2018 ปีแห่งความหวังหรือปีที่พลาดพลั้งของ “แอปเปิล”

เริ่มเข้าสู่ปี 2018 เป็นธรรมดาที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะถูกจับตา โดยเริ่มมีข้อมูลบางอย่างที่สะกิดให้นักวิเคราะห์หลายคนต้องลุกขึ้นมาดูสถานการณ์ของบริษัทแอปเปิล (Apple) ในฐานะยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีกันอีกแล้ว กับการดึงข้อมูลย้อนหลังเกี่ยวกับตลาดของ iOS เมื่อเทียบกับแอนดรอยด์มาพิจารณาของกันทาร์ (Kantar) และพบว่า iOS เริ่มจะเสียท่าให้กับแอนดรอยด์มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วในหลาย ๆ ตลาด 

โดยข้อมูลจากกันทาร์ ระบุว่า ในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2017 ที่ผ่านมานั้น แอปเปิลได้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และญี่ปุ่น ให้กับแอนดรอยด์ โดยตลาดที่ลดแรงที่สุดคือญี่ปุ่น ที่จากเดิมมีส่วนแบ่งในปี 2016 ที่ 57 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมาเหลือ 51.5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 รองลงมาคืออังกฤษที่ลดลง 4.2 เปอร์เซ็นต์ และสหรัฐอเมริกาตามมาเป็นอันดับสามที่ปรับตัวลดลง 2.8 เปอร์เซ็นต์ จาก 43.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 ลงมาเหลือ 39.8 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้

ส่วนตลาดที่ทำให้ชื่นใจได้บ้างก็คือตลาดจีน ที่แอปเปิลยังโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จาก 19.7 เปอร์เซ็นต์เป็น 24.3 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้น 4.6 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี แอปเปิลไม่ใช่แบรนด์ที่เป็นผู้นำในตลาดจีน ดังนั้นการโตของแอปเปิลจึงเป็นการชิงส่วนแบ่งมาจากบริษัทเช่น เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ซัมซุง (Samsung) หัวเว่ย (Huawei) เป็นหลัก โดยสมาร์ทโฟนตัวท็อปอย่างไอโฟนเท็น (iPhone X) มีส่วนแบ่งตลาดในจีนอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์

แต่การที่จีนกลายเป็นตลาดที่มีความสำคัญต่อแอปเปิลมากขึ้นทุกทีนี้ (ปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสาม) ก็ทำให้แอปเปิลมีความเสี่ยงในสายตาของนักวิเคราะห์ได้เช่นกัน เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลจีนจะมีอานุภาพรุนแรงมากขึ้น และอาจชี้ชะตาบริษัทได้เลยทันที

“แอปสโตร์” ขุมทรัพย์ใหม่

กล่าวถึงข่าวร้ายกันไปมากแล้ว ลองมาฟังข่าวดีกันบ้าง นั่นคือเมื่อพิจารณาตัวเลขส่วนแบ่งในตลาดโลกแล้วพบว่า iOS มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจาก 19.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 เป็น 24.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 แถมตัวเลขรายได้จากแอปสโตร์ (App store) ในวันที่ 1 มกราคม 2018 ก็ทำได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2008 ที่ 300 ล้านเหรียญสหรัฐในวันที่ 1 มกราคม 2018 ซึ่งตัวเลขนี้แซงหน้ายอดขายของแอปสโตร์ในวันที่ 1 มกราคม 2017 ที่ 240 ล้านเหรียญสหรัฐไปอย่างขาดลอย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลประกอบการของแอปสโตร์เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ว่ามาจากการปรับปรุงแอปสโตร์ใหม่ และเปิดตัวออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2017 พร้อมกับการอัปเดตระบบปฏิบัติการ iOS 11 ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้ามาในแอปสโตร์นี้สามารถพบแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่น่าสนใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น ด้วยฟีเจอร์หนึ่งที่ชื่อว่า “App of the Day” ที่จะดึงแอปหรือเกมใหม่มาแสดงในจุดนี้ทุก ๆ วันเพื่อสร้างการรับรู้ (Awareness) และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเกมหรือแอปพลิเคชันที่อาจไม่เป็นที่รู้จักนักก็ยังทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดี ซึ่งข้อมูลจาก แอปโทเปีย (Apptopia) บริษัทวิจัยที่เก็บข้อมูลด้านแอปพลิเคชันเป็นการเฉพาะพบว่า ฟีเจอร์ App of the Day นี้สามารถเพิ่มการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันในหนึ่งวันได้มากถึง 2,172 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว 

สำหรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นของแอปสโตร์นี้ ยังสามารถนำไปใส่ในงบการเงินให้นักลงทุนได้เห็นด้วยว่า แอปเปิลมีแหล่งน้ำอีกบ่อนอกเหนือจากการมุ่งขายแต่ตัวเครื่องไอโฟนเพียงอย่างเดียว และบ่อน้ำบ่อนี้ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แล้วด้วย นอกจากนั้น แอปเปิลยังมีความพยายามในการสร้างบ่อน้ำใหม่ ๆ อีกหลายบ่อ เช่น ARKit และ Apple Watch เพื่อมาช่วยไดรฟ์ยอดขายแอปพลิเคชันในแอปสโตร์เพิ่มด้วย 

ในมุมของนักวิเคราะห์อย่างโฮเรซ เดดิว (Horace Dediu) จาก Asymco แล้ว คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปีนี้ เป็นไปได้ที่ยอดการใช้จ่ายของคอนซูเมอร์บนแอปสโตร์นั้นจะพุ่งขึ้นเป็น 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน และอาจทำให้แอปสโตร์กลายเป็นแหล่งรายได้ขุมใหม่ที่อาจทำเงินให้กับแอปเปิลได้ในระดับแสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2019 ก็เป็นได้

นำเงินกลับบ้าน

การประกาศครั้งใหญ่ของแอปเปิลเมื่อวันพุธที่ผ่านมาอีกเรื่องหนึ่งคือการนำเงินจากต่างประเทศ 245,000 ล้านเหรียญสหรัฐกลับมายังสหรัฐอเมริกา หลังมีการลดอัตราภาษีจาก 35 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 15.5 เปอร์เซ็นต์ และการประกาศแผนการสร้างแคมปัสแห่งที่สองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานให้ได้ถึง 20,000 ตำแหน่ง และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ถึง 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 ปี ซึ่งถือเป็นยาหอมชั้นดีให้กับคนอเมริกัน หลังจากเริ่มเกิดกระแสไม่พอใจบริษัทเทคโนโลยีกันอีกครั้งที่ทำให้ค่าครองชีพในย่านที่ตั้งบริษัทขยับตัวขึ้นสูงจนคนยากจนไม่สามารถอาศัย หรือทำมาหากินในแหล่งนั้นได้อีก ดังเช่นกรณีการขว้างปาสิ่งของใส่รถบัสพนักงานของแอปเปิล (และกูเกิล) จนได้รับความเสียหายไปหลายคัน

จากภาพรวมในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาจพอทำนายได้ว่า สิ่งที่ท้าทายในปีนี้ของแอปเปิลจึงอาจเป็นการบาลานซ์ความต้องการทุก ๆ ด้าน ทุก ๆ ฝ่ายให้ลงตัว และไม่ปล่อยให้ตัวเลขยอดขายบางอย่างสุดโต่งจนเกินไป รวมถึงต้องเริ่มการ “ให้” กลับคืนสู่สังคมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จับต้องได้มากขึ้น เพื่อให้องค์กรของตัวเองสามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยไม่ว่าจะที่ใดในโลก.

ที่มา : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000005996