“ตั้งแต่เด็กก็เล่นละครแล้ว เป็นเด็กน้อยอ้อแอ้นอนในเปล โตมาอีกนิดเล่นเป็นเด็กผี ตอนนั้นคิดอะไรไม่ได้อยู่แล้ว ก็เป็นเด็กให้เล่นก็เล่น ตั้งแต่เกิดเห็นกองถ่ายที่มาถ่ายละครที่บ้าน ก็คุ้นเคยดี“
เราไม่ได้กำลังพูดถึงนักแสดงหนุ่มซูเปอร์สตาร์ แต่เรากำลังพูดถึงทายาท 1 ใน 13 คนของเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของ “กันตนา กรุ๊ป” ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่รายหนึ่งของไทยปัจจุบัน “เต็นท์ กัลป์ กัลย์จาฤก”
จุดเปลี่ยนของ “เต็นท์” เรียกได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 6 หรือ 8 ขวบ ที่เขาเองก็จำเวลาไม่ค่อยได้ แต่จำได้แม่นว่าทำให้กองถ่ายละครกันตนาที่ยกกองถ่ายไปสมุยป่วนไปหมด เพราะเด็กชายเต็นท์ในฐานะนักแสดงที่เป็นลูกหลานเจ้าของธุรกิจ อยู่ดี ๆ ก็ไม่อยากแสดง ทั้งที่เตรียมบท ซ้อมมาแล้วเต็มที่ และขอเลิกอยู่หน้าจอนับตั้งแต่บัดนั้น ด้วยเหตุผลที่อธิบายได้ว่า “ผมคิดว่าตอนนั้นน่าจะเพราะอาย ไม่ชอบอยู่ในกล้อง คิดว่านะ”
ถามว่าคุณพ่อ คือ “จาฤก กัลย์จาฤก” ว่าอะไรไหม เขาบอกว่าจำได้แต่ว่าคุณแม่โกรธมาก และจากนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรอีก แต่ช่วงโตมาอีกหน่อย ม.1 ตอนปิดเทอม ก็เริ่มมาฝึกงานปีละแผนกไปเกือบทุกแผนกจนโต อยู่กับพ่อ ไปทำงานไปไหนด้วยกันตลอดในเวลานั้น
ปัจจุบัน “เต็นท์” ในวัย 31 ปี เขาอยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จำกัด ที่มี “จาฤก” เป็นต้นแบบ เป็นซูเปอร์ฮีโร่ มีหลักที่ยึดโยงกันด้วยคำสัญญาที่ตกลงกัน “ต้องคำไหนคำนั้น”
“เต็นท์” เรียนมัธยมที่โรงเรียนสาธิตเกษตร ได้เกรด 2.98 ซึ่งไม่ได้ตามที่เคยตกลงกับพ่อไว้ว่า ถ้าเกรดไม่ถึง 3 ก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ จึงไปเรียนต่อโรงเรียนนานาชาติที่สิงคโปร์ ได้ประมาณ 2 ปี แล้วกลับมาเรียนต่อที่ประเทศไทยระดับมัธยมปลายอีก 1 ปี
จากมัธยมปลายเต็นท์ได้ “ใช้ชีวิต” ในหลายมหาวิทยาลัย ลองเรียนทั้งวิชาการบริหาร วิศวฯ จนมาลงตัวจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตร Entertainment Media Production ที่เปิดหลักสูตร เมื่อปี 2548 จากความร่วมมือระหว่างบริษัทกันตนา เอ็ดดูเทนเมนท์ กับวิทยาลัยนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล
เรียนที่นี่ผมต้องจบแน่นอน เกิดมาทุกคนมองเรื่องเส้นสาย แต่ที่นี่สอบเข้าโดยใช้ Toefl 550 และสัมภาษณ์ และจบ 4 ปีพอดี เกรด 2.9 นะ
จุดเปลี่ยนอีกรอบเกิดขึ้นเมื่อเต็นท์เรียนปี 3 และได้ไปฝึกงานกับกองถ่ายหนังเกาหลีที่มาในไท และทำทุกอย่างแม้แต่ซื้อกาแฟ
“ทุกวันผมอยู่ในโลกของผม คือโลกของกันตนา ที่เป็นลูกเจ้าของ รู้สึกเฉยๆ กับงานบันเทิง มารู้สึกตัวอีกทีว่าชอบหนัง เป็นทางศิลปะที่ชอบ เพราะไปฝึกงาน ครั้งนั้นผมออกไปอยู่ในโลกคนอื่น เห็นการทำงานแบบมืออาชีพอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อลังการ อย่างฉากหนึ่งถ่ายทำแถววัดสุทัศน์ฯ ปิดทั้งซอย รู้สึกตื่นเต้น สิ่งสำคัญรู้สึกคนในกองถ่ายนั้นเป็นครอบครัว และรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมนั้น”
หลังจากจบที่มหิดลแล้ว โดยทันทีเดินหน้าในเส้นทางสายฟิล์ม จึงตัดสินใจบินตรงไปนิวยอร์กเรียนที่ New York Film Academy 2 ปี
