มีการสำรวจจากเดอะ โคลัมเบีย เจอร์นัลลิสซึม รีวิว (The Columbia Journalism Review) พบว่า แพลตฟอร์ม อินสแตนท์ อาร์ติเคิล (Instant Articles) ของเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เคยเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ และมีพาร์ตเนอร์จากแวดวงสื่อเข้าร่วมถึง 72 รายเมื่อสามปีก่อนนั้น ตอนนี้มีสื่อที่ยังโพสต์อยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าวลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง ขณะที่อีก 38 รายยุติการโพสต์ ไปตั้งแต่วันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา
จะเรียกว่าเป็นปัญหาก็ว่าได้ สำหรับ Instant Articles ที่ไม่สามารถดึงดูดใจให้ผู้ผลิตคอนเทนต์หันมาสนใจได้เท่าที่ควร ในขณะที่เวลานี้ใคร ๆ ก็มุ่งเข้าหาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อรับข่าวสาร โดยในปี 2017 ตัวเลขจาก Pew Research Center พบว่า มีผู้บริโภค 67 เปอร์เซ็นต์ที่ทราบข่าวต่าง ๆ จากโซเชียลมีเดีย เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มีอยู่แค่ 62 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้ การที่มีพับลิชเชอร์ให้การสนับสนุน Instant Articles น้อยลงย่อมส่งผลต่อเฟซบุ๊กอย่างไม่ต้องสงสัย
โดยสาเหตุที่ทำให้พับลิชเชอร์ออกอาการ “เมิน” แพลตฟอร์มนี้ของเฟซบุ๊กมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การที่เฟซบุ๊กไม่ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ข่าวเท่ากับคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ ส่งผลให้คอนเทนต์เหล่านี้ไม่สามารถทำรายได้ให้องค์กรได้เท่าที่ควร และสื่ออย่างเดอะการ์เดียน และนิวยอร์กไทม์ ต่างก็เลิกผลิตคอนเทนต์เพื่อป้อนเข้ามาใน Instant Articles แล้วตั้งแต่ปี 2017 จากเหตุผลนี้
นอกจากนั้น การขาดความสามารถในการจัดการกับโฆษณาด้วยตัวเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้พับลิชเชอร์ไม่สบอารมณ์ เนื่องจากเฟซบุ๊กก็จะมีกฎว่า พับลิชเชอร์สามารถโพสต์โฆษณาได้หนึ่งตัวในทุก ๆ 350 คำ และโฆษณาห้ามมีพื้นที่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของคอนเทนต์ ขณะที่ถ้าไปลงโฆษณาเหล่านี้บนเว็บไซต์ของตัวเอง พับลิชเชอร์สามารถเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่า Instant Articles ได้มากมาย
ปัญหาสุดท้ายคือการไม่ได้รับข้อมูลจากระบบหลังบ้านของเฟซบุ๊กที่มากพอ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจความต้องการของผู้อ่านบทความบน Instant Articles ได้ สถานการณ์เหล่านี้จึงนำไปสู่การที่พับลิชเชอร์พยายามจะดึงคนอ่านกลับเข้าไปอ่านที่เว็บไซต์ของตนเองแทนที่จะฝากความหวังไว้กับ Instant Articles ของเฟซบุ๊ก
ส่วนข่าวดีของ Instant Articles ก็มีเช่นกัน นั่นคือ ทาง CJR รายงานว่า แม้จะมีพับลิชเชอร์ไม่โพสต์คอนเทนต์บน Instant Articles เพิ่มขึ้นหลายราย แต่จากเดือนสิงหาคม 2016 – พฤศจิกายน 2017 โพสต์ที่เกิดขึ้นบน Instant Articles นั้นไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์.
สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000014607