มีรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ประเทศจีนกลายเป็นประเทศที่สามารถฝึกให้ผู้สูงอายุที่หลายคนอายุเกือบเข้าสู่วัย 70 ปีแล้ว สามารถใช้งานสมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงใช้แอปพลิเคชันอีวอลเล็ต (e-Wallet) ซื้อของได้อย่างที่คนชราในอีกหลาย ๆ ประเทศไม่สามารถทำได้
คนชราในประเทศจีนที่มีอายุประมาณ 70 ปี ในปัจจุบันนั้น หลายคนมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่มีแม้บัญชีเงินฝากธนาคาร แต่การมีสมาร์ทโฟน และมีอีวอลเล็ต หรือกระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในจีนแผ่นดินใหญ่ ก็สามารถทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกขึ้น แต่นั่นยังไม่พอสำหรับจีน เพราะอาลีบาบา (Alibaba) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชันชอปปิ้ง เถาเป่า (Taobao) เวอร์ชันใหม่ที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุออกมาแล้วอีกหนึ่งเวอร์ชัน
นักวิเคราะห์จากไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป ระบุว่า เหตุที่อาลีบาบาเปิดตัวแอปพลิเคชันขึ้นมาใหม่เพื่อจับกลุ่มผู้สูงอายุนั้น เป็นเพราะการเติบโตของรายได้ในปีที่ผ่านมานั้นค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับคนชราของอาลีบาบา จึงเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะเจาะ เพราะหากคนชราได้มีแอปพลิเคชันที่ปุ่มใหญ่ขึ้น มองเห็นชัดขึ้น รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับบัญชีของลูกหลานได้ ก็อาจหมายถึงการซื้อหาสินค้าบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา ที่มากขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนั้น ยังพบว่าในร้านค้าแบบ Brick-and-mortar อย่างเหอหม่าซูเปอร์มาร์เก็ต (Hema Supermarket) ของอาลีบาบานั้น เป็นสถานที่หนึ่งที่พบผู้สูงอายุได้บ่อยมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาลีบาบารู้ดีว่า การจะโน้มน้าวใจให้ผู้สูงอายุใช้จ่ายเงินบนแอปพลิเคชันเถาเป่าในปริมาณมาก ๆ เหมือนกลุ่มมิลเลนเนียลนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะในปัจจุบัน ผู้ใช้งานเถาเป่า ที่มีประมาณ 468 ล้านรายนั้น ก็มีคนชรา (อายุระหว่าง 60-69 ปี) เพียง 6 ล้านคนเท่านั้นเอง แต่อย่างน้อย การสามารถดึงผู้ใช้งานเข้ามาแพลตฟอร์มเพิ่ม ก็จะช่วยในด้านโฆษณาว่าสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้หลายกลุ่มด้วยนั่นเอง
ปัจจุบัน จีนมีประชากรอินเทอร์เน็ตที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ราว 230 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งคาดว่า ภายในปี 2050 ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 33 เปอร์เซ็นต์
สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000010842