2018 จะเป็นปีแห่ง A-COMMERCE ซึ่งผู้บริโภคจะ “เอาต์ซอร์ส” หรือโยนงานที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมซื้อสินค้าปลีกของตัวเองออกไปให้ระบบอัตโนมัติ ทำให้เกิดคำถามถึงแบรนด์ทั่วโลก ว่าพร้อมหรือยังกับยุคสมัย automated commerce? ที่เริ่มนำร่องเกิดแล้วในบางประเทศ
ประเด็น A-COMMERCE นี้เป็น 1 ใน 5 เทรนด์แรงที่สำนัก TrendWatching เชื่อว่าจะร้อนแรงในปี 2018 จุดนี้ TrendWatching วิเคราะห์ข้ามช็อต จนทำให้เห็นภาพชัดเรื่องระบบอัตโนมัติจะเป็นผู้รับหน้าที่ซื้อสินค้าแทนผู้บริโภคแบบครบวงจร ตั้งแต่หาสินค้า–มองหาราคาต่ำที่สุด–ลงมือซื้อ–บอกที่อยู่จัดส่งสินค้า–และขั้นตอนอื่นที่เกี่ยวกับการค้าปลีกทั้งหมด
คำวิเคราะห์ของ TrendWatching ฉายภาพกว้างนอกเหนือแนวโน้มที่แบรนด์จะพัฒนาคลังสินค้าอัตโนมัติที่พึ่งพาแรงงานคนน้อยลงในอนาคต รวมถึงระบบวางแผนการจัดส่งสินค้าที่จะใช้เทคโนโลยี AI และโดรนในการหาเส้นทางที่ดีที่สุด ซึ่งมีข่าวว่าผู้ค้ารายใหญ่ของจีนอย่าง JD.com กำลังใช้เพื่อตอบโจทย์การสั่งซื้อสินค้า 92% ที่ลูกค้าทั่วเมืองจีนต้องการรับสินค้าภายใน 1-2 วันหลังจากที่สั่งซื้อ
ในปี 2018 นักช้อปจะมีสิ่งที่ “สำคัญกว่า” ให้ทำ ดังนั้นจึงมีหลายคนโอนงานที่เกี่ยวกับการซื้อข้าวของเครื่องใช้ให้ระบบอัลกอริธึมและอุปกรณ์อัจฉริยะ
สัญญาณที่แสดงว่าคำพูดของ TrendWatching ไม่ได้เกินจริง คือความนิยมใน Amazon Dash ปุ่มสั่งซื้อสินค้าที่ดึงดูดลูกค้าหลายล้านรายในสหรัฐฯ ได้สำเร็จด้วยระบบ one touch auto-ordering เพราะผู้ใช้สามารถสั่งสินค้าออนไลน์ได้ด้วยการกดปุ่มครั้งเดียว
นอกจากนี้ ผู้คนหลายล้านคนยัง “outsourcing” หรือโอนงานด้านการเงินให้กับบริการชื่อ Digit แอปพลิเคชันออมเงินอัตโนมัติที่จะออมทุกครั้งเท่าที่ระบบเห็นโอกาส การออมเงินแบบเล็กน้อยโดยที่ผู้ใช้ไม่ทันรู้ตัวนี้ประสบความสำเร็จมาก เบ็ดเสร็จสถิติเดือนมีนาคม 2017 พบว่า Digit สามารถออมเงินได้รวมกันมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อคำนวณจากผู้ใช้ทุกราย
สิ่งถัดไปที่ AI จะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแนบเนียนคือการซื้อสินค้าผ่านระบบอัตโนมัติ ประเด็นนี้ TrendWatching ใช้คำว่า “True A-COMMERCE” ซึ่งจะไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการที่ระบบผู้ช่วยส่วนตัวเทคโนโลยี AI จะทำหน้าที่ซื้อสินค้าให้ทุกคน แต่ยังหมายถึงร้านค้าที่เข้าข่าย True A-COMMERCE อย่างร้านค้าไร้แคชเชียร์
ร้านค้าสไตล์นี้คือร้านที่ผู้ใช้หยิบสินค้าแล้วเดินออกไปได้โดยไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงิน แม้ผู้ริเริ่มแบรนด์แรกคือ Amazon จะไม่พร้อมเปิดบริการที่ร้านใน Seattle แต่เมื่อกลางปี ก.ค. 2017 ที่ผ่านมา แบรนด์ค้าปลีกจีนรายใหญ่อย่าง Taobao กลับเปิดตัว Tao Cafe ซึ่งเพียงผู้ใช้สแกนสมาร์ทโฟนที่ประตูร้าน ก็สามารถหยิบสินค้าที่ต้องการแล้วเดินออกจากร้านได้ทันที จุดนี้ลูกค้าจะได้รับบิลค่าสินค้าทางโทรศัพท์มือถือ
นอกจากนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอินเดียอย่าง HyperCity ก็เปิดร้าน ”ไร้แคชเชียร์” จำนวน 2 แห่งที่เมืองไฮเดอร์ราบัด
True A-COMMERCE ยังรวมถึงระบบที่ AI สามารถวางแผนการใช้จ่ายของผู้ใช้ได้ เช่น บริการสัญชาติอังกฤษชื่อ WeSwap ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อกันยายน 2017 ที่ผ่านมา สามารถประเมินค่าใช้จ่ายเบื้องต้นให้ผู้ใช้ที่เดินทางท่องเที่ยว โดยอิงข้อมูลจากการใช้จ่ายของสมาชิกในชุมชน WeSwap ซึ่งเคยเดินทางไปสถานที่เดียวกัน การประเมินนี้ทำให้ WeSwap สามารถเรียนรู้พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้ใช้ได้ ทำให้การวางแผนซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น
แม้แต่ไก่ทอด KFC ก็พยายามปรับตัวรับ A-COMMERCE เพราะร้านใหม่ที่เปิดตัวในกันยายน 2017 นั้นมีคุณสมบัติ ‘Smile to Pay’ ซึ่ง KFC ร่วมมือกับ Alibaba นำเทคโนโลยี Alipay มาใช้กับกล้อง 3D และระบบวิเคราะห์ใบหน้าเพื่อระบุตัวตนของลูกค้า ซึ่งจะทำให้ลูกค้าจ่ายเงินด้วยรอยยิ้มได้ หลังจากกรอกเบอร์โทรศัพท์แล้ว
ในบทสรุปของเทรนด์นี้ TrendWatching ชี้ว่าแม้แนวโน้มนี้จะยังไม่มีที่สิ้นสุดหรือรูปร่างที่แน่นอน แต่แบรนด์ก็ควรนำสิ่งเหล่านี้ไปริเริ่มกับทีมงานก่อนจะสายไป โดยเฉพาะการตอบความต้องการเมื่อผู้บริโภคเริ่มใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการ outsource และดำเนินการสั่งซื้อสินค้าปลีกให้แบบอัตโนมัติ เมื่อพฤติกรรมการซื้อเปลี่ยนไป ผู้บริโภคย่อมมีความคาดหวังใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของแบรนด์ว่าจะตอบสนองความคาดหวังใหม่ ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร?
ทางออกของแบรนด์จึงดูเหมือนว่ามี 2 ทางในปีหน้า คือการปรับใช้เครื่องมือ A-COMMERCE ที่มีอยู่แล้ว หรือการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ขึ้นมาเอง ดังนั้นไม่ว่าทางออกใด ความท้าทายที่รอทุกแบรนด์อยู่ในปีหน้าและ (ปีถัดไป) คือการทำให้แน่ใจว่าแบรนด์และลูกค้าจะมีประสบการณ์ร่วมกัน ในยุคที่ผู้บริโภคนับล้านคาดว่าร้านค้าปลีกออนไลน์ของพวกเขาจะเป็นแบบอัตโนมัติอย่างแท้จริง แสนสะดวกสบาย
ท้ายที่สุด TrendWatching เชื่อว่า A-COMMERCE จะเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง โลกจะเปลี่ยนไปสู่ยุคที่แบรนด์พยายามขายสินค้าให้กับระบบอัลกอริธึม เหมือนที่ครั้งหนึ่งเคยพยายามขายสินค้าให้มนุษย์ ถึงวันนั้น กลยุทธ์การกำหนดราคา และวิธีการทั้งหมดด้านการตลาดของแบรนด์ รวมถึงการรับส่งสารจากแบรนด์ จะเปลี่ยนแปลงไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น ปี 2018 จึงเป็นเวลาที่จะเริ่มคิดถึง A-COMMERCE อย่างจริงจังเสียที!
ที่มา : trendwatching.com/quarterly/2017-11/5-trends-2018/