ETDA เปิดบ้านต้อนรับสื่อ โชว์ผลงานทะลุเป้า ดันเอสเอ็มอีโกออนไลน์ เกือบ 20,000 ราย ปี’ 61 มุ่งเพิ่มผู้ค้าออนไลน์อีก 5,000 ราย เดินหน้าเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ดันไทยเป็นฮับสร้างคนไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ ขณะที่งาน Thailand e-Commerce Week 2017 ประสบผลเกินคาด เกิด Business Matching กว่า 150 ล้านบาท เดินหน้าทำผลสำรวจ IUP และ e-Commerce Survey ต่อเนื่อง โชว์ความพร้อมโปรแกรมอีแท็กซ์อินวอยซ์บนมือถือ ส่วนปีหน้า 2562 เตรียมผลักดัน 5 โครงการยักษ์ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ Cybersecurity Park in EEC สู่ความเป็นฮับด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของอาเซียน – Digital Tourism ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพ : รายได้ให้ท้องถิ่น เล็งต่อยอดสู่ตลาด e-Commerce – Durian Platform ทางเลือกใหม่เพื่อ Creator ไทย – Digital Content เตรียมตั้งสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อดูแลคอนเทนต์ไทยที่มีมูลค่าสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และ National Digital ID เพื่อใช้ยืนยันตัวตนในการรับบริการต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า จากผลสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในไทย ซึ่งในปี 2559 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2.56 ล้านล้านบาท หรือโตขึ้นจากปี 2558 ถึง 14.03% และคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าอีคอมเมิร์ซปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 พบว่า มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีมูลค่าคาดการณ์รวมประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 9.86% สอดคล้องกับรายงานผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย (Thailand Internet User Profile 2017 หรือ IUP 2017) ซึ่งกิจกรรมที่คนนิยมทำบนอินเทอร์เน็ตในการสำรวจปี 2560 ที่ผ่านมานั้น แตกต่างจากปีก่อน ๆ ตรงที่การซื้อสินค้าออนไลน์ขึ้นมาติด 1 ใน 5 กิจกรรมยอดฮิตเป็นครั้งแรกนั้น
หลายโปรเจ็กต์ของ ETDA ก็เดินหน้า เพื่อผลักดันให้มูลค่าและปริมาณการทำอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเสริมฐานรากโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อนำประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การผลักดันผู้ประกอบการ SMEs Go Online ไปแล้วเกือบ 20,000 ราย ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เข้าสู่อีมาร์เก็ตเพลสชั้นนำ และสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 200 ล้านบาท พร้อมจัดงาน Thailand e-Commerce Week 2017 ที่ทำให้เกิด Business Matching กว่า 150 ล้านบาท การผลักดันโครงการ e-Tax Invoice by Email เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการจัดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งมีการใช้ไปแล้ว 18,000 ฉบับ รวมทั้งการยกระดับงานด้าน Cybersecurity ซึ่งมีการติดตั้งระบบ Government Monitoring System เพื่อเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยและบริการที่น่าเชื่อถือแก่ระบบไอทีหน่วยงานรัฐ ไปแล้ว 200 หน่วยงาน ฯลฯ
สุรางคณา เปิดเผยต่อไปว่า ETDA เตรียมดัน 5 โครงการใหญ่ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยเรื่องแรกคือ โครงการ Cyberseucurity Park in EEC ซึ่งอยู่ภายใต้หมวกใบใหญ่ของโครงการ Digital Park Thailand หรือเมืองนวัตกรรมที่เทศบาลแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีเป็นศูนย์กลางการลงทุน และการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการใหญ่ Eastern Economic Corridor (ECC) หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล ซึ่งโครงการ Digital Park Thailand นอกจากจะเป็นยุทธศาสตร์ทางด้านคมนาคมขนส่ง และนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางด้านการสื่อสารความเร็วสูงของไทย เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีดาวเทียม และสถานีเคเบิลใต้น้ำ ที่เป็นเส้นทางหลักของการเชื่อมไฟเบอร์ออปติคภายในประเทศกับต่างประเทศ
สำหรับเป้าหมายของโครงการ Cybersecurity Park คือ การพัฒนาระบบนิเวศด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ใน Digital Park Thailand ซึ่งนำไปสู่การสร้างผู้ประกอบการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการมีศูนย์บริการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Security Operation Center – SOC) ที่พร้อมให้บริการแก่หน่วยงานใน Digital Park Thailand ขณะเดียวกัน ยังมีความร่วมมือระหว่าง Cybersecurity Park กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย ในการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัติกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง Cybersecurity Park กับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาคนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยงานใน Digital Park Thailand ด้วย
“เพื่อเป็นการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานใน Digital Park Thailand ควรมีการตั้ง Cybersecurity Park เป็นระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Industry) ซึ่งจะมีบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และหน่วยงานวิจัยสร้างนวัตกรรมขึ้นมาตอบสนองความต้องการของหน่วยงานใน Digital Park Thailand ก่อนขยายออกสู่ระดับประเทศ” นางสุรางคณา กล่าว
