รู้จัก ‘ตุ๊กตุ๊กพาส’ แพลตฟอร์มบริการท่องเที่ยวของคนไทย เตรียม ICO 700 ล้านเหรียญ

นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊กพาส จำกัด

ตุ๊กตุ๊กพาส (Tuk Tuk Pass: TTP) กำลังจะเป็นบริษัทสัญชาติไทยอีกรายที่เปิดระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering) มูลค่า 700 ล้านเหรียญ ชูจุดเด่นด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่ช่วยเชื่อมต่อทั้งนักท่องเที่ยว ร้านค้า และบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

นางสาวปรางพิสุทธิ์ แดงเดช ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตุ๊กตุ๊ก พาส จำกัด ให้ข้อมูลว่า รูปแบบของการเปิดระดมทุน ตุ๊กตุ๊กพาส จะมีการจัดสรรเหรียญ TTP-A ออกมาทั้งหมด 1 พันล้านโทเคน และแบ่ง 700 ล้านโทเคน (70%) มาเสนอขายให้แก่นักลงทุนในอัตรา 1 TTP-A ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดรอบพรีเซลไปล่วงหน้าแล้วประมาณ 2 ล้านโทเคน

หลังจากนั้น ก็จะเริ่มระดมทุนรอบแรก เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์-30 มิถุนายน 2018 หลังจากปิดการระดมทุนรอบแรก โดยระหว่างการเสนอขายเหรียญ TTP-A จะแบ่งออกเป็นการเสนอขายเหรียญจำนวน 10 รอบ ๆ ละ 70 ล้านโทเคน ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

เมื่อปิดการระดมทุนรอบแรกแล้ว ผู้ลงทุนจะได้รับเหรียญผ่านทาง TDAX Exchange หรือกระดานเทรดเงินดิจิทัลของคนไทย ภายใน 30 วัน หรือภายในเดือนกรกฎาคม 2018 ส่วนการระดมทุนในรอบหลัง ๆ ผู้ที่ลงในรอบแรกจะได้สิทธิในการซื้อ Token ราคาเดิม แต่ไม่เกินจำนวนที่ลงในรอบแรกอีกด้วย 

ส่วนที่เหลืออีก 300 ล้านโทเคน จะถูกแบ่งออกมา 200 ล้านโทเคน (20%) จะถูกเก็บไว้สำรองในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ที่รวมถึงการใช้ร่วมทุน หรือแลกเปลี่ยนกับธุรกิจท่องเที่ยวในแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้สามารถขยายธุรกิจไปได้ทั่วโลก อีก 100 ล้านโทเคน (10%) ที่เหลือจะถูกสำรองไว้สำหรับทีมพัฒนาเหรียญที่ปรึกษา

“ผู้ที่ลงทุนใน ICO เหรียญ TTP-A จะได้สิทธิในการรับเหรียญ TTP-C ในรูปแบบของการปันผลในทุก ๆ ไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นเหรียญที่จะนำไปใช้ในแพลตฟอร์มของตุ๊กตุ๊กพาส ในการชำระค่าบริการต่าง ๆ”

ข้อมูลเบื้องต้นของตุ๊กตุ๊กพาส (TTP) คือ เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ผ่านบริการทั้ง 3 รูปแบบ คือ Blockchain Kiosk/Website/Application มีเป้าหมายในการสร้างแพลตฟอร์ม ที่เชื่อมต่อกับธุรกิจในท้องถิ่นผ่านระบบ API (Application Programming Interface)

เพื่อให้ผู้ใช้มีความสะดวกในการเข้าถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งหมดในแพลตฟอร์มเดียว (Seamless User Experience) และทําให้ธุรกิจในท้องถิ่นได้รับลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น 

รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มให้นักท่องเที่ยวได้รับประโยชน์จากชุมชนการท่องเที่ยวทั่วโลก เช่น นักท่องเที่ยวที่เขียนรีวิวดี ๆ จะได้รับคะแนนที่นําไปใช้เพื่อแลกบริการการท่องเที่ยวสําหรับการเดินทางครั้งต่อไป

ส่วนผู้ให้บริการที่มีคุณภาพก็จะได้คะแนนและโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ระบบการจองและการชําระเงินผ่านบริการตุ๊กตุ๊กพาส เป็นระบบ Decentralized มีความถูกต้องรวดเร็วกว่าระบบออนไลน์ (OTA) แบบเดิม อีกทั้งยังรองรับการชําระเงินดิจิทัล Cryptocurrency และในรูปแบบเหรียญ Token สกุลต่าง ๆ

สำหรับกลยุทธ์หลักของตุ๊กตุ๊กพาส คือ การโฆษณา ณ จุดขาย 100,000 แห่ง ในเมืองท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ 100 เมืองทั่วโลก ด้วยการวางตู้ Blockchain Kiosk ในบริเวณล็อบบี้ของโรงแรมชั้นนํา โดยจะเริ่มจากการให้บริการใน 4 ประเทศหลัก คือ ไทย, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ก่อนในปีนี้ และครอบคลุม 100 ประเทศภายในปี 2022

การให้บริการ 4 ประเทศในปีนี้ ถือว่าครอบคลุมนักท่องเที่ยวกว่า 109.92 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 10% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว และคาดว่าเมื่อขยายครอบ 100 ประเทศ ในปี 2022 จะช่วยให้เข้าถึงนักเดินทางอีกไม่ต่ำกว่า 445.08 ล้านคนทั่วโลก หรือราว 45% ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ทั้งนี้ รูปแบบของการให้บริการของตุ๊กตุ๊กพาสร่วมกับพันธมิตรที่วางไว้ จะมีทั้งการทำแพกเกจท่องเที่ยว, มัคคุเทศก์, โรงแรมที่พัก, การเดินทาง, ร้านอาหาร, บริการทางด้านสุขภาพ, บริการเลือกซื้อสินค้า, ที่ปรึกษาทางธุรกิจ, การให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับนักท่องเที่ยว, ประกันการเดินทาง, กิจกรรมพิเศษ, การจองตั๋วคอนเสิร์ต, การศึกษา, ให้บริการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และการแลกเงิน.

สนับสนุนข่าวโดย : mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000016443