พอกลับจากนิวยอร์ก ก็ถึงเวลาทำงานสานต่อธุรกิจครอบครัว แต่ “เต็นท์” บอกว่าไม่อยากเข้าไปอยู่ในบริษัทแม่ และขอเริ่มในธุรกิจที่ค่อยๆ สร้างเองดีกว่า
“กลับมาก็ไม่ขออยู่ในยานแม่ และขออยู่ในยานลูกดีกว่า” คำตอบจึงอยู่ที่ บริษัทกันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกันตนาที่จดทะเบียนตั้งไว้นานแล้ว เพื่อลุยธุรกิจสร้างหนัง แต่ช่วงนั้นน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 พอดี เริ่มจากพนักงาน 2 คน จนปัจจุบันมีอยู่กว่า 40 คน
มีบทเรียนจากการทำหนัง “ห้องหุ่น” ในปี 2557 ผลปรากฏว่า “เจ็บปวด ใช้งบเยอะ ผลก็ไม่ได้ดังใจ เพราะไม่เคยทำ มีปัญหาเยอะ แต่ยังไม่สุด และต้องแก้มือ” นั่นคือความรู้สึกที่ “เต็นท์” บอก และทำให้เรียนรู้ด้วยว่าจะเอาทุกกลุ่มผู้ชมไม่ได้
ส่วนพลังที่ทำให้เดินต่อได้อีกี่สำคัญคือไอดอลซูเปอร์ฮีโร่ของเขาบอกว่า “ไม่เป็นไร เอาใหม่”
เรื่องต่อมาคำตอบมาอยู่ที่เรื่อง “อวสานโลกสวย” ในปี 2559 สะท้อนเรื่องราวในยุคโซเชียล ผลคือ ได้ทำแนวหนังแปลกใหม่ ไม่เหมือนคนอื่น แม้ว่าในเชิงรายได้แค่เท่าทุน แต่ก็คือมีความพอใจ
พอใจและยังต้องอยู่ได้ในทางธุรกิจ เพราะวันนี้ในบริษัทที่เขาดูแล มีทีมงาน นอกจากหนังแล้ว ยังต้องมีรายได้จากคอนเทนต์อื่น บริษัท กันตนา โมชั่น พิคเจอร์ส จึงรับจ้างผลิตรายการออนแอร์ในช่องทีวีดิจิทัลด้วย ปัจจุบันมี 3 รายการ 3 ช่อง ด้วยแนวทางทำที่ถนัด และชอบ และยังไม่จับกลุ่มแมส ผลงานที่ออกมา คือรายการ “มือปราบสัมภเวสี” ไทยรัฐทีวี “The Return of Superman Thailand” ช่อง 7 และกำลังจะมีรายการใหม่เตรียมออนแอร์ในช่องพีพีทีวี คือรายการ King of Gamer ที่จับกระแสอี–สปอร์ต สร้างฟอร์แมตรายการใหม่เป็นเรียลิตี้โชว์ ถ่ายทอดภาพชีวิต และการแข่งขันของกลุ่มนักกีฬาอี–สปอร์ต ที่รายการล่าสุดนี้ มาจากพื้นฐานที่เล่นเกมคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่เด็กแบบข้ามวันข้ามคืนก็เล่นมาแล้ว
ในยุคเกมแบบนี้ เขาจึงตั้งความหวังสูงขึ้น ถึงขั้นบอกว่าเป็นความฝันสูงสุด คืออยากขายฟอร์แมตให้ต่างประเทศด้วย เพราะเคยดูรายการทั่วโลกแล้ว ยังไม่เคยมีแนวนี้ และอีกเป้าหมายหนึ่งคือไม่ใช่คนเล่นเกมดูเท่านั้น แต่ให้คนดูอื่นๆ ได้รับสาร และเข้าใจมนุษย์เกมได้ด้วย
ผมอาจยังไม่เก่งคิดอย่างนั้น (แมส) และขอเลือกในส่ิงที่เราชอบ และคนดูบางกลุ่มชอบไปพร้อมๆ กัน
ในเจนเนอเรชั่นที่ 3 มีพี่ของเต็นท์ “พี่เต้ ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก” ที่มีบทบาทขับเคลื่อนคอนเทนต์ค่ายกันตนามาเกือบ 10 ปี และที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง ดังทุกซีซั่นคือ The Face
นอกจากนี้ยังมีพี่น้องสองสาวร่วมเจนเนอเรชั่น 3 คือตอง นรรฐพร กัลย์จาฤก และ สตางค์ ดิษย์ลดา ดิษยนันท์ กัลย์จาฤก
ผลงานที่ผสมผสานระหว่างคนในรุ่น และจากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นปู่ รุ่นพ่อที่และลูก คือการขับเคลื่อนในการสร้างกันตนาจนเป็นผู้นำในวงการ เดินในเส้นทางธุรกิจบันเทิงแบบเลือกไม่เป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัลเอง แต่มุ่งมั่นเป็นผู้รับจ้างผลิตรายการให้ช่องต่าง ๆ ในแบบที่แสดงให้เห็นว่า การรู้จักตัวเอง และเลือกลงทุนอย่างพอดี ทำให้ “กันตนา กรุ๊ป” เป็นธุรกิจที่ยังอยู่ในวงการบันเทิงอย่างมั่นคง.