สำหรับเรื่องของ Digital Tourism นั้น ETDA ได้มีการหารือถึงความร่วมมือในระดับนโยบายกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย ETDA จะทำเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอาจจะเป็นรูปแบบของ Mobile Application หรือ Digital Platform โดยมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้ 1. การทำ Big Data Analytic หรือวิเคราะห์ข้อมูลจากนักท่องเที่ยวตัวอย่างจำนวน 1 ล้านรายใน 3 เดือน เพื่อวัดผลและใช้กำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ 2. Tourism Report เป็นช่องทางในรับแจ้งเรื่องร้องเรียนต่าง ๆที่เกิดจากการท่องเที่ยว และ 3. Promotion เพื่อเป็นช่องทางส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว เช่น ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว สินค้า และบริการ ผ่านสื่อดิจิทัล (Digital Content และ Story Telling) ในแต่ละชุมชน (เนื้อหาจากหน่วยงานและชุมชน) รวมทั้งมีการแจ้งข่าว เหตุการณ์สำคัญ และ Promotion ต่าง ๆ และสามารถต่อยอดขยายเป็น e-market place สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ผ่านช่องรับชำระเงินภายในประเทศด้วย
นางสุรางคณา กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยว มักจะกระจุกตัวเที่ยวอยู่ในเมืองหลักเท่านั้น ส่งผลให้ขาดการกระจายรายได้ รัฐบาลจึงได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด เมื่อETDA มีเครื่องมือนี้ นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องแหล่งเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่อยากไป ก็มีการอัพเดทข้อมูลเรื่องการบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวเดิม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์ ที่ผ่านมา แหล่งท่องเที่ยวยังขาดการสร้าง Story และนำเสนอให้น่าสนใจ เมื่อส่วนของท้องถิ่นเข้ามาดูแล และถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเครื่องมือ Digital ซึ่งเป็นช่องทางการโปรโมตที่เข้าถึงนักท่องเที่ยว ก็จะนำไปสู่การเข้าถึงสินค้า และบริการในท้องถิ่นได้ด้วย สุดท้ายก็ส่งผลมาที่เรื่องของรายได้ กลับสู่ท้องถิ่น เมื่อมีการเผยแพร่ออกไป ว่าเมืองรองเหล่านี้ มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีของดีและบริการเด่นในชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ก็ต่อยอดไปถึงการขยายให้สามารถสั่งซื้อและชำระเงินได้ทางออนไลน์ นับว่าเป็นการสร้างรายได้ และอาชีพเพิ่มขึ้นในท้องถิ่นด้วย
ด้านโครงการ Durian Platform คือ แพลตฟอร์มใหม่ที่รวบรวม video content ไว้อย่างหลากหลาย รวมไปถึงเป็นช่องทางการ Live สด สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงาน หรือ โปรโมตสินค้าของตัวเอง ผ่านทาง Durian โดยมีการควบคุมและจัดการโดยคนไทย มีการจดทะเบียนบริษัท และเสียภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา และจะเปิดใช้ได้ประมาณเดือนพฤษภาคมของปีนี้ และจะเป็น Platform ทางเลือกให้ Creator ไทย หันกลับมานำ content ลงใน Content Platform ภายในประเทศ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมออนไลน์ดิจิทัลภายในประเทศ
ส่วนวัตถุประสงค์สำคัญของ Durian Platform นั้น นอกจากจะสามารถควบคุมปัญหาวีดีโอและคลิปที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังสามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบการภายในประเทศให้สามารถแข่งขันกับ Platform ต่างประเทศได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน การสร้าง Platform ภายในประเทศให้แข็งแรง ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมออนไลน์ดิจิทัลภายในประเทศ และที่สำคัญช่วยให้ประเทศสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนด้วย
“หากถามว่า ทำไมต้องดู Durian เพราะที่ผ่านมา video content hub ที่มีอยู่ ไม่สามารถควบคุมการนำเสนอที่ไม่เหมาะสมได้ Durian จึงเป็นช่องทางสำหรับวิดิโอคอนเทนต์ที่เหมาะสมของไทย อีกทั้งผู้รับชมก็ยังได้รับคะแนนสะสม สำหรับแลกรับเป็นส่วนลด หรือสิทธิพิเศษต่างๆจากผู้สนับสนุนได้ด้วย” นางสุรางคณา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ETDA ได้มีแนวทางดำเนินการตั้งสมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยในปี 2562 โดยร่วมมือกับภาคเอกชน มีหน้าที่ส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานใด ทำหน้าที่ดูแล หรือกำหนดความเหมาะสมในเนื้อหาของคอนเทนต์ที่ได้เผยแพร่ออกไป ดังนั้นสมาคมนี้จะมาทำหน้าที่ร่วมกันกับภาครัฐ และเอกชน ในการกำหนด และดูแลเนื้อหาให้มีความเหมาะสม โดยมีภารกิจหลักๆ คือ ส่งเสริมบ่มเพาะ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ มีการจัดทำผลสำรวจและวิเคราะห์มูลค่าตลาดดิจิทัล คอนเทนต์เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลให้กับนักครีเอเตอร์ เพื่อวิเคราะห์โอกาสในธุรกิจ ดิจิทัลคอนเทนต์ และที่สำคัญ คือสามารถกำหนด และดูแลเนื้อหาของคอนเทนต์ในประเทศไทย ในรูปแบบ Self-Regulation เป็นต้น
และสุดท้ายคือโครงการ National Digital ID ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกิจและการใช้บริการภาครัฐในยุคดิจิทัลและ Thailand 4.0 รวดเร็วและมั่นคงปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปีนี้ เพื่อทดลองใช้ภายในปี 2562