ไอบีเอ็มเดินหน้าทุบสถิติผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐต่อเนื่องเป็นปีที่ 25

IBM Inventors - AI and Blockchain Patent Holders Weds., January 3, 2018 at IBM in Yorktown Heights, NY. (Jon SImon/Feature Photo Service for IBM)

นักประดิษฐ์ไอบีเอ็มคว้าสิทธิบัตร 9,043 รายการในปี 2560 ส่งผลให้บริษัทครองตำแหน่งผู้นำสิทธิบัตรสหรัฐต่อเนื่องเป็นเวลา 25 ปี พิชิตเป้าหมายการจดสิทธิบัตร 100,000 รายการ โดยสิทธิบัตรใหม่ในปีนี้เป็นผลงานของนักวิจัย วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ และนักออกแบบ รวมกว่า 8,500 คน ใน 47 ประเทศ

“ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ผลงานการคิดค้นของนักประดิษฐ์ไอบีเอ็มได้ก่อกำเนิดความก้าวล้ำสำคัญๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับยุคค็อกนิทิฟ” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “กว่าครึ่งของสิทธิบัตรของไอบีเอ็มในวันนี้มุ่งเน้นไปที่การคิดค้นด้านปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์ บล็อกเชน ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และควอนตัมคอมพิวติ้ง ซึ่งทั้งหมดล้วนนำสู่การเสริมศักยภาพธุรกิจให้แก่ลูกค้าของเรา”

มุ่งเน้นนวัตกรรมคลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ และไซเบอร์ซิเคียวริตี้

ในปี 2560 นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรเกี่ยวกับคลาวด์กว่า 1,900 รายการ ครอบคลุมสิทธิบัตรเกี่ยวกับระบบที่ใช้ข้อมูลไร้โครงสร้างเกี่ยวกับโลกและเหตุการณ์ท้องถิ่นต่างๆ ในการคาดการณ์ทรัพยากรคลาวด์ที่จำเป็น โดยระบบสามารถมอนิเตอร์แหล่งข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นฟีดข่าว สถิติเน็ตเวิร์ค รายงานสภาพอากาศ และโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อระบุว่าจำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรคลาวด์อย่างไรและไปยังที่ใดบ้าง

นวัตกรรมจากสิทธิบัตรอีกกว่า 1,400 รายการยังครอบคลุมการแก้ปัญหาขีดจำกัดของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบัน เช่น การขาดบุคลิกภาพซึ่งถือเป็นอุปสรรคของการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ โดยหนึ่งในสิทธิบัตรในด้านดังกล่าวคือการพัฒนาระบบที่ช่วยปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์และสะท้อนภาพจำลองแพทเทิร์นการพูดของผู้ใช้ เพื่อนำสู่การพัฒนาการสื่อสารระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์

นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มยังได้รับสิทธิบัตรด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้กว่า 1,200 รายการ โดยหนึ่งในนั้นเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถล่อแฮคเกอร์ให้ติดต่อเข้ามาผ่านอีเมลและเว็บไซต์ ที่จะสามารถเข้าไปผลาญทรัพยากรของแฮคเกอร์และรบกวนการคุกคามนั้นๆ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากอีเมล “ฟิชชิ่ง” และการโจมตีรูปแบบอื่นๆ

เดินหน้าพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้ง

นอกจากนี้ นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มยังได้รับสิทธิบัตรในการคิดค้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่กำลังก้าวขึ้นมามีความสำคัญอย่างควอนตัมคอมพิวติ้ง ครอบคลุมแนวทางการพัฒนาให้ควอนตัมคอมพิวติ้งสามารถดึงและเก็บข้อมูล หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “ซิกนัล รีดเอาท์ ฟิเดลิตี้” (signal readout fidelity) ซึ่งจะนำสู่ศักยภาพของคอมโพเนนท์ที่จำเป็นสำหรับการสร้างระบบควอนตัมคอมพิวติ้ง

นวัตกรรมอื่นๆ ของไอบีเอ็มที่ได้รับสิทธิบัตรในปีที่ผ่านมา อาทิ

– ระบบแมชชีนเลิร์นนิ่งที่ได้รับการออกแบบมาให้สลับการควบคุมระหว่างยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยตัวเองกับคนขับเมื่อจำเป็น เช่นในช่วงเวลาฉุกเฉิน

– วิธีการที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการลดขั้นตอนที่เกี่ยวกับการกำหนดการตั้งค่าธุรกรรมระหว่างหลายธุรกิจ ซึ่งรวมถึงฝ่ายที่ไม่ได้รับอนุญาตซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง
– เทคนิคที่สามารถยกระดับการป้องกันความปลอดภัยของอุปกรณ์สื่อสารพกพาได้โดยอัตโนมัติ เมื่อตรวจพบว่าอุปกรณ์อยู่ไกลจากเจ้าของและอาจกำลังอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อื่น

ปีนี้ถือเป็นปีที่ไอบีเอ็มก้าวสู่หลักชัยของการจดสิทธิบัตรสหรัฐมากกว่า 105,000 รายการ โดยนับตั้งแต่ปี 2536 ถึง 2560 นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้รับสิทธิบัตรสำหรับแนวคิดที่ก้าวล้ำมากมาย เช่น การทำธุรกรรมบัตรเครดิตอย่างปลอดภัย การใช้ RFID ในการนำทางผู้มีปัญหาทางสายตา การพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก และเครื่องมือตรวจจับแผ่นดินไหว เป็นต้น (ดูไทม์ไลน์สิทธิบัตรไอบีเอ็มได้ที่ https://www.research.ibm.com/patents/#patents-through-the-years)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิบัตรและนวัตกรรมของไอบีเอ็ม สามารถดูได้ที่ www.research.ibm.com/patents/

* ข้อมูลสิทธิบัตรปี 2560 อ้างอิงจาก from IFI CLAIMS Patent Services: http://www.ificlaims.com