เม็ดเงินโฆษณาปี 2560 แตะ 1.1 แสนล้าน ตกลง 6% 2 โฮมช้อปปิ้ง กระทะโคเรียคิง-ทีวีไดเร็ค ครองแชมป์ใช้งบ

นีลเส็น ประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมงบโฆษณารวมที่ใช้ในปี 2560 พบว่า มียอดใช้จ่าย 101,445 ล้านบาท ตกลง -6%

สื่อที่ใช้เม็ดเงินโฆษณามากสุด ยังคงเป็น ช่องทีวีเดิม หรืออนาล็อกทีวี (ช่อง 3, 7) 40,966 ล้านบาท ตกลง13.12%  ตามมาด้วย ทีวีดิจิทัล ชิงเม็ดเงินโฆษณามาได้ 21,907 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.24% 

หนังสือพิมพ์ มีเม็ดเงินโฆษณา 7,706 ล้านบาท ตกลง 21.82% ตามมาด้วยสื่อในโรงภาพยนตร์ 6,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 25.01%   

สื่อนอกบ้าน (outdoor) ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ได้เม็ดเงินโฆษณาไป 6,391 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.78 % ตามมาด้วยสื่อบนรถประจำทาง 5,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.14 %

สื่อวิทยุ ได้เม็ดเงินมา 4,476 ล้านบาท ลดลง -14.95% ส่วนเคเบิลทีวี/ทีวีดาวเทียม 2,913 ล้านบาท ตามมาด้วย นิตยสาร ที่เหลือเม็ดเงิน 1,943 ล้านบาท ลดลง -33.60% 

สื่ออินเทอร์เน็ต 1,513 ล้านบาท ลดลง -12.59 สื่อในห้าง 946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.57%

10 อันดับแบรนด์ใช้งบโฆษณาสูงสุด โคเรียคิงแชมป์ ทีวีไดเร็คตามติด ค่ายมือถือ ออปโป้ ซัมซุง วีโว่ อัดงบ

เมื่อดูตลอดทั้งปี 2560 พบว่า 2 อันดับแรก เป็นของกระทะโคเรียคิง ยังคงครองอันดับ 1 ของแบรนด์ใช้งบโฆษณาสูงสุด 1,059 ล้านบาท แม้ว่าจะใช้ลดลงเนื่องจากต้องหยุดโฆษณาไปหลายเดือน (ปี 59 ใช้ 1,651 ล้านบาท)

อันดับ 2 ทีวีไดเร็ค 880 ล้านบาท (ปี 59 ใช้ 352 ล้านบาท) เนื่องจาก 3-4 เดือนสุดท้ายของปี ที่ประกาศทุ่มงบโฆษณาผ่านทีวีดิจิทัล 18 ช่อง เพื่อต้องการผลักดันยอดขายในช่วงปลายปี

อันดับ 3 โค้ก 860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ปี 59 ใช้ 850 ล้านบาท) อันดับ 4 เทสโก้โลตัส 684 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย (ปี 59 ใช้ 793 ล้านบาท) อันดับ 5 เป็นของ ธนาคารออมสิน 659 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว (ปี 59 ใช้ 384 ล้านบาท)

อันดับ 6 โตโยต้า ปิกอัพ 648 ล้านบาท ลดลง (ปี 59 ใช้ 831 ล้านบาท) อันดับ 7 รถยนต์โตโยต้า 638 ล้านบาท ลดลง (ปี 59 ใช้ 754 ล้านบาท)

อันดับ 8 โทรศัพท์มือถือ ออปโป้ 628 ล้านบาท ใช้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า (ปี 59 ใช้ 238 ล้านบาท) อันดับ 9 โทรศัพท์มือถือซัมซุง 625 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อง (ปี 59 ใช้ 652 ล้านบาท) อันดับ 9 โทรศัพท์มือถือวีโว่ 581 ล้านบาท ใช้เพิ่มขึ้น

10 องค์กรใช้งบโฆษณาสูงสุด

อันดับ 1 ยังเป็นของ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) 3,734 ล้านบาท ใช้ลดลง (ปี 59 ใช้ 4,489 ล้านบาท) อันดับ 2 บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย 1,992 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) 1,966 ล้านบาท

อันดับ 4 บริษัท ตรีเพช อีซูซุ 1,375 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท โคคา โคลา (ประเทศไทย) 1,322 ล้านบาท อันดับ 6 บริษัท ไบเออร์สด๊อรฟ ประเทศไทย (นีเวีย) 1,274 ล้านบาท

อันดับ 7 วิซาร์ด โซลูชั่นส์ 1,264 ล้านบาท อันดับ 8 สำนักนายกรัฐมนตรี 1,241 ล้านบาท อันดับ 9 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ 1,152 ล้านบาท อันดับ 10 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) 1,125 ล้านบาท


หมายเหตุสำคัญ

สื่อกลางแจ้ง (outdoor) และสื่อเคลื่อนที่ (transit):มีการรวมข้อมูลจาก  JCDecaux สำหรับข้อมูลจากสื่อในสนามบินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 และข้อมูลของสื่อ outdorr และ transit จาก JCDecaux ได้ถูกรวมเข้าไว้ในรายงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 

นีลเส็นได้มีการเพิ่มพื้นที่การเก็บข้อมูลสื่อกลางแจ้ง (outdoor) เช่น สื่อเคลื่อนที่ (transit),ป้ายบิลบอร์ดป้ายโฆษณาบนทางเท้า, สื่อในสนามบิน และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 เป็นต้นมา 

อินเตอร์เน็ต – ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2559 นีลเส็นได้มีการขยายการเก็บข้อมูลโมษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตโดยครอบคลุม 50 เว็บไซต์ยอดนิยม และ 10 เว็บไซต์ยอดนิยมบนมือถือ

สำหรับภาพรวมการใช้งบโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์เน็ตทั้งหมดกรุณาอ้างอิงข้อมูลจาก DAAT

สื่อในห้าง – นีลเส็นได้มีการเพิ่มข้อมูลสื่อวิทยุในห้าง Big C และ 7 Eleven เข้ามาในฐานข้อมูล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ข้อมูลของสื่อในห้าง Tesco Lotus และ Big C ไม่ได้รวมอยู่ในฐานข้อมูลของนีลเส็น

ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มสื่อที่บริหารจัดการโดยบริษัท Plan B เข้ามาในฐานข้อมูลของสื่อกลางแจ้งสื่อเคลื่อนที่ และสื่อในห้าง